นายประเสริฐศักดิ์ เชิงชวโน รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า กฟผ. ได้ดำเนินการร่วมกับจังหวัดลำปาง รวมถึงพันธมิตร และคลื่น Green Wave 106.5
ทั้งนี้ เพื่อปลูกป่านำร่องมาตรฐาน Premium T-Ver ที่เทียบเท่ามาตรฐานคาร์บอนเครดิตภาคป่าไม้ระดับสากลแห่งแรกในประเทศไทย ภายใต้โครงการปลูกป่าอย่างมีส่วนร่วมของ กฟผ.
สำหรับการปลูกป่าในพื้นที่ดังกล่าวนี้ เป็นการฟื้นฟูสภาพป่าต้นน้ำในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่งาวฝั่งขวา จ.ลำปาง จำนวน 2,000 ไร่ ซึ่งจะใช้มาตรฐานการประเมินแบบสากล ที่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืน (Sustainability) และการอยู่ร่วมกันระหว่างคนกับป่า ด้วยการเปิดรับฟังความคิดเห็นของชุมชนในพื้นที่ก่อนริเริ่มดำเนินโครงการ การประเมินการพัฒนาเพื่อมุ่งไปสู่ความยั่งยืน
รวมถึงการขยายตลาดคาร์บอนเครดิตจากในประเทศสู่ต่างประเทศ ซึ่งสอดรับกับนโยบายมุ่งสู่ EGAT Carbon Neutrality ภายในปี 2593 ของ กฟผ. และ Thailand Carbon Neutrality ตามกรอบแผนพลังงานชาติ
"การปลูกป่านำร่องดังกล่าวอยู่บนพื้นที่ 25 ไร่ ด้วยกล้าไม้ 13 ชนิด จำนวน 5,000 ต้น อาทิ กัลปพฤกษ์ ชัยพฤกษ์ พะยอม เสลา เหลืองปรีดียาธร อินทนิลน้ำ"
นายประเสริฐศักดิ์ กล่าวอีกว่า โครงการปลูกป่าอย่างมีส่วนร่วมของ กฟผ. มีเป้าหมายปลูกปีละ 1 แสนไร่ รวม 1 ล้านไร่ ภายในระยะเวลา 10 ปี ระหว่างปี 2565 – 2574 และบำรุงรักษาต่อเนื่องอีก 9 ปี
โดยได้รับการสนับสนุนจากกรมป่าไม้ในการปลูกป่าและบำรุงรักษาพื้นที่ป่าด้วยกล้าไม้พันธุ์ดี เหมาะสมกับบริบทพื้นที่ พัฒนาต้นแบบศูนย์การเรียนรู้ธรรมชาติให้เป็นแหล่งศึกษาระบบนิเวศ ผลักดันโครงการที่เสริมสร้างกระบวนการปลูกป่าอย่างมีส่วนร่วม เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตด้านเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงสนับสนุนงานวิจัยที่เกี่ยวข้องเพื่อแบ่งปันข้อมูลที่สำคัญ
ซึ่ง กฟผ. ได้วางหลักการปลูกป่าร่วมกับพันธมิตร ปลูกป่าดูดซับคาร์บอนสูง ปลูกป่าในใจ และปลูกป่าเป็นยุทธศาสตร์เชิงพื้นที่ ทั้งป่าอนุรักษ์ ป่าชุมชน ป่าเศรษฐกิจ และป่าชายเลน ซึ่งสามารถดูดซับและกักเก็บคาร์บอนได้มากกว่า 1.2 ล้านตัน CO2 ต่อปี และคาดว่าจะดูดซับและกักเก็บคาร์บอนได้ทั้งสิ้น 23.6 ล้านตัน CO2 ตลอดระยะเวลาโครงการ
นายชัชวาลย์ ฉายะบุตร ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง กล่าวว่า โครงการปลูกป่าอย่างมีส่วนร่วมของ กฟผ. เป็นหนึ่งในโครงการสำคัญที่สนองนโยบายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ที่ช่วยจัดการคุณภาพอากาศและยกระดับการแก้ปัญหาสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ด้วยการดูดซับกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) เพิ่มพื้นที่สีเขียวของประเทศ
อีกทั้งยังส่งเสริมและฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศ และยกระดับคุณภาพชีวิตด้านเศรษฐกิจและสังคมของคนในชุมชน โดยนอกจากดำเนินงานในพื้นที่ ต.แม่ตีบ อ.งาว จ.ลำปาง แล้ว ยังต่อยอดขยายผลในพื้นที่อื่นได้อย่างกว้างขวางในอนาคต