ญี่ปุ่น เป็นประเทศที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อสิ่งแวดล้อม เพราะเกิดภัยธรรมชาติเกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้ง เมื่อตุลาคม 2563 รัฐบาลญี่ปุ่นประกาศเป้าหมายยกระดับญี่ปุ่นให้กลายเป็นประเทศที่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์ให้ได้ภายในปี 2593 (หรือปี ค.ศ. 2050) ต่อมาเมื่อเมษายน 2564 รัฐบาลได้ประกาศตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลดลงร้อยละ 46 และปรับใหม่เป็นร้อยละ 50 ให้ได้ภายในปี 2573 (หรือปี ค.ศ. 2030)
ทำให้ประเทศญี่ปุ่นกำลังเร่งเข้าสู่กระบวนการเพื่อจัดการคาร์บอนจากเชื้อเพลิงฟอสซิลจนเหลือศูนย์ (Decarbonization) แถมยังกำหนดทิศทางและยุทธศาสตร์ระยะยาว ทั้ง Green Growth Strategy แผนพื้นฐานด้านพลังงาน มาตรการป้องกันภาวะโลกร้อน ตามความตกลงปารีส (Paris Agreement)
ข้อมูลจากสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโตเกียว ชี้ให้เห็นว่า ญี่ปุ่นมีอัตราการผลิตพลังงานต้นกำเนิดภายในประเทศต่ำที่สุดในกลุ่มประเทศ G7 ผลิตได้เพียง ร้อยละ 11 เท่านั้น จากสถานการณ์สงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน และสถานการณ์ปริมาณการผลิตไฟฟ้าที่อาจไม่เพียงพอกับความต้องการของประเทศ
ราคาพลังงานทั่วโลกที่ดีดตัวสูงขึ้น ประกอบกับค่าเงินเยนที่อ่อนตัวลง ทำให้ต้นทุนพลังงานของญี่ปุ่นพุ่งสูงขึ้น รัฐบาลญี่ปุ่นจึงต้องหันมาทบทวนนโยบายด้านพลังงานบนพื้นฐานความมั่นคงด้านพลังงาน และการเพิ่มความสามารถใน การจัดหาแหล่งพลังงาน เช่น พลังงานหมุนเวียน พลังงานนิวเคลียร์ และการใช้แหล่งไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพ
ซึ่งหากจำกันได้ ล่าสุด เมื่อปลายปี 2565 ทีมวิจัยจาก Forte สตาร์ทอัพในเมืองอาโอโมริและมหาวิทยาลัย Electro-Communications (UEC) ในเมืองโตเกียว มองหาวิธีการกำจัดหิมะที่ดีกว่าการทิ้งลงทะเล และค้นพบว่าหิมะเป็นแหล่งพลังงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ต้นทุนต่ำ และปลอดภัย จึงลองใช้หิมะจำนวนมากกับอากาศภายนอกเพื่อผลิตพลังงานสะอาด
ต่อไปนี้คือ 5 นโยบายพลังงานสะอาดของประเทศญี่ปุ่นที่น่าสนใจ ที่น่านำไปเป็นกรณีศึกษา
1.นโยบายด้านทรัพยำกรธรรมชาติและเชื้อเพลิง
ลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลจากประเทศรัสเซีย
การมีส่วนร่วมของรัฐบาลในการจัดหาก๊าซ LNG มีการหาแหล่งจัดหาพลังงานที่หลากหลายนอกเหนือจากรัสเซีย
การร่วมมือกับประเทศที่มีการนำเข้า พลังงานเป็นหลักเพื่อต่อรองกับประเทศผู้ผลิตพลังงาน
ถ่านหิน มีการเจรจากับประเทศผู้ผลิต ทั้งออสเตรเลียและอินโดนีเซีย เพื่อประกันความมั่นคงในการจัดหา กำหนดนโยบายและมาตรการลดการใช้ถ่านหิน
ก๊าซธรรมชาติ เจรจากับประเทศผู้ผลิต ได้แก่ ออสเตรเลีย มาเลเซีย สหรัฐอเมริกา เพื่อประกัน ความมั่นคงในการจัดหา
สนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมต้นน้ำและกลางน้ำ
ทบทวนการสร้างความแข็งแกร่งในระบบการจัดหาพลังงานเชื้อเพลิง เช่น การ สนับสนุนและส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยี methanation และการใช้ก๊าซมีเทนสังเคราะห์ที่ผลิตจากกรีน ไฮโดรเจนและก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการดักจับมาใช้ในอนาคต
สร้างความแข็งแกร่งในระบบการจัดหาแร่ โลหะหายากที่ต้องไม่พึ่งพาการนำเข้าจากประเทศใดประเทศหนึ่งจนเกินไป
หาแหล่งแร่ธรรมชาติใต้ทะเลภายในประเทศ เช่น การสำรวจปริมาณแร่ธรรมชาติในทะเล และ การพัฒนาเทคโนโลยีการผลิต
2.นโยบายประหยัดพลังงาน
ส่งเสริมการประหยัดพลังงานของผู้ประกอบ SME เช่น การส่งผู้เชี่ยวชาญมาวิเคราะห์และเสนอแผนประหยัดพลังงานให้กับผู้ประกอบการ
