สถานการณ์ "คาร์บอนเครดิต" (Carbon Credit) ไม่ใช่เรื่องใหม่ของประเทศไทยอีกต่อไป หลังจากหน่วยงานต่าง ๆ พยายามส่งเสริมและสนับสนุน โดยเฉพาะ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ TGO ได้รายงานสถิติโครงการลดก๊าซเรือนกระจก ภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (T-VER) ที่ได้รับการรับรองโครงการและขึ้นทะเบียนโครงการ รวมถึง กิจกรรมชดเชยคาร์บอนที่รับรองโดย TGO
เช่นเดียวกับสถานการณ์สภาพตลาดการซื้อขายคาร์บอนเครดิตในปัจจุบันมีอัตราการเติบโต (3 ปีย้อนหลัง) เฉลี่ย 57.73% ปริมาณการซื้อขายในปีงบประมาณ 2566 จำนวน 106,368 tCO2eq (tCO2eq คือหน่วยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของเชื้อเพลิงแต่ละประเภทในหน่วยตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า) โดยมีราคาเฉลี่ย 37.66 บาทต่อ tCO2eq
รับรองคาร์บอนเครดิตร้อยโครงการ
ปัจจุบัน (28 กุมภาพันธ์ 2566) TGO มีการรับรองคาร์บอนเครดิตจากโครงการ T-VER แล้ว จำนวน 144 โครงการ คิดเป็นปริมาณคาร์บอนเครดิต TVERS ทั้งสิ้น จำนวน 14,149,243 tCO2eq โดยในปีงบประมาณ 2566 (ตุลาคม 2565 - กุมภาพันธ์ 2566) มีโครงการที่ได้รับการรับรองทั้งสิ้น จำนวน 12 โครงการ คิดเป็นปริมาณคาร์บอนเครดิต TVERS ทั้งสิ้น จำนวน 634,407 tCO2eq
ทั้งนี้จากทั้งหมด 144 โครงการ มีปริมาณคาร์บอนเครดิตที่ได้รับการรับรอง แบ่งตามประเภทโครงการ และตามลำดับ ดังนี้
ลำดับที่ 1 โครงการประเภทการพัฒนาพลังงานทดแทน (AE) จำนวน 8,325,276 tCO2eq
ลำดับที่ 2 โครงการประเภทพลังงานทดแทนจากการจัดการของเสีย (AE+WM) จำนวน 2,265,608 tCO2eq
ลำดับที่ 3 โครงการเพิ่มประสิทธิภาพพลังงาน (EE) จำนวน 2,254,974 tCO2eq
สำหรับ โครงการประเภทป่าไม้ (FOR) มีปริมาณคาร์บอนเครดิตที่ได้รับการรับรอง ทั้งสิ้นจำนวน 118,915 tCO2eq จาก 6 โครงการ
การซื้อ-ขายในระบบทะเบียนคาร์บอนเครดิต
สำหรับในระบบทะเบียนคาร์บอนเครดิต ปัจจุบันมีบัญชีผู้ถือครอง คาร์บอนเครดิต ทั้งสิ้น 337 บัญชี โดยมีการซื้อขายแล้ว ทั้งสิ้น 2,064,915 tCO2eq คิดเป็นมูลค่า 154,774,830 บาท โดยในปีงบประมาณ 2566 มีการซื้อขายแล้วทั้งสิ้น 106,368 tCO2eq คิดเป็นมูลค่า 4,005,370 บาท
ทั้งนี้ มีการนำคาร์บอนเครดิต TVERs ไปใช้แล้ว (Cancellation) 1,225,727 tCO2eq โดยยังมีปริมาณ คาร์บอนเครดิตคงเหลือในระบบ ทั้งสิ้น 12,923,516 tCO2eq