บ้านแบบไหนติด "โซลาร์เซลล์" คุ้มค่า ราคากี่บาท เช็คเลย

06 ก.พ. 2566 | 03:54 น.
อัปเดตล่าสุด :06 ก.พ. 2566 | 03:55 น.

บ้านแบบไหนติด "โซลาร์เซลล์" คุ้มค่า ราคากี่บาท เช็คเลยที่นี่มีคำตอบ ฐานเศรษฐกิจรวบรวมข้อมูลที่สำคัญไว้ให้แล้ว

"โซลาร์เซลล์" ทางเลือกในการประหยัดต้นทุนค่าไฟฟ้าที่ปัจจุบันกำลังได้รับความสนใจเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง

หลังจากที่ค่าไฟของไทยที่ประชาชนต้องจ่ายราคาปรับตัวสูงขึ้นอย่างมาก โดยปัจจุบันภาคประชาชนต้องจ่ายถึง 4.72 บาทต่อหน่วย  แม้ว่าจะมีมาตราการตรึงราคาไว้แล้วก็ตามในวงด ม.ค.-เม.ย.66

ขณะที่ในงวดถัดไป พ.ค.-ส.ค. ยังต้องลุ้นว่าจะสามารถตรึงราคาไว้อีกได้หรือไม่ หรืออาจจะปรับลดลง หรือเพิ่มขึ้นก้ได้ ตามแต่สถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น

ดังนั้น บ้านอยู่อาศัยในยุคนี้จึงมีความคิดที่จะติดตั้ง "โซลาร์เซลล์" เพื่อผลิตไฟใช้เอง แต่ประเด็นสำคัญที่ยังเป็นคำถามคือ ความคุ้มค่าในการลงทุน

ทั้งนี้ จากการตรวจสอบเพื่อหาข้อมูลของ "ฐานเศรษฐกิจ" พบว่า 

โซลาร์เซลล์จะผลิตไฟฟ้าได้เฉพาะช่วงเวลากลางวันที่มีแสงแดด ดังนั้น การใช้ไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ที่คุ้มและลงทุนน้อยที่สุด คือ เมื่อผลิตไฟฟ้าแล้วนำมาใช้ให้หมดในช่วงเวลากลางวัน เพราะไม่ต้องเปลืองค่าแบตเตอรี่สำหรับเก็บไฟฟ้าซึ่งมีราคาสูง และไม่ต้องขายไฟคืนการไฟฟ้าซึ่งขายได้ในราคาที่ไม่ได้สูงมากเท่ากับราคาที่ต้องซื้อไฟฟ้ามาใช้ 
 

โซลาร์เซลล์เหมาะกับบ้านแบบไหน

  • บ้านที่ใช้ไฟฟ้ามากในช่วงกลางวัน 
  • เปิดเครื่องปรับอากาศเป็นประจำ 

บ้านแบบไหนติดโซลาร์เซลล์แล้วคุ้ม

  • ใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าที่ใช้ไฟมากหลายอย่าง เช่น บ้านที่มีผู้อยู่อาศัยตลอดทั้งวัน บ้านที่มีผู้ป่วยติดเตียง โฮมออฟฟิศ ออฟฟิศ ร้านค้า
  • บ้านที่มีค่าไฟ 2,000 – 3,000 บาทขึ้นไป ซึ่งเป็นอัตราการใช้ไฟที่พอจะคุ้มค่ากับกำลังการผลิตไฟฟ้าขั้นต่ำของ "โซลาร์เซลล์" เช่น เริ่มต้นที่ 1.8-3 กิโลวัตต์ (ขึ้นอยู่กับแพ็กเกจของแต่ละบริษัท) โดยโซลาร์เซลล์ 1.8 กิโลวัตต์ จะประหยัดค่าไฟสูงสุดได้ประมาณ 900-1,000 บาท/เดือน ซึ่งบริษัทผู้ติดตั้งจะประเมินความคุ้มค่าของแต่ละบ้านเป็นกรณีไป
  • มีพื้นที่ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์เพียงพอและเหมาะสม

งบประมาณในการติดตั้ง คืนทุนในกี่ปี

  • สำหรับกำลังผลิตที่ 2-3 กิโลวัตต์ (สำหรับไฟ  1 เฟส) จะผลิตไฟฟ้าได้ประมาณ 200-400 หน่วย/เดือน หรือคำนวณก็คือ บ้านที่มีการใช้เครื่องปรับอากาศประมาณ 2 เครื่อง มีราคาประมาณ 170,000 – 200,000 บาท แต่ก็ต้องขึ้นอยู่กับสเปคอุปกรณ์และการบริการที่ต้องนำมาเปรียบเทียบกัน 
  • บ้านอยู่อาศัยแบบครอบครัว 4-6 คน หรือเสียค่าไฟประมาณ 3,000-7,000 บาทต่อเดือน แนะนำให้ติดตั้ง 5 กิโลวัตต์ ซึ่งจะลดค่าไฟได้ประมาณ 2,000 – 3,000 บาทต่อเดือน มีราคาประมาณ 200,000–300,000 บาท ขึ้นอยู่กับแพ็กเกจของแต่ละบริษัท โดยอาจจะมีค่าใช้จ่ายอื่นเพิ่มเติม เช่น ค่าปรับปรุงโครงสร้างหากโครงสร้างบ้านไม่สามารถติดตั้งได้ ค่าธรรมเนียมการขออนุญาติ เป็นต้น
  • ส่วนการคืนทุนนั้น ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยที่เข้ามาเกี่ยวข้อง ทั้งกำลังการผลิตที่ติดตั้ง การใช้ไฟของแต่ละบ้าน สภาพอากาศ ซึ่งโดยทั่วไปจะมีคืนทุนเฉลี่ยที่ 6-10 ปี หลังจากคืนทุนแล้วหมายความว่า ผู้ที่ติดตั้งจะได้ใช้ไฟส่วนนั้นได้ฟรีไปอีกอย่างน้อยก็ถึงอายุรับประกัน 25 ปี
  • อย่างไรก็ตาม จะมีค่าเปลี่ยนอุปกรณ์ที่เสื่อมตามอายุซึ่งอยู่นอกเหนือการรับประกัน และค่าบริการตรวจระบบและล้างแผงตามแต่แพคเก็จที่ซื้อเพิ่ม