นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า บีโอไอได้ดำเนินการร่วมกับนครเซี่ยงไฮ้ และหน่วยงาน Invest Shanghai จัดงาน“ลงทุนเซี่ยงไฮ้ ร่วมแบ่งปันอนาคต”
ทั้งนี้ เพื่อขยายความร่วมมือระหว่างทั้งสองประเทศ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการลงทุนทั้งจากจีนมาสู่ไทย และไทยไปสู่จีน ตามนโยบาย Belt and Road Initiative (BRI) สู่ภูมิภาคอาเซียน และความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership: RCEP)
สำหรับทำเลที่ตั้งของประเทศไทยอยู่ใจกลางภูมิภาคอาเซียน ใกล้ประเทศจีน มีระบบขนส่งและโลจิสติกส์ที่มีประสิทธิภาพ สามารถเชื่อมโยงกับประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาค มีความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานและนิคมอุตสาหกรรมที่มีคุณภาพ โดยเฉพาะในพื้นที่อีอีซี (EEC) ซึ่งในอนาคตอาจจะเชื่อมโยงกับเขตพิเศษหลินกังของนครเซี่ยงไฮ้ได้
นอกจากนี้ ไทยยังมีความแข็งแกร่งด้านซัพพลายเชน อุตสาหกรรมสนับสนุน บุคลากรที่มีคุณภาพ มาตรการสนับสนุนของรัฐและสิทธิประโยชน์ รวมทั้งไทยมีความสัมพันธ์ที่ดีกับนานาประเทศ จึงมีความเหมาะสมในเชิงยุทธศาสตร์อย่างยิ่ง ที่จะเป็นฐานการผลิตของจีนเพื่อส่งออกไปยังประเทศอื่น ๆ ในกลุ่มอาเซียน ซึ่งเป็นภูมิภาคที่กำลังเติบโตสูง รวมทั้งยังสามารถใช้ประโยชน์จากข้อตกลงการค้าเสรี RCEP ที่ไทยทำร่วมกับประเทศต่าง ๆ 15 ประเทศ
นายนฤตม์ กล่าวอีกว่า ประเทศจีนมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยอย่างมาก ทั้งด้านการท่องเที่ยว การค้า และการลงทุน โดยนักท่องเที่ยวจีนมาไทยเป็นอันดับหนึ่งในช่วงก่อนโควิด มีจำนวน 11 ล้านคน ปีนี้คาดว่าจะฟื้นตัวอย่างรวดเร็วและกลับมาท่องเที่ยวไทยไม่ต่ำกว่า 5 ล้านคน
ด้านการค้าจีนถือเป็นคู่ค้าอันดับหนึ่งของไทย ที่มีสัดส่วนถึง 17% ของมูลค่าการค้ารวม ขณะที่ด้านการลงทุน ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา การลงทุนจากจีนเติบโตอย่างก้าวกระโดด
โดยในปี 2565 จีนขึ้นมาเป็นนักลงทุนอันดับหนึ่งที่มีสัดส่วนถึง 18% ของการลงทุนโดยรวม และในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ จีนมีการยื่นคำขอลงทุนในไทย มูลค่ารวม 25,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 87% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยส่วนใหญ่อยู่ในอุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่น อิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ไฟฟ้า ดิจิทัล และเคมีภัณฑ์ เป็นต้น
อย่างไรก้ดี เซี่ยงไฮ้ ถือเป็นมหานครที่มีประชากรและขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดของจีน และเป็นมหานครอันดับ 6 ของโลก ในปี 2565 จีดีพีอยู่ที่ 22.5 ล้านล้านบาท (4.47 ล้านล้านหยวน) มีการพัฒนาเมืองและการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะการเป็นผู้นำนวัตกรรมและฐานการผลิตของอุตสาหกรรมสมัยใหม่
นอกจากนี้ นครเซี่ยงไฮ้ได้ผลักดันการพัฒนาเขตต่าง ๆ ให้เป็นพื้นที่พิเศษ โดยเฉพาะเขตพิเศษหลินกัง (Shanghai Lin-gang Special Area) ที่เน้นส่งเสริมการค้าการลงทุนในอุตสาหกรรมสมัยใหม่ เช่น อุตสาหกรรมดิจิทัล สุขภาพและการแพทย์ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ และยานยนต์ไฟฟ้า เป็นต้น
สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายของไทย เป็นโอกาสที่จะเชื่อมโยงการลงทุนระหว่างทั้งสองประเทศให้เติบโตมากยิ่งขึ้น ซึ่งที่ผ่านมามีบริษัทไทยหลายรายที่ได้เข้าไปลงทุนในนครเซี่ยงไฮ้และเมืองใกล้เคียง เช่น เครือเจริญโภคภัณฑ์ ปตท. สหยูเนี่ยน สามมิตร เครือดุสิตธานี และสถาบันการเงินหลายแห่ง เช่น ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ เป็นต้น
บีโอไอ มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมการลงทุน ทั้งการลงทุนในประเทศไทยและส่งเสริมผู้ประกอบการไทยที่มีศักยภาพให้ออกไปลงทุนในต่างประเทศ เพื่อขยายโอกาสทางธุรกิจและเพิ่มบทบาทของไทยในเวทีโลก โดยบีโอไอจะร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยสนับสนุนด้านข้อมูล ให้คำปรึกษา อำนวยความสะดวก และประสานงานกับประเทศปลายทาง ผ่านสำนักงานบีโอไอในต่างประเทศ 16 แห่ง ในจีนมี 3 แห่ง ได้แก่ เซี่ยงไฮ้ ปักกิ่ง และกวางโจว
อีกทั้งยังจัดกิจกรรมเชื่อมโยงและจับคู่ธุรกิจระหว่างผู้ผลิตและอุตสาหกรรมสนับสนุนในประเทศ โดยระหว่างวันที่ 10 – 13 พฤษภาคม 2566 นี้ จะมีการจัดงาน SUBCON THAILAND ซึ่งในปีนี้จะมีผู้ร่วมออกงานกว่า 150 บริษัท มีบริษัทผู้ซื้อจากต่างประเทศมากกว่า 10 ประเทศ และเกิดการจับคู่ธุรกิจกว่า 4,000 คู่