สั่งลุย!นิคมฯBCG 6 พันล้าน ดูดลงทุน ระลอกใหม่

13 มี.ค. 2566 | 03:34 น.

กระแสรักษ์โลก เป็นทิศทางของประเทศ ไทยและของโลก ตอบโจทย์ความยั่งยืน ก่อให้เกิดความร่วมมือและความตกลงเพื่อลดภาวะเรือนกระจกลดการปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ หรือ Net Zero

สำหรับประเทศไทยได้ประกาศให้โมเดลเศรษฐกิจ BCG หรือ โมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ให้เป็นวาระแห่งชาติ ที่ผสมผสานการพัฒนา 3 ด้านหลัก คือ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) เพื่อให้เกิดการพัฒนาประเทศในด้านสังคม เศรษฐกิจ ควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นรูปธรรม ทำให้เป็นโมเดลเศรษฐกิจที่ได้รับความสนใจและเป็นทิศทางของประเทศไทยในเวลานี้

ล่าสุดการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กำลังเตรียมดำเนินการก่อตั้งนิคมอุตสาหกรรม BCG ในพื้นที่ภาคเหนือ ซึ่ง “ฐานเศรษฐกิจ” มีโอกาสสัมภาษณ์ “นายวีริศ อัมระปาล” ผู้ว่าการกนอ. ถึงความคืบหน้า

เร่งหาพื้นที่ “ลำพูน-ระยอง”

นายวีริศ เผยว่า ขณะนี้ กนอ.อยู่ระหว่างการจัดหาพื้นที่เพื่อจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรม BCG ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ใน 2 พื้นที่ ประกอบด้วย จังหวัดลำพูน และจังหวัดระยอง รวมพื้นที่ประมาณ 2,400 ไร่ โดยจะมีมูลค่าการลงทุนรวมกว่า 6,000 ล้านบาท คาดจะสามารถจัดหาพื้นที่ได้ประมาณไตรมาส 3 ของปีนี้
 แบ่งเป็นนิคมอุตสาหกรรมในจังหวัดลำพูน 1,000 ไร่ มีมูลค่าการลงทุนประมาณ 2,100 ล้านบาท มุ่งเน้นอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องมือวิทยาศาสตร์

ส่วนที่จังหวัดระยอง พื้นที่ประมาณ 1,400 ไร่ มูลค่าการลงทุนประมาณ 4,000 ล้านบาท โดยจะมุ่งเน้นอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ การบิน โลจิสติกส์ เชื้อเพลิงชีวภาพ และเคมีชีวภาพ

“เวลานี้ กนอ.อยู่ระหว่างจัดหาพื้นที่เพื่อจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมบีซีจีใหม่ 2 แห่ง เป็นนิคมฯ ที่ กนอ.จัดตั้งเอง ที่ภาคเหนือ โดยจะเริ่มดูในจังหวัดลำพูนก่อนเป็นอันดับแรก หากไม่มีจริงถึงจะไปหาในพื้นที่อื่นในแถบระเบียงเศรษฐกิจภาคเหนือ เช่น เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง”

อย่างไรก็ดี เมื่อหาพื้นที่ได้แล้วโดยส่วนใหญ่จะต้องใช้เวลาในการจัดตั้งนิคมฯประมาณ 2 ปี หรือน่าจะแล้วเสร็จประมาณปี 2569 ทั้งนี้เชื่อว่าจะได้รับความสนใจจากนักลงทุน โดยเฉพาะนักลงทุนญี่ปุ่นที่ชอบจังหวัดลำพูน เพราะมีสภาพอากาศที่ใกล้เคียงกับประเทศญี่ปุ่น และต่อไป กนอ.จะเน้นพัฒนานิคมฯ เป็นนิคมอุตสาหกรรมอัจฉริยะ เพื่อดึงดูดการลงทุนที่เป็นอุตสาหกรรมสมัยใหม่ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

ประเภทอุตสาหกรรมในนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ นิคมฯไทยเด่น ดึงต่างชาติ

