นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า กนอ.ได้ดำเนินการสร้างเครือข่ายความร่วมมือทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชน เพื่อมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน รวมถึงสนับสนุนให้ผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรม และท่าเรืออุตสาหกรรมใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่มีประสิทธิภาพ เพื่อพัฒนาระบบการผลิตพลังงานทดแทน และการบริหารจัดการของเสียอุตสาหกรรม
ทั้งนี้ กนอ. ได้ประกาศเจตนารมณ์พร้อมทั้งกำหนดนโยบายในการลดก๊าซเรือนกระจก สร้างเครือข่ายความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน เพื่อมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน และสนับสนุนให้ผู้ประกอบการในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม และท่าเรืออุตสาหกรรม ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่มีประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่อง
กนอ. เร่งขับเคลื่อนพัฒนาประเทศไทยด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG โดยมุ่งสร้างความสมดุลให้เศรษฐกิจสามารถเติบโตควบคู่กับสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน ส่งเสริมผู้ประกอบการทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน ให้ลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก ทั้งในเขตนิคมอุตสาหกรรมและนอกเขตนิคมอุตสาหกรรม
โดยวางนโยบายด้านการบริหารจัดการพลังงาน การลดต้นทุน และความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ควบคู่กับการพัฒนาศักยภาพของนิคมอุตสาหกรรม ให้ตอบสนองนโยบายของรัฐบาลในเรื่อง BCG ภายใต้การดำเนินโครงการเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ และ Smart I.E.
อย่างไรก็ดี เพื่อให้ไปตามเป้าหมาย กนอ.ได้เข้าร่วมประชุมกับองค์การพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งสหประชาชาติ (UNIDO) ณ กรุงเวียนนา สาธารณรัฐออสเตรีย เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา (18-21 พ.ค.66) ภายใต้ความร่วมมือระหว่าง UNIDO กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กนอ. สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อสรุปความก้าวหน้าในการดำเนินงาน
แลกเปลี่ยนความร่วมมือในอนาคตด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมคาร์บอนต่ำเพื่อลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก การบริหารจัดการของเสีย และการพัฒนาระบบการผลิตพลังงานสะอาดแห่งอนาคต (Green hydrogen) สำหรับภาคอุตสาหกรรม โดยมีเป้าหมายร่วมกันในการลดก๊าซเรือนกระจก จำนวน 1.3 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า และลดการใช้สารมลพิษที่ตกค้างยาวนาน (Persistent Organic Pollutants: POPs) จำนวน 620 ตัน
นายวีริศ กล่าวอีกว่า กนอ. จะร่วมมือกับ UNIDO ในการประเมินศักยภาพและผลักดันให้ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของโรงงานในนิคมอุตสาหกรรม รวมถึงการพัฒนาหลักสูตรฝึกอบรมเพื่อพัฒนาศักยภาพบุคลากร (Capacity Building) ด้านการบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก และด้านเทคโนโลยี ภายใต้สถาบัน กนอ.
นอกจากนี้ กนอ. ยังร่วมประชุมกับนางอัลเฟรด แอนนา มอร์ หัวหน้าแผนกกิจการภูมิอากาศ สิ่งแวดล้อม และพลังงานระหว่างประเทศ (Mrs. Elfriede-Anna More, Head of Department VI/9- International Climate, Environment and Energy Affairs) และผู้แทนจากกระทรวงกลางด้านการดำเนินการสภาพอากาศ และสิ่งแวดล้อม พลังงาน การเคลื่อนที่ นวัตกรรม และเทคโนโลยี (The Federal Ministry for Climate Action, Environment, Energy, Mobility, Innovation and Technology) เพื่อหารือถึงแนวทางการพัฒนานโยบายและกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการของเสียอุตสาหกรรม
การพัฒนารูปแบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และการบริหารจัดการ/การบำบัดซากผลิตภัณฑ์ที่หมดอายุการใช้งาน (End of Waste) รวมถึงศึกษาดูงานด้านการพัฒนาระบบการผลิตพลังงานสะอาดแห่งอนาคต (Green hydrogen) การบริหารจัดการของเสีย และเยี่ยมชมห้องปฏิบัติการการพัฒนาพลังงานไฮโดรเจน ณ the Faculty of Technical Chemistry at Vienna University เพื่อนำมาประยุกต์ใช้กับการพัฒนาพลังงานไฮโดรเจนในภาคอุตสาหกรรม