ทั้งนี้จากอานิสงส์การเติบโตของพลังงานหมุนเวียนและการใช้รถยนต์ไฟฟ้าที่เพิ่มมากขึ้น
หลังจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกที่เกิดจากการระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19 ในปี 2020 เป็นที่น่าสังเกตว่า การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นหนึ่งในก๊าซเรือนกระจก ปัจจัยหลักที่ก่อให้เกิดภาวะโลกร้อน ได้ปรับเพิ่มขึ้นอย่างมากในปีที่ผ่านมา (2021)
สำนักงานพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) ที่ตั้งอยู่ในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เปิดเผยว่า ในปี 2021 มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการเผาไหม้ของเชื้อเพลิง น้ำมัน และถ่านหิน ในปริมาณราว 33.5 พันล้านตัน และต่อมาในปีนี้ (2022) ก็เชื่อว่าตัวเลขดังกล่าวมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเกือบ 1% หรือคิดเป็นปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ราว 300 ล้านเมตริกตัน
IEA ให้ความเห็นว่า ตัวเลขการเพิ่มขึ้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในปีนี้ เป็นผลมาจากการผลิตไฟฟ้าและภาคการบิน เนื่องจากการเดินทางโดยเครื่องบินกำลังฟื้นตัว อันเป็นผลมาจากการระบาดของโควิดที่ลดลง
ในขณะที่ก๊าซคาร์บอนจากการใช้งาน “ถ่านหิน” เพิ่มขึ้น 2% เพราะประเทศที่เคยนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียก่อนหน้านี้ จำเป็นต้องหันไปพึ่งพาแหล่งพลังงานอื่น ขณะที่การขยายตัวของพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมก็ยังคงเดินหน้าต่อไป และเพิ่มขึ้นเป็นประวัติการณ์ในปี 2022
ขณะเดียวกัน ปริมาณการใช้น้ำมันก็ปรับเพิ่มขึ้นเช่นกัน จากการที่ผู้คนเริ่มออกเดินทางไปทำงานและมีการเดินทางทางอากาศเพิ่มขึ้น (หลังจากที่เดิมคนจำนวนมากต้องทำงานจากบ้าน หรือ Work from Home ทำให้ไม่ค่อยได้เดินทางไปไหน) เนื่องจากมีการผ่อนคลายข้อจำกัดที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและควบคุมโรคโควิด-19 ลงแล้ว
IEA ให้ข้อมูลเพิ่มว่า การเพิ่มขึ้นของการปล่อยก๊าซคาร์บอนทั่วโลกในปีนี้ น่าจะมีปริมาณที่สูงกว่าที่เคยมีการประเมินไว้เป็นอย่างมาก ในระดับกว่า 3 เท่าไปแตะระดับ 1,000 ล้านตัน ถ้าไม่ใช่เป็นเพราะมีการใช้เทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียนและรถขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าอย่างกว้างขวางทั่วโลก
ทั้งนี้ โลกเราต้องเร่งลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และก๊าซเรือนกระจกอื่นๆ ให้ลดลงมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ในช่วงทศวรรษที่จะมาถึง เพื่อควบคุมอุณหภูมิโลกไม่ให้ปรับขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส (2.7 ฟาเรนไฮต์) ตามเป้าหมายของความตกลงปารีสปี 2015
นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่า ในเวลานี้ การจะควบคุมการปรับขึ้นของอุณหภูมิโลกให้อยู่ในเป้าหมายข้างต้นนั้น เป็นเรื่องที่ทำได้ยากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะปัจจุบัน อุณหภูมิของโลกได้ปรับขึ้นมาแล้วประมาณ 1.2 องศาเซลเซียส (2.2 องศาฟาเรนไฮต์) เมื่อเทียบกับช่วงก่อนยุคอุตสาหกรรม ทำให้เหลือช่องว่างความต่างของอุณหภูมิเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
เมื่อกลางเดือนตุลาคม รายงานที่ตีพิมพ์ โดยสถาบัน World Resources Institute หรือ WRI ที่ทำหน้าที่เป็นคลังสมองด้านสิ่งแวดล้อม พบว่า แผนงานของประเทศต่าง ๆ ในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนนั้นจะส่งผลให้มีการลดลงมาเพียง 7% ในปี 2030 เมื่อเทียบกับระดับที่บันทึกได้ในปี 2019 โดยสถาบัน WRI ชี้ว่า ประเทศต่าง ๆ นั้นต้องปรับลดการปล่อยก๊าซในช่วงเวลาดังกล่าว ให้ได้มากถึง 43% เพื่อที่จะบรรลุเป้าหมายความตกลงปารีส
ด้วยเหตุนี้ “การยกระดับความพยายาม” ของนานาประเทศในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จึงเป็นหนึ่งใน “พันธกิจ” สำคัญจากการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสมัยที่ 27 หรือ COP 27 ที่เพิ่งปิดฉากลงเมื่อเร็ว ๆ นี้ ที่ประเทศอียิปต์