ส่งเสริมมาตรการประหยัดพลังงานภายใต้กฎหมายการประหยัดพลังงานของอาคารและสิ่งปลูกสร้าง ตั้งแต่ปี 2564 มีการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวกับอาคารและสิ่งปลูกสร้างขนาดกลางและขนาดใหญ่ (ยกเว้นที่อยู่อาศัย) และกำลังดำเนินการเพื่อบังคับใช้กฎหมายนี้กับสิ่งก่อสร้างประเภทที่อยู่อาศัยและอาคารสิ่ง ปลูกสร้างขนาดเล็กในปี 2568
ยกระดับมาตรฐาน ZEB (net Zero Energy Building) และ ZEH (net Zero Energy House) สำหรับสิ่งปลูกสร้างที่สร้างใหม่หลังปี 2572
ส่งเสริมการใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้า (EV PHEV FCV ฯลฯ) ภายในปี 2578 และเพื่อให้บรรลุเป้าหมายจึงมีแผนส่งเสริมและสนับสนุนในด้านต่างๆ เช่น การส่งเสริมการผลิตแบตเตอรี่ สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าภายในประเทศ มีเป้าหมายกำลังผลิต 100GWh ภายในปี 2573 การสนับสนุนซื้อรถยนต์พลังงานไฟฟ้า
ส่งเสริม สนับสนุนผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ให้หันมาผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ สำหรับรถยนต์พลังงานไฟฟ้า ส่งเสริมและสนับสนุนการสร้างสถานีชาร์จไฟและสถานีเติมไฮโดรเจน เป็นต้น
3.นโยบายด้านพลังงานหมุนเวียน
ส่งเสริมการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าด้วยพลังแสงอาทิตย์ตาม อาคารบ้านเรือน คลังสินค้าและสิ่งปลูกสร้างต่างๆ
ให้เงิน สนับสนุนการติดตั้ง เช่น ให้เงินสนับสนุนการติดตั้งแผงโซลาเซลล์ ให้เงินสนับสนุนที่พักอาศัย ZEH (net Zero Energy House) ในการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าด้วยพลังแสงอาทิตย์
การลดหย่อนภาษีสำหรับที่อยู่อาศัยที่ปล่อยคาร์บอนต่ำหรือการปรับปรุงที่อยู่อาศัยให้เป็นที่อยู่อาศัยประหยัดพลังงาน
ให้ความสำคัญกับพลังงานความร้อนใต้พิภพ โดยส่งเสริมวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี พลังงานใต้พิภพโดยองค์กรอิสระ Japan Oil, Gas and Metals National Corporation (JOGMEC) มีแผนสำรวจพื้นที่อุทยานแห่งชาติและพื้นที่กึ่งอุทยาน แห่งชาติ 30 แห่ง ตั้งเเต่ 2564-2565
สนับสนุนวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี พลังงานหมุนเวียนจากกองทุน Green Innovation เช่น การผลิต กระแสไฟฟ้าด้วยกังหันลมลอยน้ำ การพัฒนา Perovskite Solar Cell (PSC) นวัตกรรมพลังงานใต้พิภพ ฯลฯ
4.นโยบาย CCUS (Carbon dioxide Capture, Utilization and Storage) CCUS
การดักจับ ใช้ประโยชน์ และกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เพื่อลดปริมาณก๊าซ คาร์บอนไดออกไซด์ไว้ชั้นหินใต้ดิน (Carbon Capture and Storage: CCS) นำก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่กักเก็บไว้มาใช้ประโยชน์ต่อไป (CCUS)
International Energy Agency (IEA) พบว่า ในปี 2593 ประเทศญี่ปุ่นจะมีปริมาณการกักเก็บก๊าซ คาร์บอนไดออกไซด์ 1.2-2.4 ร้อยล้านตันต่อปี และเพื่อผู้ประกอบการจะสามารถเริ่มดำเนินธุรกิจ เกี่ยวกับ CCS ได้ในปี 2573 จำเป็นต้องเริ่มเข้าสู่ ขั้นตอนของการศึกษาความเป็นไปได้ (Feasibility study) และอื่นๆ ภายในปี 2566 และตัดสินด้าน การลงทุนให้เสร็จสิ้นภายในปี 2569
5.นโยบายไฮโดรเจนและแอมโมเนีย
เน้นความสำคัญของไฮโดรเจนและแอมโมเนียที่สามารถนำมาเป็นเชื้อเพลิงทดแทนน้ำมัน ถ่านหิน และก๊าซ ธรรมชาติได้ ตั้งเป้าหมายผลิตปริมาณไฟฟ้าจากไฮโดรเจนและแอมโมเนียให้ได้ร้อยละ 1 จากปริมาณไฟฟ้า ทั้งหมดภายในปี 2573
พัฒนาเทคโนโลยีการใช้ แอมโมเนียผสมกับถ่านหินสำหรับโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนที่ใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงเพื่อลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ปี 2564 มีการสร้างโรงงานผลิตไฮโดรเจนที่ใหญ่ที่สุดในโลกที่จังหวัดฟุกุชิมา และมีโครงการผลิตไฮโดรเจนจากพลังงานหมุนเวียนในปริมาณมากซึ่งกำลังดำเนินการ