กนอ.ถก JFCCT ชูสมาร์ท ปาร์คสร้างความเชื่อมั่นดูดทุนต่างประเทศ

27 เม.ย. 2566 | 08:37 น.
อัปเดตล่าสุด :27 เม.ย. 2566 | 08:37 น.

กนอ.ถก JFCCT ชูสมาร์ท ปาร์คสร้างความเชื่อมั่นดูดทุนต่างประเทศ ปั้นไทยเป็นฐานการลงทุนในภูมิภาค ระบุไทยยังมีห่วงโซ่อุปทานที่ครบวงจรที่สุดารถรองรับอุตสาหกรรมหลักได้ ทั้งยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ หรือเคมีภัณฑ์

นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า ได้หารือร่วมกับนางวิเบค ลิสซานด์ เลียร์วาก คอนเซลวาน  (Mrs Vibeke Lyssand Leirvag Conselvan) ประธานหอการค้าร่วมต่างประเทศในประเทศไทย (JFCCT) และสมาชิกหอการค้าต่างประเทศ จำนวน 34 ประเทศ 

จากทั่วทุกภูมิภาค อาทิ สวิตเซอร์แลนด์ เยอรมนี ฝรั่งเศส อินเดีย และตุรกี เป็นต้น เพื่อหารือเกี่ยวกับข้อมูลการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรม และพื้นที่ศักยภาพ สิทธิประโยชน์ต่างๆ รวมทั้งการส่งเสริมความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุน 

ทั้งนี้ กนอ. ได้นำเสนอภาพรวมของนิคมอุตสาหกรรมในประเทศไทย 2 พื้นที่ ได้แก่ 

  • เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) โดยเฉพาะนิคมอุตสาหกรรมสมาร์ท ปาร์ค (Smart Park) ซึ่งเป็นนิคมอุตสาหกรรมที่มุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนด้วยการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมทั้งส่งเสริมการจัดการพลังงานภายในนิคมอุตสาหกรรมอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด เช่น การใช้พลังงานไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด ทดแทนการพึ่งพาเชื้อเพลิงจากฟอสซิล การใช้พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานไฮโดรเจน และพลังงานชีวภาพ เป็นต้น
  • 2.เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (Special Economic Zone: SEZ) และนิคมอุตสาหกรรมยางพารา ในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยได้ย้ำถึงศักยภาพความพร้อมของการเป็นฐานการลงทุนในภูมิภาค ความพร้อมของแรงงานที่มีคุณภาพและสามารถปรับตัวไปสู่อุตสาหกรรมแห่งอนาคตได้ ที่สำคัญคือ สภาพแวดล้อมที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นมิตรกับนักลงทุนต่างชาติ เพราะที่ผ่านมามีนโยบายเปิดรับและสนับสนุนการลงทุนอย่างต่อเนื่อง 

กนอ.ถก JFCCT ชูสมาร์ท ปาร์คสร้างความเชื่อมั่นดูดทุนต่างประเทศ นอกจากนี้ กนอ.ยังมีทีมงานที่พร้อมให้คำปรึกษา ทั้งเรื่องขั้นตอนกระบวนการด้านการลงทุน การอนุมัติ-อนุญาต ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจในประเทศไทย เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่นักลงทุน 

"JFCCT จะเป็นสื่อกลางสนับสนุนข้อมูลการลงทุนให้แก่บริษัทสมาชิกภายใต้หอการค้า เพื่อนำไปสู่ความร่วมมือด้านการลงทุนในอนาคต รวมถึงการพัฒนาทักษะของทรัพยากรบุคคลและแรงงานร่วมกันด้วย” 

สำหรับหอการค้าร่วมต่างประเทศในประเทศไทยเป็นองค์กรที่มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการค้าและการลงทุนของต่างชาติ การพัฒนาทักษะ และมุ่งเน้นการมีส่วนร่วมในประเทศไทย มีสมาชิกหอการค้ากว่า 34 ประเทศ มีบริษัทเป็นสมาชิกกว่า 9,000 บริษัท ให้คำแนะนำ การค้า การลงทุนของต่างชาติในประเทศไทย รวมถึงให้ข้อสังเกตต่อกฎระเบียบในการดำเนินธุรกิจของไทย เพื่อเป็นแรงจูงใจให้นักลงทุนต่างชาติตัดสินใจลงทุน หรือมาประกอบธุรกิจในประเทศไทยมากขึ้น

นายวีริศ กล่าวอีกว่า การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ เป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจไทยมากว่า 50 ปี โดยปีที่ผ่านมาสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ (BOI) ได้รายงานตัวเลขการขอรับการส่งเสริม การอนุมัติ และการออกบัตรส่งเสริมของบีโอไอ ทั้งสิ้น 2,119 โครงการ (เพิ่มขึ้น 41%) มูลค่าเงินลงทุนมากกว่า 664,000 ล้านบาท 

เป็นการลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) เพิ่มขึ้น 36% สะท้อนว่าการลงทุนเริ่มฟื้นตัว และนักลงทุนต่างประเทศ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเทคโนโลยี สนใจเข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้น ซึ่งนักลงทุนมองว่าไทยมีความโดดเด่น มีจุดแข็งด้านโครงสร้างพื้นฐานที่ดีและมีคุณภาพสูงที่สุดในภูมิภาค ทั้งถนน ท่าเรือ สนามบิน นิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่รองรับการลงทุน และโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล 

นอกจากนี้ ไทยยังมีห่วงโซ่อุปทานที่ครบวงจรที่สุดในภูมิภาค สามารถรองรับอุตสาหกรรมหลักๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็นยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ หรือเคมีภัณฑ์