“วงแหวนคาร์บอนไดออกไซด์” คืออะไร หลังบราซิลสร้างในป่าอเมซอน

29 พ.ค. 2566 | 13:00 น.

“วงแหวนคาร์บอนไดออกไซด์” คืออะไร หลังบราซิลทำการสร้างขึ้นในป่าอเมซอน เพื่อจำลองการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ climate change

สำนักข่าว เอพี รายงานเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคมที่ผ่านมา ว่า ลึกเข้าไปในป่าอเมซอน บราซิลกำลังสร้างสิ่งก่อสร้างบางอย่าง นั่นคืออาคารที่ซับซ้อนที่เรียงกันเป็นวงแหวน 6 วง ที่พร้อมพ่นละอองก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ป่าฝน เหตุผลก็คือเพื่อทำความเข้าใจว่าป่าเขตร้อนที่ใหญ่ที่สุดในโลกสามารถตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างไร

การก่อสร้างวงแหวนสองวงแรกกำลังอยู่ในระหว่างดำเนินการ และคาดว่าจะเปิดใช้งานได้ภายในต้นเดือนสิงหาคม วงแหวนแต่ละวงจะประกอบด้วยหอคอยอะลูมิเนียม 16 อัน สูงเท่ากับตึก 12 ชั้น 

โครงการนี้ตั้งอยู่ห่างจากเมืองมาเนาส์ไปทางเหนือ 70 กม. (44 ไมล์) นำโดยสถาบันแห่งชาติเพื่อการวิจัยอเมซอน ซึ่งเป็นสถาบันของรัฐบาลกลาง โดยได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากรัฐบาลอังกฤษซึ่งให้คำมั่นสัญญา 9 ล้านดอลลาร์ ซึ่งน่าจะใช้งานได้เต็มรูปแบบภายในกลางปี ​​2567

 

โครงการนี้เรียกว่า AmazonFACE เพื่อสำรวจความสามารถของป่าในการกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก สิ่งนี้จะช่วยให้นักวิทยาศาสตร์เข้าใจว่าภูมิภาคนี้มีจุดเปลี่ยนที่อาจทำให้เข้าสู่ภาวะเสื่อมโทรมอย่างไม่อาจย้อนกลับได้หรือไม่

 

FACE ย่อมาจาก Free Air CO2 Enrichment เทคโนโลยีนี้พัฒนาขึ้นครั้งแรกโดย Brookhaven National Laboratory ซึ่งตั้งอยู่ใกล้กับนิวยอร์กซิตี้ มีความสามารถในการปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อมโดยรอบของพืชที่กำลังเติบโตในลักษณะที่จำลองระดับความเข้มข้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในบรรยากาศในอนาคต

David Lapola หนึ่งในนักวิทยาศาสตร์ชั้นนำของโครงการกล่าวว่า มีหลักฐานจากการทดลองที่คล้ายคลึงกันในป่าเขตอบอุ่น แต่ไม่มีการรับประกันว่าจะเหมือนกันในอเมซอน 

นอกจากนี้ยังให้เหตุผลว่าจุดเปลี่ยนของป่าฝนอเมซอนมีแนวโน้มเชื่อมโยงกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากกว่าอัตราการตัดไม้ทำลายป่า จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องศึกษาผลกระทบความเข้มข้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในป่าที่สูงขึ้น เพื่อทำความเข้าใจสิ่งที่รออยู่ข้างหน้า

มุมมองนี้ท้าทายการศึกษาที่ยกมาอ้างอย่างกว้างขวางโดยนักวิทยาศาสตร์ระบบโลก Carlos Nobre จากข้อมูลของ Nobre ระบุว่า หากการตัดไม้ทำลายป่าถึงขั้นวิกฤตที่ 20% - 25% ทั่วทั้งอเมซอน ความสมดุลของระบบปริมาณน้ำฝนของภูมิภาคนี้จะหยุดชะงัก นำไปสู่การเปลี่ยนสภาพของป่าฝนที่เขียวชอุ่มให้กลายเป็นทุ่งหญ้าสะวันนา

ผืนป่าอเมซอน (Amazon rainforest)

  • เป็นป่าดิบชื้นที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก
  • มีพื้นที่ขนาด 5.5 ล้านตารางกิโลเมตร
  • กินพื้นที่ 8 ประเทศในทวีปอเมริกาใต้ ได้แก่ บราซิล, โบลิเวียร์, เปรู, เอกวาดอร์, โคลอมเบีย, เวเนซูเอลา, กายอานา, ซูรินาม และเฟรนช์เกียนา
  • มีความหลากหลายทางชีวภาพมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก
  • มีบทบาทสำคัญในการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) 

ข้อมูล : apnews