"กฟผ." ผนึก 5 บ.ยักษ์ญี่ปุ่นพัฒนาเทคโนโลยีลดคาร์บอนมุ่ง "Net Zero"

04 มี.ค. 2566 | 07:51 น.
อัปเดตล่าสุด :04 มี.ค. 2566 | 07:51 น.

"กฟผ." ผนึก 5 บ.ยักษ์ญี่ปุ่นพัฒนาเทคโนโลยีลดคาร์บอนมุ่ง "Net Zero" สร้างความมั่นคงทางพลังงานควบคู่สิ่งแวดล้อมที่ดี หนุนความยั่งยืนด้านสภาพภูมิอากาศโลก

นายนิทัศน์ วรพนพิพัฒน์ รองผู้ว่าการเชื้อเพลิง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า กฟผ. ได้ดำเนินการ่วมกับบริษัท มิตซุย โอ.เอส.เค ไลน์ จำกัด ,บริษัท ชิโยดะ คอร์ปอเรชั่น ,บริษัท มิตซูบิชิ (ประเทศไทย) จำกัด เพื่อศึกษาและพัฒนาโครงการไฮโดรเจนและแอมโมเนียสะอาดครบวงจร

รวมถึงยังร่วมมือกับบริษัท ทีทีซีแอล จำกัด (มหาชน) เพื่อศึกษาและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพ 

และร่วมมือกับบริษัท IHI Corporation เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีระบบแบตเตอรี่กักเก็บพลังงาน (Battery Energy Storage System : BESS)

ทั้งนี้ กฟผ.ให้ความสำคัญกับเทรนด์พลังงานโลกที่เปลี่ยนไปสู่พลังงานสะอาด จึงได้แสวงหาเชื้อเพลิงทางเลือกใหม่สำหรับใช้ในการผลิตไฟฟ้าที่ลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ โดยไฮโดรเจน และแอมโมเนีย เป็นเชื้อเพลิงแห่งอนาคตที่ไม่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ระหว่างเผาไหม้ 

ขณะที่เชื้อเพลิงชีวภาพเป็นพลังงานหมุนเวียนที่สะอาดเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และ BESS เป็นเทคโนโลยีที่เข้ามาช่วยบริหารจัดการกักเก็บพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนให้มีเสถียรภาพมากยิ่งขึ้น

กฟผ. ผนึก 5 บ.ยักษ์ญี่ปุ่นพัฒนาเทคโนโลยีลดคาร์บอนมุ่ง Net Zero

สำหรับความร่วมมือดังกล่าวทั้งหมดจะช่วยให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางเทคโนโลยีจากบริษัทชั้นนำในระดับสากลนำไปสู่การขับเคลื่อนเทคโนโลยีพลังงานสะอาด เพิ่มโอกาสทางธุรกิจ การนำมาใช้ในการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย ยังช่วยสร้างความมั่นคงด้านพลังงานควบคู่กับสิ่งแวดล้อมที่ดี 

และความยั่งยืนด้านสภาพภูมิอากาศโลกในอนาคต นับเป็นก้าวสำคัญของการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานของประเทศไทย

นายนิทัศน์ กล่าวอีกว่า กฟผ. ตั้งเป้าหมายสนองตอบนโยบายภาครัฐในการร่วมนำประเทศมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2593 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิ (Net Zero) เป็นศูนย์ภายในปี 2608 โดยขับเคลื่อนภายใต้กลยุทธ์ ‘Triple S’ ได้แก่ 

  • Sources Transformation เพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ปรับปรุงโรงไฟฟ้า และระบบไฟฟ้าด้วยเทคโนโลยีใหม่รองรับการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน และนำ BESS มาใช้งาน
  • Sink Co-creation เพิ่มแหล่งดูดซับกักเก็บคาร์บอน เดินหน้าโครงการปลูกป่าล้านไร่ รวมถึงศึกษาการนำเทคโนโลยีใหม่มาใช้ในการกักเก็บคาร์บอน 
  • Support Measures Mechanism ส่งเสริมการมีส่วนร่วมลดก๊าซเรือนกระจกในภาคประชาชน ผ่านโครงการฉลากประหยัดไฟฟ้าเบอร์ 5 ส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าแบบครบวงจร เป็นต้น