สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ เปิดบทความพิเศษ 16 ความคิดเพื่อชีวิตคนไทย: สิ่งที่เป็น ปัญหาที่เห็น และประเด็นชวนคิด โดยมีเรื่องหนึ่งที่ถูกหยิบยกมาในบทความชิ้นนี้ คือ การเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ : โอกาสและความท้าทาย โดยกรรณิการ์ ธรรมพานิชวงค์ จากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย และ บัณฑิต ลิ้มมีโชคชัย จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ความท้าทายลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก
สำหรับบทความนี้ได้ มีการระบุข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับความท้าทายหลายด้านของประเทศไทยในการดำเนินการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก สรุปได้ดังนี้
ปัจจุบัน ประเทศไทยยังไม่มีความชัดเจนเกี่ยวกับมาตรการราคาคาร์บอน (carbon pricing) เช่น ภาษีคาร์บอน รวมถึงขาดกลไกทางการเงินสนับสนุนการดำเนินงานด้านการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ธุรกิจขนาดใหญ่ โดยส่วนใหญ่เข้าถึงกลไกทางการเงิน เช่น สินเชื่อสีเขียว และพันธบัตรสีเขียว ขณะที่ SMEs ยังไม่สามารถเข้าถึงเงินทุนต้นทุนต่ำได้เท่าที่ควร
เช่นเดียวกับโครงสร้างกิจการไฟฟ้าในปัจจุบัน รวมถึงกฎหมายและกฎระเบียบต่าง ๆ ยังเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาพลังงานหมุนเวียน
ขาดกลไกความร่วมมือ-การเข้าถึงเทคโนโลยี
การขาดกลไกความร่วมมือระหว่างหน่วยงานในการตรวจวัด การรายงานผล และการทวนสอบการปล่อย และลดลดก๊าซเรือนกระจก (monitoring, reporting, and verification: MRV) ซึ่งจะช่วยสร้างความน่าเชื่อถือให้กับการประเมินการปล่อยและลดก๊าซเรือนกระจก
รวมทั้งการเข้าถึงเทคโนโลยีการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในราคาที่สมเหตุสมผล โดยปัจจุบันเทคโนโลยี CCUS (carbon capture, utilization, and storage) เชื้อเพลิงไฮโดรเจน ฯลฯ ยังมีราคาสูง ทำให้หลายภาคส่วนไม่กล้าตัดสินใจลงทุนในเทคโนโลยีเหล่านี้
คนรายได้น้อยเสี่ยงเจอผลกระทบ
การเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำอาจส่งผลกระทบต่อต้นทุนในกลุ่มต่าง ๆ ไม่เท่าเทียมกัน เช่น ผู้มีรายได้น้อยอาจได้รับผลกระทบจากราคาไฟฟ้าเมื่อมีการปรับเปลี่ยนมาใช้พลังงานสะอาดในการผลิตไฟฟ้ามากขึ้น ผลกระทบจากราคาสินค้าที่ปล่อยคาร์บอนต่ำ และแรงงานที่อยู่ในอุตสาหกรรมที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงอาจได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนผ่าน
นอกจากนี้ในสังคมปัจจุบันยังขาดความตระหนักรู้ถึงผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความรู้ ความจำเป็นที่จะต้องปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อย่างเหมาะสมและเร่งด่วน และการเข้าถึงเทคโนโลยีและเงินทุนที่ใช้ในการปรับตัวด้วย
ความเสียหายล่าสุดของประเทศไทย
บทความชิ้นนี้ ยังระบุว่า จากดัชนี Global Climate Risk Index 2021 ชี้ให้เห็นว่า ประเทศไทยถูกจัดอันดับเป็นประเทศที่มีความเสี่ยงต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อันดับที่ 9 จาก 180 ประเทศทั่วโลก อุณหภูมิที่สูงขึ้นและสภาพอากาศสุดขั้วส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจึงมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจโลกอย่างมาก
ทั้งนี้พบว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจไทยมูลค่ากว่า 7,719 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็น 0.82% ต่อ GDP โดยส่งผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยว ภาคอุตสาหกรรม และภาคเกษตรซึ่งเป็นภาคเศรษฐกิจที่มีความเปราะบางสูง
คาดว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะสร้างความเสียหายสะสมต่อภาคเกษตรของไทยในช่วงปี 2564–2588 คิดเป็นมูลค่า 0.61–2.85 ล้านล้านบาท หรือเฉลี่ย 17,912–83,826 ล้านบาทต่อปี ขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรง หากภาคส่วนต่าง ๆ ในประเทศไทยไม่เร่งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงอย่างจริงจัง เศรษฐกิจไทยในอนาคตอาจหดตัวต่อเนื่อง
ภาคธุรกิจต้องเร่งหาทางรับมือ
นอกจากความจำเป็นในการลดก๊าซเรือนกระจกเพื่อบรรเทาผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยแล้ว ยังมีปัจจัยอื่นที่สนับสนุนให้มีการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ไม่ว่าจะเป็นมาตรการปรับคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน (Carbon Border Adjustment Mechanism: CBAM) ซึ่งกระทบต่อผู้ที่ส่งออกสินค้าไปยังสหภาพยุโรป หรือความคาดหวังของนักลงทุนให้ดำเนินธุรกิจตามแนวทาง ESG
ดังนั้น ภาคธุรกิจ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องปรับเปลี่ยนแนวทางในการดำเนินธุรกิจให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและปล่อยก๊าซเรือนกระจกลดลง เพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขัน ดึงดูดความสนใจของนักลงทุน และลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
แนะต้องเร่งปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลง
ส่วนศักยภาพในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ภาคการผลิตไฟฟ้าและขนส่งมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ เนื่องจากมีความพร้อมด้านทางเลือกในการลดก๊าซเรือนกระจก เช่น การเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนในภาคการผลิตไฟฟ้า การใช้รถยนต์ไฟฟ้า
อย่างไรก็ดี การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นผลมาจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสะสมในอดีต ดังนั้น แม้ว่าประเทศไทยจะสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างมีนัยสำคัญ แต่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้นมาแล้วได้ ทางออกที่สำคัญคือ การปรับตัว เพื่อลดความเสี่ยงและผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่ต้องทำควบคู่กันไป