แผนพัฒนาการท่องเที่ยวแห่งชาติ ฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2566 – 2570) ได้รับการประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา เป็นที่เรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2566 ที่ผ่านมา มีสาระสำคัญเพื่อเตรียมความพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงและความเสี่ยงทุกรูปแบบ และพร้อมที่จะเติบโตอย่างยั่งยืน ด้วยการเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ประกอบกับการสร้างความเข้มแข็งจากภายใน มุ่งส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศ พัฒนาการท่องเที่ยวให้มีความทันสมัยผ่านการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรม การยกระดับบุคลากรและ ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวให้มีคุณภาพ เข้าใจและสามารถปรับตัวให้เข้ากับบริบทของการท่องเที่ยววิถีใหม่ (New Normal) โดยเฉพาะอย่างยิ่งการฟื้นตัวจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด - 19
รวมทั้งการให้ความสำคัญกับการบูรณาการร่วมกันของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งในภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคท้องถิ่น และภาคประชาชน โดยมีคณะกรรมการนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ และ เขตพัฒนาการท่องเที่ยวเป็นกลไกในการขับเคลื่อนและพัฒนาการท่องเที่ยวของไทย เพื่อให้สามารถใช้เป็นกรอบการดำเนินงานในการพัฒนาการท่องเที่ยวสู่วิสัยทัศน์และเป้าหมายได้อย่างแท้จริง
พัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน
ภายใต้แผนพัฒนาการท่องเที่ยวแห่งชาติ ฉบับใหม่ มีการกำหนดแนวทางสำคัญเกี่ยวกับการส่งเสริมการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (Sustainable Tourism) โดยการท่องเที่ยวของประเทศจะเติบโตได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว จะต้องมีการพัฒนาบนพื้นฐานของ ความยั่งยืนของเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ภาคการผลิตและธุรกิจในภาคการท่องเที่ยวมีการเติบโต อย่างยั่งยืน มีการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวและชุมชนท่องเที่ยว
โดยคำนึงถึงความสามารถในการรองรับนักท่องเที่ยว พร้อมการบริหารจัดการจำนวนนักท่องเที่ยว และการลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการท่องเที่ยว เช่น การปล่อยมลพิษ ของเสีย และภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป เพื่อให้การท่องเที่ยวไทยสามารถต่อยอดและสร้างคุณค่าจากทรัพยากรธรรมชาติ วัฒนธรรม เอกลักษณ์ความเป็นไทย และแหล่งท่องเที่ยว ในปัจจุบันได้อย่างยั่งยืน
เป้าหมายการพัฒนาท่องเที่ยวยั่งยืน
กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กำหนดเป้าหมายการพัฒนาด้านท่องเที่ยวยั่งยืนไว้หลายแนวทาง ทั้ง การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการบริหารจัดการนักท่องเที่ยว อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อลดการกระจุกตัวในแหล่งท่องเที่ยว ส่งเสริมด้านวัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิต และเอกลักษณ์ความเป็นไทยคงอยู่ในสังคมสืบต่อไป พร้อมทั้ง มีการต่อยอดเพิ่มมูลค่าด้วยกระบวนการคิดเชิงออกแบบอย่างสร้างสรรค์
ขณะเดียวกันยังส่งเสริมการท่องเที่ยวไทยให้มีการบริหารจัดการเพื่อลดผลกระทบที่อาจเกิดต่อทรัพยากรธรรมชาติและ สิ่งแวดล้อมอย่างเป็นระบบ รวมถึงการกำจัดของเสียและลดมลพิษ เพื่อคงความเป็นแหล่งท่องเที่ยว ธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ ส่วนแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติ วัฒนธรรม และชุมชนของประเทศไทย ต้องมีมาตรฐานความยั่งยืนระดับสากล
พร้อมกันนี้ยังกำหนดเป้าหมายการพัฒนาการท่องเที่ยวที่ยั่งยืนเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในด้านต่าง ๆ อย่างชัดเจน ดังนี้
1.ด้านปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และการสร้างขยะในภาคการผลิตของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว
2.จำนวนแหล่งท่องเที่ยวและธุรกิจบริการท่องเที่ยวได้รับมาตรฐานความยั่งยืนในระดับสากล (GSTC)
3.อันดับ Sustainable Travel Index โดย Euromonitor International
4.มูลค่าการลงทุนและสัดส่วนมูลค่าการสะสมทุนถาวรเพื่อการท่องเที่ยวในมิติวัฒนธรรมต่อมูลค่าสะสมทุนด้านการท่องเที่ยว
กำหนดแนวทางในการการพัฒนา
แนวทางในการพัฒนาเสริมสร้างความสมบูรณ์แก่สิ่งแวดล้อมและแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติ (Enriched Environment) ประกอบด้วย
1.อนุรักษ์และต่อยอดทรัพยากรธรรมชาติ จัดการแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติ และลดการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบจากสิ่งแวดล้อม (Nature Preservation)
2. ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและสารสนเทศภูมิศาสตร์เพื่อบริหารจัดการทรัพยากรทางธรรมชาติ (Natural Resources Management)
3. ยกระดับการบริหารจัดการของเสียและมลพิษจากภาคการท่องเที่ยว รวมถึงการเพิ่มมูลค่าจากขยะ (Zero Waste Tourism)
4. พัฒนากฎระเบียบและแนวทางในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการท่องเที่ยว (Carbon Footprint Control) และส่งเสริมรูปแบบการเดินทางและขนส่งที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมต่ำ (Low Emission Transportation)
5. บรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่มีต่อแหล่งท่องเที่ยว และภาคธุรกิจ (Climate Change Impacts)
6. ผลักดันแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติให้ได้มาตรฐานความยั่งยืนระดับสากล (Green Destination Standards) เช่น มาตรฐาน GSTC หรือเป้าหมาย SDGs ที่เกี่ยวข้องกับแหล่งท่องเที่ยว เป็นต้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง