10 เรื่องจริงของภาวะโลกร้อนที่ต้องรู้ มีอะไรบ้าง

15 เม.ย. 2566 | 03:29 น.
อัปเดตล่าสุด :15 เม.ย. 2566 | 06:19 น.

10 เรื่องจริงของภาวะโลกร้อนที่ต้องรู้ มีอะไรบ้าง เช็คที่นี่มีคำตอบ ฐานเศรษฐกิจรวบรวมให้แล้ว องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกระบุคาร์บอนไดออกไซด์ที่ทำให้โลกร้อนมีความเข้มข้นสูงสุดในชั้นบรรยากาศ

ภาวะโลกร้อนเป็นกระแสที่ได้รับความสนใจอย่างต่อเนื่อง หลังจากที่สภาพภูมิอากาศในโลกมีการเปลี่ยนแปลงมาก และส่งผลกระทบต่อประชากร

ทั้งนี้ จากการตรวจสอบของ "ฐานเศรษฐกิจ" เกี่ยวกับภาวะโลกร้อนพบว่า 

องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ได้มีการให้ข้อมูลเรื่องจริงของภาวะโลกร้อนไว้ 10 ข้อ ประกอบด้วย  

โลกไม่ได้ร้อนขึ้นจริงหรอก เราคิดกันไปเองทั้งนั้น?

  • เมื่อหลายปีก่อนอาจยังมีข้อสงสัยแบบนี้ได้ แต่ปัจจุบันมีหลักฐานและปรากฏการณ์มากมายที่นักวิทยาศาสตร์นับพันคนทั่วโลกได้ร่วมกันศึกษาติดตามและวิจัย จนสามารถยืนยันแน่ชัดแล้วว่า "ภาวะโลกร้อน" กำลังเกิดขึ้นจริงโดยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ทำให้โลกร้อนมีความเข้มข้นสูงสุดในชั้นบรรยากาศจากที่เคยมีมาในช่วงเวลากว่า 3 แสนปี

โลกร้อนขึ้นได้อย่างไร

  • โลกร้อนขึ้นจากกิจกรรมของมนุษย์ที่ปล่อย "ก๊าซเรือนกระจก" ขึ้นไปในชั้นบรรยากาศ ก๊าซเรือนกระจกประกอบด้วยก๊าซหลายชนิด ที่สำคัญคือ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ก๊าซมีเทน ก๊าซไนตรัสออกไซด์ ก๊าซซัลเฟอร์เฮกซะฟลูออไรด์ ก๊าซโอโซน สารคลอโรฟลูออโรคาร์บอน และยาโลคาร์บอน ก๊าซเหล่านี้สามารถเก็บกักรังสีความร้อนจากผิวโลก แล้วคายรังสีความร้อนนั้นกลับลงมา ทำให้อุณหภูมิบนผิวโลกร้อนขึ้นกว่าเดิม เปรียบเสมือนกระจกที่สะท้อนรังสีความร้อนไม่ให้ออกไปจากโลก จึงมักเรียกว่า "ปรากฏการณ์เรือนกระจก" และเรียกการปล่อยก๊าซเรือนกระจกซึ่งมีหลายชนิดให้เข้าใจง่ายว่าการปล่อยคาร์บอน (carbon emission)

การทำเกษตรก็เป็นต้นเหตุให้โลกร้อนด้วยหรือ?

