"เนสท์เล่” ในฐานะที่เป็นบริษัทผู้ผลิตอาหารและเครื่องดื่มรายใหญ่ของโลก ได้กำหนดการดำเนินธุรกิจด้านความยั่งยืนไว้ 3 ด้าน ได้แก่ ด้านสิ่งแวดล้อม โดยตั้งเป้าในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ ภายในปี 2050 (พ.ศ.2593) ด้านสังคม ได้กำหนดเป้าหมาย นำเสนอผลิตภัณฑ์หลากหลาย มีคุณภาพ เสริมสร้างสุขภาพที่ดี พร้อมให้ความรู้ด้านการบริโภคและการมีสุขภาพที่ดีกับผู้บริโภค และด้านธรรมาภิบาล ดำเนินธุรกิจด้วยมาตรฐานความปลอดภัย ตลอดห่วงโซ่คุณค่า เน้นการสร้างคุณค่าร่วมกับสังคม ผ่านการดำเนินงาน 4 ด้านหลัก ได้แก่ บรรจุภัณฑ์รักษ์โลก ดูแลและจัดการทรัพยากรนํ้าอย่างยั่งยืน จัดหาวัตถุดิบอย่างยั่งยืน และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
นายวิคเตอร์ เซียห์ ประธานกรรมการและประธานคณะผู้บริหาร เนสท์เล่ อินโดไชน่า เปิดเผยว่า เนสท์เล่ ดำเนินธุรกิจในประเทศไทยมาเป็นเวลา 130 ปี นำหลักการ ESG (สิ่งแวดล้อม,สังคม และธรรมาภิบาล) เข้ามาผสมผสานในกระบวนการทำงานทุกมิติ ภายใต้ปรัชญาการทำงาน Good food, Good life หรือ อาหารที่ดี เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี เพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดี
ปัจจุบันเนสท์เล่มีโรงงาน 8 แห่ง ผลิต นม นํ้าดื่ม กาแฟ รวมทั้งอาหารสัตว์เลี้ยง โดยช่วงปีพ.ศ. 2561-2565 ลงทุนไปกว่า 13,600 ล้านบาท สร้างโรงงานใหม่ 2 แห่ง และยังได้ลงทุนอีก 335 ล้านบาทในธุรกิจใหม่อีบิสซิเนส เพื่อรองรับอีคอมเมิร์ซในการซื้อขายออนไลน์ และในปี 2566 นี้ ยังใช้งบลงทุนอีก 10,000 ล้านบาท นับเป็นการลงทุนมากที่สุดในรอบ 5 ปี เพื่อใช้สำหรับการผลิต ตามแผนการเพิ่มกำลังการผลิตอีก 50% เพื่อขยายตลาดส่งออก พร้อมกันนี้ใช้ในการทำตลาด และกิจกรรมด้านความยั่งยืน
นายวิคเตอร์ กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมา หลายโครงการของเนสท์เล่ ลงทุนไปกับการลงทุนด้านเทคโนโลยีที่ทันสมัย และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในกระบวนการผลิต การเปลี่ยนผ่านมาใช้พลังงานหมุนเวียน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ โดยมีเป้าหมายปรับองค์กรไปสู่การใช้พลังงานไฟฟ้าหมุนเวียนได้ทั้ง 100 % ภายในปี 2568 ซึ่งกลุ่มธุรกิจเนสท์เล่ ไอศกรีมนับเป็นรายแรกของอุตสาหกรรมสินค้าอุปโภคบริโภค (FMCG) ในไทยที่ใช้ไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน 100% ในกระบวนการผลิต ผ่านการร่วมมือกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)ในรูปแบบการซื้อขายพลังงานทดแทนแบบเจาะจงแหล่งที่มา (Utility Green Tariff)
รวมถึงการใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้าในการขนส่งผลิตภัณฑ์คิทแคทแบบควบคุมอุณหภูมิ รวมถึงการใช้รถสามล้อไฟฟ้าขายไอศกรีมเนสท์เล่ ซึ่งล่าสุดได้นำรถบรรทุกขนส่งสินค้าที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า 100% มาใช้สำหรับการจัดส่งผลิตภัณฑ์คุณภาพของเนสท์เล่ นำร่อง 2 คันในปี พ.ศ.2566 วิ่งเส้นทางระหว่างโรงงานผลิต ศูนย์กระจายสินค้า ไปจนถึงร้านค้าพันธมิตร คาดว่าจะสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงได้ประมาณ 230 ตันต่อปี
ส่วนของบรรจุภัณฑ์ ได้ตั้งเป้าหมายการเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์ทั้งหมดให้รีไซเคิลได้หรือนำกลับมาใช้ใหม่ได้ 100% ภายในปี พ.ศ. 2568 ซึ่งกระป๋องเนสกาแฟพร้อมดื่ม ที่ผลิตจากอะลูมิเนียมทุกชิ้นส่วนสามารถนำไปรีไซเคิลได้ 100% โดยไม่จำกัดจำนวนครั้ง จึงช่วยประหยัดพลังงานได้ถึง 95% เมื่อเทียบกับการใช้อะลูมิเนียมใหม่มาทำบรรจุภัณฑ์
ขณะที่การใช้เยื่อกระดาษบริสุทธิ์ 100% มาผลิตซองไอศกรีม แทนพลาสติกแบบเดิม สามารถช่วยลดปริมาณการใช้พลาสติกไปได้กว่าปีละ 28 ตัน หรือการผลิตหลอดกระดาษ ช่วยลดการใช้หลอดพลาสติกได้มากกว่าปีละ 500 ล้านหลอด
รวมถึงการเดินหน้าเปลี่ยนขวดนํ้ารักษ์โลก ได้ช่วยลดปริมาณการใช้พลาสติกได้ถึง 370 ตันต่อปี เมื่อเทียบกับการใช้พลาสติกผลิตขวดนํ้าแบบเดิม ซึ่งในเดือนพฤษภาคมนี้ มีแผนที่จะนำขวด rPET(recycled PET) มาใช้ หลังจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ผ่านการประเมินความปลอดภัยและอนุมัติใช้ เป็นการหมุนเวียนขวดพลาสติกเก่า มาผ่านนวัตกรรมที่ได้มาตรฐานด้านความปลอดภัยและนำกลับมาใช้ใหม่ เพื่อช่วยลดปริมาณขยะพลาสติกใช้ครั้งเดียวให้น้อยลง
นอกจากนี้ เนสท์เล่ มีโครงการบริหารจัดการนํ้ายั่งยืน โดยมีเป้าหมาย Net Water Positive คือ การชดเชยนํ้าคืนสู่ธรรมชาติและชุมชนให้ได้ 100% ผ่านโครงการต่างๆ ทำให้สิ่งมีชีวิตในนํ้าอาศัยอยู่ได้ การดูแลและจัดการนํ้าอย่างยั่งยืน
นอกจากนี้ ยังจัดการของเสีย มูลวัวที่เกิดขึ้นถือเป็นการปล่อยก๊าซมีเทนสู่ชั้นบรรยากาศ ได้ส่งเสริมการจัดการมูลวัวอย่างเป็นระบบ ด้วยการติดตั้งเครื่องแยกกากจากมูลวัว และเครื่องไบโอแก๊ส เพื่อนำของเสียไปใช้เป็นพลังงาน และยังสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ให้กับเกษตรกรเพื่อใช้ในฟาร์ม
อีกทั้ง ในแผนงานการลดคาร์บอนไดออกไซด์ ของเนสท์เล่ ยังมีการปลูกป่า เพื่อดูดซับคาร์บอนฯ โดยตั้งเป้าปลูกต้นไม้ให้ได้ 200 ล้านต้นภายในปี 2030 (พ.ศ.2573) ซึ่งได้ร่วมมือกับ PUR Projet ปลูกต้นไม้ 8 แสนต้น ในไร่กาแฟที่จังหวัดระนองและชุมพร โดยปี 2565 ปลูกไปแล้ว 50,000 ต้น และจะดำเนินต่อไปจนถึงปี พ.ศ. 2569 ด้วยเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจกให้ได้ราว 2 แสนตันของคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี
หน้า 7 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3878 วันที่ 13 -15 เมษายน พ.ศ. 2566