นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยว่า จากการประเมินค่าไฟเชื่อว่าได้ผ่านพ้นจุดสูงสุดในช่วงเดือน ม.ค.-เม.ย. 66 ไปแล้ว โดยมองว่าหลังจากนี้ค่าไฟจะทยอยลดลง หลังปริมาณก๊าซอ่าวไทยเพิ่มเป็น 400 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ในเดือน ส.ค.
และเป็น 600 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ช่วงปลายปีนี้ รวมถึงราคาแอลเอ็นจีนำเข้าถูกลง จะนำไปลดค่าเอฟทีงวดถัดไปสำหรับเดือนก.ย.-ธ.ค.2566 ที่อาจมีโอกาสได้เห็นค่าไฟเฉลี่ยที่เรียกเก็บกับประชาชนลงมาอยู่ที่ระดับ 4.30-4.40 บาทต่อหน่วยได้
ทั้งนี้ นอกเหนือจากแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของก๊าซในอ่าวไทยจะทำให้ค่าไฟราคาถูกลงแล้ว อีกส่วนหนึ่งมาจากราคาก๊าซธรรมชาติจากตลาดจร (แอลเอ็นจี สปอต) ก็ราคาลดลงเช่นเดียวกัน จากงวดก่อนที่อยู่ประมาณ 24 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู ลงมาอยู่ที่ 14.87 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู
นายวัฒนพงษ์ กล่าวอีกว่า การรับซื้อไฟฟ้าเป็นอัตราส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า (แอดเดอร์) ยังมีปัญหาอยู่เพราะว่าในตอนนั้นที่ตั้งเกณฑ์ขึ้นมากำหนดให้มีการต่อสัญญาอัตโนมัติทุก 5 ปี จากระยะสัญญาตั้งต้น 10 ปี ซึ่งถือว่าเป็นอัตรารับซื้อไฟฟ้าที่แพง
ขณะเดียวกันภาคอุตสาหกรรมก็ยังอ้างว่าไม่สาม่รถลดอัตราซื้อขายได้ เพราะมีสัญญากำหนดไว้ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นบริษัม มหาชน(จำกัด)ทั้งสิ้น ซึ่งเป็นอัตราที่บวกไปกับต้นทุนค่าไฟฟ้าที่ประชาชนต้องจ่ายที่ 0.1384 สตางค์ต่อหน่วย หรือคิดเป็น 2.90% จากต้นทุนที่มาจากนโยบายของรัฐ
สำหรับค่าไฟฟ้าที่แพงขึ้นนั้นเป็นเรื่องของต้นทุนเชื้อเพลิง เนื่องจาก 50-60% ของการคิดค่าไฟมาจากเชื้อเพลิง นอกจากนั้นจะเป็นส่วนของ ต้นทุนการก่อสร้างโรงไฟฟ้า ,ต้นทุนระบบส่งไฟฟ้า และต้นทุนขายปลีกและจำหน่าย เป็นต้น จึงไม่เกี่ยวกับการสำรองไฟฟ้า (Reserve Margin : RM) ของประเทศ
โดยเมื่อมาดูข้อมูลจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) จะเห็นได้ว่าประเทศไทยก็ยังมีสำรองไฟฟ้าไม่สูงมากนัก แบ่งตัวอย่างสัดส่วน RM ปี 2559 อาทิ สเปน มี RM ที่ 180% สัดส่วนพลังงานหมุนเวียน 51.1%, อิตาลี RM 136% สัดส่วนพลังงานหมุนเวียน 44.8%, โปรตุเกส RM 130% สัดส่วนพลังงานหมุนเวียน 64.1%, เดนมาร์ก RM 130% สัดส่วนพลังงานหมุนเวียน 52.1% เยอรมัน RM 111% สัดส่วนพลังงานหมุนเวียน 50.2%, จีน RM 91% สัดส่วนพลังงานหมุนเวียน 33.1%, มาเลเซีย RM 51% สัดส่วนพลังงานหมุนเวียน 25.7% ส่วนไทย RM 39% สัดส่วนพลังงานหมุนเวียน 21.8% เป็นต้น
นายวัฒนพงษ์ กล่าวอีกว่า ในอนาคตหากมีพลังงานสะอาดเพิ่มขึ้น จะต้องมีการสำรองไฟฟ้าเพิ่มขึ้นด้วย และราคาก็อาจจะแพงขึ้น เนื่องจากต้องมีการไปพัฒนาระบบการกักเก็บพลังงาน เพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนที่จะขายไฟฟ้ากลับมาเข้าระบบ ซึ่งจะต้องมีบริหารระบบไว้อย่างดี
ในขณะที่ไฟฟ้าจากพลังงานฟอสซิล อาจจะไม่เพิ่มขึ้นแต่ยังคงรักษาไว้เพื่อความมีเสถียรภาพ และโรงไฟฟ้าฟอสซิลจะปลดระวางตามกาลเวลา ส่วนโรงไฟฟ้าใหม่จะสร้างได้ยากขึ้นเพราะข้อจำกัดด้านพื้นที่
"กฟผ. เองก็มองว่าการสร้างสายส่งเพื่อไปรองรับพลังงานทดแทนอาจจะไม่คุ้มเท่ากับการสร้างแบตเตอรี่กักเก็บ"