"บีโอไอ"ดูดยักษ์ "EV" จีนเข้าไทย นำร่องเฟสแรกกว่า 6 พันล้านบาท

07 ก.ค. 2566 | 10:52 น.
อัพเดตล่าสุด :07 ก.ค. 2566 | 10:53 น.

"บีโอไอ"ดูดยักษ์ "EV" จีนเข้าไทย นำร่องเฟสแรกกว่า 6 พันล้านบาท ประสานความร่วมมือ 7 หน่วยงานมาช่วยกล่อม โชว์ะสิทธิประโยชน์ส่งเสริมการลงทุน ต่อยอดนโยบายส่งเสริมให้ไทยเป็นฐานการผลิตอีวี และชิ้นส่วนสำคัญของโลก

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ (BOI) เปิดเผยว่า บีโอไอได้ดำเนินการดึงการลงทุนจากบริษัท GAC AION New Energy Automobile หรือ GAC AION ซึ่งเป็นบริษัทรถยนต์ไฟฟ้า หรืออีวี (EV) รายใหญ่อันดับ 3 ของประเทศจีน 

ด้วยยอดขายรถยนต์ไฟฟ้ากว่า 2.7 แสนคันในปี 2565 และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 6 แสนคันในปีนี้ โดยบริษัทได้ตอบรับเดินหน้าลงทุนครั้งใหญ่ในประเทศไทย โดยจะใช้เงินลงทุนในเฟสแรกกว่า 6,000 ล้านบาท 

ทั้งนี้ บริษัท GAC AION New Energy Automobile เป็นบริษัทรถยนต์ไฟฟ้าชั้นนำอันดับต้นๆของประเทศจีนและของโลก มีความโดดเด่นในด้านนวัตกรรมยานยนต์ ทั้งยานยนต์ไฟฟ้า (EV) และยานยนต์เชื่อมต่ออัจฉริยะ (Intelligent Connected Vehicles: ICV) เช่น เทคโนโลยีแบตเตอรี่ที่รองรับการขับขี่ได้มากกว่า 1,000 กม. ระบบขับขี่อัจฉริยะและเทคโนโลยียานยนต์ไร้คนขับ ระบบการผลิตแบบอัตโนมัติด้วยความเร็วสูง 

นอกจากนี้ บริษัทยังได้พัฒนารถยนต์ไฟฟ้าแบบ High - end Luxury Supercar ที่เร็วที่สุดในโลก สามารถทำความเร็ว 100 กม./ชม. ภายใน 1.9 วินาที รวมถึงเป็นผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้ารายเดียวที่ได้รับความไว้วางใจให้พัฒนาเทคโนโลยีรถยนต์ไฟฟ้า และร่วมทุนผลิตและจำหน่ายรถยนต์กับบริษัทระดับโลก เช่นโตโยต้า ฮอนด้า เป็นต้น

อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมาบีโอไอได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งจากภาครัฐ และภาคเอกชน 7 หน่วยงาน ประกอบด้วยผู้แทนจากกรมสรรพสามิต กรมศุลกากร สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กรมการขนส่งทางบก และสมาคมส่งเสริมการรับช่วงการผลิตไทย (ไทยซับคอน) ร่วมกันให้ข้อมูลแก่บริษัท เพื่อสร้างความชัดเจนและความเชื่อมั่นในการเลือกประเทศไทยเป็นฐานการผลิตสำคัญในภูมิภาคอาเซียน  

บีโอไอดูดยักษ์ EV จีนเข้าไทย นำร่องเฟสแรกกว่า 6 พันล้าน
            
“การประชุมร่วมกันระหว่างบริษัท GAC AION กับบีโอไอและอีก 7 หน่วยงานในครั้งดังกล่าว ถือเป็นวาระสำคัญที่บีโอไอได้ผนึกหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ข้อมูลและคลายข้อสงสัยของนักลงทุนในรูปแบบ One Stop Service ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความพร้อมของประเทศไทยในการอำนวยความสะดวกแก่นักลงทุน"

โดยในที่ประชุมได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการประกอบกิจการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย ข้อกำหนดเกี่ยวกับเขตปลอดอากรและเขตประกอบการเสรี การจัดตั้งบริษัทในไทย การจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้า การจัดหาผู้ผลิตชิ้นส่วนที่ได้มาตรฐานในประเทศ 
 

และมาตรการสนับสนุนของหน่วยงานต่าง ๆ โดยเฉพาะสิทธิประโยชน์ส่งเสริมการลงทุนของบีโอไอ และมาตรการสนับสนุนรถยนต์ไฟฟ้าของกระทรวงการคลัง (EV 3) รวมทั้งร่างมาตรการใหม่ (EV 3.5) เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับ GAC AION มากยิ่งขึ้น

"การดำเนินการดังกล่าวเป็นไปตามที่รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า (EV) และชิ้นส่วนที่สำคัญของโลก บีโอไอจึงได้ออกมาตรการส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรม EV แบบครบวงจร รวมถึงการอำนวยความสะดวกในการดำเนินธุรกิจในไทย"