  • ก๊าซเรือนกระจกที่มีมากที่สุดในชั้นบรรยากาศคือ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ส่วนใหญ่นั้นมาจากการเผาผลาญเชื้อเพลิงฟอสชิล คือ น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และถ่านหิน ซึ่งมนุษย์เริ่มเผาผลาญเชื้อเพลิงเหล่านี้มากขึ้นตั้งแต่เข้าสู่ยุคอุตสาหกรรมเมื่อไม่ถึง 200 ปีก่อน แต่โลกก็มีตัวเก็บกักคาร์บอน ที่สำคัญคือต้นไม้ในป่า การเผาทำลายป่าเพื่อเปลี่ยนเป็นพื้นที่เกษตรกรรมจึงมีส่วนสำคัญในการปล่อยคาร์บอนจำนวนไม่น้อย และลดความสามารถในการเก็บกักคาร์บอนของโลกลง นอกจากนี้ การทำเกษตรกรรมยังปล่อยก๊าซมีเทนและก๊าซไนตรัสออกไซด์ที่เกิดจากการย่อยสลายของซากสิ่งมีชีวิต

ร้อนขึ้นแค่ 1-2 องศาเซลเซียสก็ไม่ได้มากมายอะไร

  • ตัวเลขอาจดูน้อย แต่ผลกระทบนั้นมหาศาล! เพราะสิ่งมีชีวิตในธรรมชาติได้วิวัฒนาการมาให้อยู่ในช่วงอุณหภูมิที่สมดุลกับชีวิตของมันมานาน อุณหภูมิที่ร้อนขึ้น  1  องศาเซลเซียส อาจส่งผลถึงการที่ต้นไม้จะออกดอกผลหรือไม่ หรือสัตว์หลายชนิดจะวางไข่ฟักเป็นตัวได้หรือไม่ ที่ 2 องศาเซลเซียส นักวิทยาศาสตร์ดาคว่าสิ่งมีชีวิตกว่า 30% เผชิญความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ ผลผลิตข้าวและธัญพืชอาจลดลง มนุษย์เราซึ่งต้องพึ่งพิงระบบนิเวศและอาหารจึงกำลังเผชิญความเสี่ยงอย่างสูง

ภาวะโลกร้อนกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ Climate Change คือเรื่องเดียวกันหรือไม่?

  • การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ก็คือผลพวงจากการเกิด "ภาวะโลกร้อน" เมื่อรังสีความร้อนในบรรยากาศใกล้ผิวโลกถ่ายเทความร้อนนั้นให้แก่อากาศ ดิน และน้ำ ก็ทำให้เกิดกระแสลม วัฏจักรของน้ำ ฝน พายุ ความเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิโลกจึงส่งผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศให้แปรปรวนไปจากเดิม และมีแนวโน้มที่จะรุนแรงจนเป็นภัยธรรมชาติที่ทำลายชีวิตบนโลก
     

มีคนบอกว่าก่อนน้ำแข็งที่ลอยอยู่ตามชั้วโลกละลายจะทำให้น้ำท่วม

  • ทะเลบริเวณขั้วโลกมีความหนาวเย็นจัดจนน้ำจับตัวเป็นน้ำแข็งปกคลุมผิวทะเลเป็นบริเวณกว้างใหญ่ โดยสะสมน้ำแข็งมานานทำให้มีความหนาหลายเมตร ปกติจะละลายไปในฤดูร้อนเพียงเล็กน้อย แต่ไม่กี่ปีมานี้ "ภาวะโลกร้อน" ทำให้น้ำแข็งเหล่านี้ละลายไปจนเกือบหมดในช่วงฤดูร้อน แต่การละลายของน้ำแข็งบนผิวทะเลนี้ไม่ได้ทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น ซึ่งก็เหมือนกับก้อนน้ำแข็งในแก้วน้ำนั่นเอง ผลกระทบอย่างหนึ่งคือมีสิ่งมีชีวิต เช่น หมีขาว ที่อาศัยบนน้ำแข็งผิวทะเลอาจต้องสูญพันธุ์เพราะแหล่งที่อยู่อาศัยของมันถูกทำลาย

สึนามิ แผ่นดินไหว ต้นเหตุคือโลกร้อนใช่หรือไม่?

