นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยว่า จากการใช้พลังงานของประเทศในปี 2565 ที่เพิ่มขึ้น 0.5 % ส่งผลให้เกิดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) อยู่ที่ระดับ 247.7 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย 1.5 % เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยภาคการขนส่ง ซึ่งมีสัดส่วนการปล่อยก๊าซ CO2 ที่ 32 % มีการปล่อยก๊าซ CO2 เพิ่มขึ้นมากที่สุดอยู่ที่ 14.9 % เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยเป็นการปล่อยก๊าซ CO2 จากการใช้นํ้ามันสำเร็จรูปและก๊าซธรรมชาติที่เพิ่มขึ้น 15.1% และ 8.8% ตามลำดับ
การปล่อยก๊าซ CO2 ที่เพิ่มขึ้นในภาคขนส่งนี้ เป็นผลมาจากเศรษฐกิจของประเทศที่กลับเข้าสู่สภาวะปกติ รวมถึงการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 คลี่คลายลง เห็นได้จากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยสะสมในปี 2565 ที่เพิ่มขึ้นถึง 1,574.2 % เมื่อเทียบกับปีก่อน จึงเป็นสาเหตุให้การปล่อยก๊าซ CO2 จากการใช้นํ้ามันสำเร็จรูปในภาคขนส่งเพิ่มขึ้น นอกจากนี้จากราคาขายปลีกเฉลี่ยของนํ้ามันกลุ่มเบนซินในปี 2565 ปรับตัวเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 37.46 บาทต่อลิตร ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีก่อน จึงทำให้ประชาชนเปลี่ยนมาใช้ก๊าซธรรมชาติ(NGV) ทดแทนและทำให้เกิดการปล่อยก๊าซ CO2 จากการใช้ก๊าซธรรมชาติในภาคขนส่งเพิ่มขึ้นตามไปด้วย
ขณะที่ภาคเศรษฐกิจอื่น ๆ ซึ่งมีสัดส่วนการปล่อยก๊าซ CO2 ที่ 5% มีการปล่อยก๊าซ CO2 เพิ่มขึ้น 8.4 % ซึ่งการปล่อยก๊าซ CO2 ที่เพิ่มขึ้นนี้ สอดคล้องกับการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะในภาคการท่องเที่ยวและบริการ ซึ่งจากข้อมูลของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา พบว่า จำนวนผู้เยี่ยมเยือนสะสมทั้งประเทศ (ผู้ที่เดินทางเพื่อการท่องเที่ยว และผู้ที่เดินทางเพื่อเยี่ยมเพื่อนหรือญาติทั้งที่พักค้างคืนและไม่พักค้างคืนทั้งคนไทยและชาวต่างชาติ) เพิ่มขึ้นถึง 207.9% เมื่อเทียบกับปีก่อน
โดยในปี 2565 มีจำนวนผู้เยี่ยมเยือนสะสมอยู่ที่ 224.8 ล้านคน ในขณะที่ปี 2564 จำนวนผู้เยี่ยมเยือนสะสมอยู่ที่ 73.0 ล้านคน นอกจากนี้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยสะสม ในปี 2565 อยู่ที่ 7,163,465 คน เพิ่มขึ้น 1,574.2 % เมื่อเทียบกับปีก่อนซึ่งอยู่ที่ 427,869 คน
สำหรับภาคการผลิตไฟฟ้า ที่มีสัดส่วนการปล่อยก๊าซ CO2 สูงสุด อยู่ที่ 36 % มีการปล่อยก๊าซ CO2 ลดลง 3.2 % เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยมาจากการปล่อยก๊าซ CO2 จากการใช้ก๊าซธรรมชาติที่ลดลง 6.4 % ในขณะที่การปล่อย CO2 จากการใช้ถ่านหิน/ลิกไนต์ และนํ้ามันสำเร็จรูป เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อน 1.4% และ 21.1% ตามลำดับ ซึ่งสอดคล้องกับราคาก๊าซธรรมชาติที่ปรับตัวสูงขึ้นถึง 90.8 % เมื่อเทียบกับปีก่อน จากผลกระทบของสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศยูเครนและรัสเซีย ทำให้ภาคการผลิตไฟฟ้าในประเทศจำเป็นต้องปรับลดสัดส่วนการใช้ก๊าซธรรมชาติลง เพื่อรักษาระดับราคาต้นทุนในการผลิต และราคาไฟฟ้าไม่ให้ส่งผลกระทบต่อประชาชน
