การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2566 ที่ผ่านมา ได้มีมติเห็นชอบเรื่องสำคัญที่เกี่ยวข้องกับความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อม และการรองรับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ซึ่งจะมีผลโดยตรงต่อโลกของเรา โดยเฉพาะในภาคการเกษตร ซึ่งเป็นภาคส่วนที่สำคัญต่อเศรษฐกิจและวิถีชีวิตของคนไทย
ทั้งนี้ที่ประชุมครม.ได้ต่อให้ความเห็นชอบต่อร่างหนังสือแลกเปลี่ยนสำหรับการดำเนินโครงการเครื่องมือทางการเงินเพื่อการปรับตัวต่อความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศในภาคการเกษตรในภูมิภาคอาเซียน (Innovative Climate Risk Financing for the Agricultural Sector in the ASEAN Region) Ffpให้เลขาธิการอาเซียนเป็นผู้ลงนามในหนังสือแลกเปลี่ยนดังกล่าว ให้เป็นไปตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เสนอ
ดันโครงการความร่วมมือบนเวทีโลก
โครงการเครื่องมือทางการเงินเพื่อการปรับตัวต่อความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศในภาคการเกษตรในภูมิภาคอาเซียน เป็นโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีกับอาเซียน ที่ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากกระทรวงเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (BMZ) สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี
ดำเนินการโดยองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (GIZ) ร่วมกับสำนักเลขาธิการอาเซียน ผ่านแผนกอาหาร เกษตร และป่าไม้ (Food, Agriculture and Forest Division: FAFD) และอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของคณะทำงานด้านพืชของอาเซียน
โดยมีการดำเนินกิจกรรมในระดับภูมิภาคกับ 10 ประเทศสมาชิกอาเซียน และในระดับประเทศกับประเทศอินโดนีเซีย ไทย และเวียดนาม ซึ่งโครงการฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อการเพิ่มการเข้าถึงเครื่องมือทางการเงินเพื่อการปรับตัวต่อความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศที่คำนึงถึงเพศสภาวะของเกษตรกรในภูมิภาคให้ดียิ่งขึ้น
พัฒนาผลิตภัณฑ์การเงินรับ Climate Change
สำหรับเรื่องนี้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นำเสนอครม. ให้ความเห็นชอบต่อร่างหนังสือแลกเปลี่ยนสำหรับการดำเนินโครงการดังกล่าว เป็นการดำเนินการตามกฎระเบียบว่าด้วยการทำความตกลงระหว่างประเทศโดยอาเชียน ค.ศ. 2011 ที่กำหนดให้กรณีที่เลขาธิการอาเซียนลงนามความตกลงระหว่างประเทศของอาเซียนในฐานะที่เป็นองค์การระหว่างประเทศ รัฐบาลไทยจะต้องให้ความยินยอมในการลงนามความตกลงดังกล่าวผ่านคณะผู้แทนถาวรไทย ประจำอาเซียน ณ กรุงจาการ์ตา
ทั้งนี้ โครงการฯ จะเข้ามาช่วยพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงินของสถาบันการเงินต่าง ๆ ในประเทศไทยผ่านการอบรมให้คำปรึกษา เพื่อให้มีผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่รองรับต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ เช่น สินเชื่อดอกเบี้ยผ่อนปรนเพื่อสนับสนุนให้เกษตรกรลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นจากกระบวนการเพาะปลูก เป็นต้น
สาระสำคัญของความตกลง
ร่างหนังสือแลกเปลี่ยนฯ มีสาระสำคัญเป็นการตอบรับข้อตกลงและเงื่อนไขของสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีที่จะร่วมกันสนับสนุนการดำเนินโครงการฯ โดยรัฐบาลแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีจะสนับสนุนงบประมาณสำหรับโครงการฯ จำนวน 4 ล้านยูโร หรือประมาณ 150 ล้านบาท ในรูปแบบของบุคลากร การให้การสนับสนุนทางเทคนิค และการสนับสนุนทางการเงินตามความเหมาะสม
ขณะที่อาเซียนจะอำนวยความสะดวกและสนับสนุนการดำเนินโครงการ เช่น การพยายามยกเว้นภาษีทางตรงที่จัดเก็บในประเทศสมาชิกอาเซียน การยกเว้นใบอนุญาต ค่าธรรมเนียมท่าเรือ ภาษีนำเข้าที่จัดเก็บในประเทศสมาชิกอาเซียนให้กับองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมนี เป็นต้น
โดยที่ผ่านมาคณะรัฐมนตรีเคยได้มีมติให้ความเห็นชอบต่อร่างหนังสือแลกเปลี่ยนและร่างความตกลงหรับการดำเนินโครงการ Promotion of Sustainable Agricultural Value Chains in ASEAN ซึ่งถือเป็นการดำเนินการในลักษณะเดียวกันมาแล้ว
ไม่มีผลผูกพันรัฐบาลต่อไป
ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงการต่างประเทศ และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เห็นพ้องกันว่า ร่างหนังสือแลกเปลี่ยนดังกล่าวไม่เป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 178 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย อีกทั้งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกายังเห็นว่า การให้ความเห็นชอบต่อร่างหนังสือแลกเปลี่ยนดังกล่าวไม่มีผลเป็นการสร้างความผูกพันต่อคณะรัฐมนตรีชุดต่อไปตามมาตรา 169 (1) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
ความเห็นของหน่วยงานต่าง ๆ
ขณะที่กระทรวงการคลัง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติพิจารณาแล้วเห็นชอบหรือไม่ขัดข้องต่อข้อเสนอของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ส่วนสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งเห็นว่าเรื่องดังกล่าวไม่อยู่ในหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการการเลือกตั้งและสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งที่จะพิจารณามีความเห็นได้
สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกามีความเห็นเพิ่มเติมว่าหากคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบต่อร่างหนังสือแลกเปลี่ยนดังกล่าว ก็เห็นควรมอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศแจ้งความเห็นชอบดังกล่าวไปยังสำนักเลขาธิการอาเซียนผ่านคณะผู้แทนถาวรไทยประจำอาเซียน เพื่อที่สำนักเลขาธิการอาเซียนจะได้ดำเนินการตามขั้นตอนของอาเซียนต่อไป