  • เวลาเกิดข่าวแผ่นดินไหวและสึนามิ มักมีการกล่าวโยงมาถึงภัยพิบัติทางธรรมชาติอื่นๆ และตัวการก็คือ "ภาวะโลกร้อน" แต่ความจริงแผ่นดินไหวและสึนามิ เกิดจากการเคลื่อนตัวของแผ่นทวีปต่างๆ บนผิวโลกที่กระทบกระทั่งกัน นักวิทยาศาสตร์ยังไม่พบความเชื่อมโยงระหว่าง "ภาวะโลกร้อน" กับแผ่นดินไหว

เกิดรูโหว่โอโซนในชั้นบรรยากาศก็เพราะโลกร้อน

  • ก๊าซโอโซนในชั้นบรรยากาศสตราโตสเฟียร์ที่อยู่สูงจากผิวโลกขึ้นไป 15-50 กิโลเมตร ช่วยป้องกันรังสีอัลตราไวโอเลตที่จะลงถึงผิวโลก แต่โชคร้ายที่มนุษย์ใด้สร้างสารคลอโรฟลูออโรคาร์บอน (CFC) ขึ้นมาใช้ในเครื่องปรับอากาศ ตู้เย็น สเปรย์ น้ำยาดับเพลิง ฯลฯ เมื่อสารซีเอฟซีหลุดลอยขึ้นไป ก็จะทำลายก๊าซโอโซน เกิดเป็นรูโหว่ให้รังสีอัลตราไวโอเลตลงมาถึงผิวโลกและเป็นอันตรายต่อมนุษย์ "ภาวะโลกร้อน"​จึงไม่ใช่ตัวการของรูโหว่โอโซน แต่สารซีเอฟซีที่ทำลายโอโซนก็เป็นก๊าซเรือนกระจกชนิดหนึ่งเช่นกัน

 ใครปล่อยคาร์บอนมากที่สุด

  • กิจกรรมทุกอย่างของมนุษย์บนโลกนี่ละมีส่วนปล่อยคาร์บอนแทบทั้งหมด เพราะท้ายที่สุดแล้วก็เป็นผลจากการใช้พลังงาน ไม่ว่าจะเป็นเชื้อเพลิงสำหรับการเดินทางขนส่ง เชื้อเพลิงสำหรับโรงงานอุตสาหกรรม ผลิตวัสดุข้าวของเครื่องใช้ เชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าให้แก่อาคารบ้านเรือน ไฟฟ้าสำหรับการติดต่อสื่อสาร โทรศัพท์มือถือ แม้แต่โลกอินเทอร์เน็ต การเผาเชื้อเพลิงอาจเป็นตัวการปล่อยคาร์บอนโดยตรง แต่กิจกรรมของมนุษย์ไม่ว่าจะเป็นการกินอาหาร การเดินทาง การใช้อุปกรณ์เครื่องมือต่างๆ การทิ้งขยะ คือตัวการโดยอ้อมที่ปล่อยคาร์บอนอยู่อย่างเงียบๆ สังคมไหนที่เร่งการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเพื่อตอบสนองความต้องการที่มากเกินความจำเป็นก็กำลังปล่อยคาร์บอนอยู่มากที่สุด

แค่ใช้ถุงผ้าหรือปิดไฟก็ช่วยหยุดโลกร้อนได้แล้วหรือ?

  • การใช้ถุงผ้าแทนถุงพลาสติก หรือช่วยปิดไฟเมื่อไม่จำเป็นต้องใช้ เป็นก้าวแรกที่สำคัญของการลดการปล่อยคาร์บอนและสร้างจิตสำนึกร่วมกัน เพื่อรับมือกับ "ภาวะโลกร้อน" ที่กำลังรุนแรงมากขึ้น ยังมีอีกหลายสิ่งที่สังคมโลกต้องปรับตัวและเปลี่ยนแปลง เพื่อให้การปล่อยคาร์บอนลดต่ำลงมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ซึ่งเป้าหมายนั้นก็คือ "สังคมคาร์บอนต่ำ" หรือ low carbon society