นายวีริศ กล่าวอีกว่า นิคมอุตสาหกรรมของไทยมีจุดเด่นที่สามารถดึงดูดนักลงทุนต่างชาติได้ เช่น มีโครงสร้างพื้นฐานที่มีความพร้อม ทั้งเรื่องการบริหารจัดการนํ้า ไฟฟ้า การดูแลสิ่งแวดล้อม การจัดการของเสีย กากอุตสาหกรรม ทั้งนี้อุตสาหกรรมที่มาลงทุนในไทยเมื่อเทียบกับคู่แข่งสำคัญ เช่นเวียดนามส่วนใหญ่จะเน้นอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเป็นจำนวนมาก ขณะที่ไทยจะเน้นอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยี หรืออุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ ๆ มากขึ้น
 

สำหรับพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ จ.ลำพูน ที่เปิดดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2528 มีพื้นที่ 1,788 ไร่ มูลค่าการก่อสร้างรวม 358 ล้านบาท ปัจจุบันมีผู้ประกอบการมาใช้พื้นที่เต็ม 100% โดยนักลงทุนอันดับ 1 คือ ญี่ปุ่น รองลงมาเป็นไทย สวิตเซอร์แลนด์ เกาหลีใต้ สหรัฐอเมริกา เนเธอร์แลนด์ สิงคโปร์ ไต้หวัน ฝรั่งเศส และอินเดีย มีอุตสาหกรรมดาวเด่น เช่น อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องมือวิทยาศาสตร์ ปัจจุบันกำลังมุ่งสู่การเป็นอุตสาหกรรม อีโค-เวิลด์ คลาส (Eco-World Class) หรือมาตรฐานการจัดการสิ่งแวดล้อมระดับโลก ซึ่งเป็นระดับสูงสุดของการเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ

ลุยติดระบบเคลื่อนย้ายกากอุตฯ

นอกจากนี้ นิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ (ลำพูน) ยังพัฒนาระบบการจัดการขยะอุตสาหกรรม โดยใช้วิธีการติดตามการเคลื่อนย้ายกากอุตสาหกรรมอันตรายแบบเรียลไทม์ ติดระบบอาร์เอฟไอดี แทค (RFID TAG) และระบบจีพีเอส บนรถบรรทุกขนของเสียอันตราย เพื่อนำไปยังโรงกำจัดขยะของเสียอันตราย โดยระหว่างเส้นทางเดินรถ ระบบจะติดตามการเคลื่อนย้ายขยะหรือกากอุตสาหกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยกนอ.ตั้งเป้าให้มีการขยายผลระบบติดตามการเคลื่อนย้ายกากอุตสาหกรรมอันตรายในลักษณะดังกล่าวให้ครบใน 14 นิคมอุตสาหกรรมภายในปี 2566

นิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ (ลำพูน) ยังตอบโจทย์นโยบายระเบียงเศรษฐกิจภาคเหนือของรัฐบาล โดยเฉพาะการเป็นศูนย์กลางการผลิตอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องมือวิทยาศาสตร์ในภาคเหนือ รวมถึงยังให้ความสำคัญต่อการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ และแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม โดยการส่งเสริมให้โรงเรียน-ชุมชนในพื้นที่ ก้าวสู่โรงเรียน-ชุมชนเชิงนิเวศ ผ่าน Eco-School

อีกทั้งยังมีการนำพลาสติกเหลือใช้มาพัฒนาเป็นอิฐบล็อกรีไซเคิล รวมถึงส่งเสริมการพัฒนาอาชีพให้กับชุมชนรอบนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ เช่น การนำเศษผ้าที่เหลือจากภาคอุตสาหกรรมมาต่อยอดสร้างผลิตภัณฑ์เพื่อสร้างรายได้เพิ่มให้กับชุมชน และการจัดโครงการประปาหมู่บ้านพลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อลดการใช้พลังงานไฟฟ้า ตรงกับเป้าหมายของรัฐบาลในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 20-25% ในปี 2573