นางรสยา เธียรวรรณ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่พัฒนาธุรกิจ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC เปิดเผยว่า GPSC จะดำเนินการร่วมกับบริษัทแม่ คือ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT และบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. (PTTEP)
ทั้งนี้ เพื่อร่วมยื่นประมูลแข่งขันโครงการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติ (Gas to Power) ในประเทศเวียดนาม ขนาดกำลังการผลิตกว่า 1 กิกะวัตต์ (GW) หรือกว่า 1,000 เมกะวัตต์ (MW) เพื่อจ่ายไฟฟ้ารองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจของเวียดนาม
ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างเตรียมความพร้อมเพื่อเข้าร่วมประมูล 1 โครงการ โดยรอความชัดเจนแผนพัฒนาพลังงานกำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศเวียดนามด้วย หากชนะการประมูลคาดว่าจะต้องใช้เงินลงทุนรวมหลักหลายหมื่นล้านบาท เนื่องจากเป็นโครงการขนาดใหญ่ เป็นการก่อสร้างใหม่ ต้องมีการสร้างคลังรับ-จ่าย LNG ป้อนเข้าสู่โรงไฟฟ้าก๊าซ
ส่วนของการลงทุนผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในเวียดนามบริษัทก็ยังสนใจ จากก่อนหน้านี้เคยทำการศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุน และปัจจุบันก็มีผู้มาเสนอขายโครงการหลายราย แต่ยังไม่ตัดสินใจเข้าลงทุน เนื่องจากต้องพิจารณาหลายปัจจัย โดยเฉพาะความชัดเจนจากแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของเวียดนาม
นอกจากนี้ บริษัทฯ สนใจที่จะเข้าไปลงทุนในสหรัฐฯ โดยในเบื้องต้นยังไม่ใช่การลงทุนธุรกิจไฟฟ้า ขณะเดียวกัน บริษัทก็มีการศึกษาเทคโนโลยีไฮโดรเจนหลายพื้นที่ในสหรัฐฯ ด้วย แต่จะเป็นรูปแบบกรีนไฮโดรเจน เพื่อหวังนำไปสู่การลดต้นทุนให้พลังงานหมุนเวียน
เช่นเดียวกับไต้หวันที่มีโอกาสเพิ่มกำลังการผลิตไปร่วมกับพันธมิตรเดิมเพื่อขยายการเติบโตร่วมกัน หลังจากพันธมิตรชนะประมูลหลายโครงการ ขณะนี้อยู่ระหว่างเจรจารายละเอียดและมีโอกาสเข้าลงทุนกับพันธมิตรใหม่ด้วย
อย่างไรก็ดี ในปีนี้บริษัทจะมุ่งเน้นขยายการลงทุนธุรกิจพลังงานหมุนเวียนในประเทศไทย ตามโจทย์ทของ ปตท.ที่ต้องการสนับสนุนให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2608
ซึ่งกลุ่ม ปตท.ได้ตั้งเป้าหมายจะมีกำลังการผลิตไฟฟ้ารวม 20 กิกะวัตต์ (GW) ภายในปี 2573 แบ่งเป็น พลังงานที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล (Conventional) อยู่ที่ 8 GW จากปัจจุบัน อยู่ที่ 5 GW และพลังงานหมุนเวียน (Renewable) อยู่ที่ 12 GW จากปัจจุบันอยู่ที่ 2 GW
โดยการเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าประเภท Conventional จะมุ่งเน้นไปที่เชื้อเพลิงก๊าซฯ เช่น โครงการ Gas to Power ที่มีแผนจะเข้าลงทุนในเวียดนาม ไต้หวัน และเมียนมา โดยตั้งเป้าหมายจะเพิ่มกำลังการผลิตอีกราว 5 GW เพื่อมาทดแทนกำลังการผลิตเดิมที่จะทยอยหมดอายุโรงไฟฟ้าลงประมาณ 2-3 GW
ส่วนการเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าประเภทพลังงานหมุนเวียน จะเป็นการขยายการลงทุนทั้งในไทย และต่างประเทศ โดยในส่วนของประเทศไทย ซึ่งปัจจุบัน บริษัท ยังรอฟังผลการเข้าร่วมประมูลภายใต้โครงการจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน แบบ FiT พ.ศ. 2565-2573 จำนวน 5,203 เมกะวัตต์
โดยบริษัทได้ยื่นเสนอไป 9 โครงการ เป็นพลังงานลม 2 โครงการ และโซลาร์ 7 โครงการ คาดว่าภาครัฐจะประกาศผลการยื่นอุทธรณ์และผู้ได้รับสิทธิในเร็วๆ นี้ ขณะเดียวกัน บริษัทก็เล็งโอกาสที่จะเข้าร่วมประมูลโครงการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์ผสมกับแบตเตอรี่ หากรัฐเปิดให้ยื่นเสนอโครงการในล็อตใหม่ด้วย