นายวัฒนพงษ์ กล่าวอีกว่า ส่วนภาคอุตสาหกรรม ในปี 2565 มีการปล่อยก๊าซ CO2 รวมทั้งสิ้น 66.5 ล้านตัน CO2 ลดลงจากปีก่อน 6.7 % โดยเป็นการลดลงจากการปล่อย CO2 จากการใช้ถ่านหิน/ลิกไนต์ (สัดส่วนการปล่อย CO2 อยู่ที่ 51 % ของภาคอุตสาหกรรม) ถึง 17.7 % เมื่อเทียบกับปีก่อน ซึ่งสอดคล้องกับปริมาณการใช้ถ่านหิน/ลิกไนต์ในภาคอุตสาหกรรมของปี 2565 ที่ลดลง 17.8 % โดยในปี 2565 และ 2564 มีการใช้ถ่านหิน/ลิกไนต์ในภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ระดับ 8,402 และ 10,223 พันตันเทียบเท่านํ้ามันดิบตามลำดับ
ปัจจัยดังกล่าวเป็นผลมาจากราคาพลังงานและต้นทุนวัตถุดิบในการผลิตเพิ่มสูงขึ้นทำให้ภาคการผลิตไฟฟ้าและภาคอุตสาหกรรมจำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยนสัดส่วนการใช้วัตถุดิบ เพื่อรักษาระดับต้นทุนการผลิตสินค้า อีกทั้งจากการที่ราคาสินค้าปรับตัวสูงขึ้นอันเนื่องมาจากอัตราเงินเฟ้อที่สูงก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลให้ความต้องการซื้อสินค้าลดลงและทำให้การผลิตสินค้าปรับตัวลดลงตามไปด้วย จึงทำให้การปล่อยก๊าซ CO2 ในภาคการผลิตไฟฟ้าและภาคอุตสาหกรรมในปี 2565 ลดลง
สำหรับการปล่อยก๊าซ CO2 จากการใช้พลังงานแยกรายชนิดเชื้อเพลิง ในปี 2565 พบว่า การปล่อยก๊าซ CO2 จากนํ้ามันสำเร็จรูปมีสัดส่วนการปล่อยสูงที่สุดอยู่ที่ 42% รองลงมาเป็นก๊าซธรรมชาติ และถ่านหิน/ลิกไนต์ มีสัดส่วน 30 % และ 28 % ตามลำดับ ทั้งนี้ การปล่อยก๊าซ CO2 จากการใช้นํ้ามันสำเร็จรูปในปี 2565 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 14.2 % ในขณะที่การปล่อยก๊าซ CO2 จากการใช้ถ่านหิน/ลิกไนต์และก๊าซธรรมชาติ ลดลง 9.0% และ 3.1% ตามลำดับ ซึ่งสอดคล้องกับปริมาณการใช้ถ่านหิน/ลิกไนต์ และก๊าซธรรมชาติของประเทศไทยในปี 2565 ที่ลดลง เมื่อเทียบกับปีก่อน
ทั้งนี้ หากเปรียบเทียบการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ต่อการใช้พลังงานของประเทศไทยเทียบกับต่างประเทศ จากข้อมูลของ International Energy Agency (IEA) ประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่า ในปี 2563 ประเทศไทยมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต่อการใช้พลังงานเฉลี่ย อยู่ที่ 2.03 พันตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อการใช้พลังงาน 1 KTOE ซึ่งตํ่ากว่าค่าเฉลี่ยของโลก ภูมิภาคเอเชีย สหรัฐอเมริกา และจีน ซึ่งอยู่ที่ 2.29 2.28 2.11 และ 2.90 พันตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อการใช้พลังงาน 1 KTOE ตามลำดับ
การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ตํ่ากว่าค่าเฉลี่ยของโลก เนื่องจากประเทศไทยมีนโยบายด้านพลังงานที่คำนิงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการสนับสนุนการใช้พลังงานหมุนเวียนในรูปแบบต่างๆ ที่เป็นพลังงานสะอาดเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จึงทำให้มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ตํ่ากว่าค่าเฉลี่ยของโลก ซึ่งจะช่วยทำให้ประเทศไทยสามารถบรรลุเป้าหมายการความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี ค.ศ. 2050 และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ได้ในปี ค.ศ.2065