The Day After Tomorrow ในชีวิตจริง "กัลฟ์สตรีม" จะพังทลายลงในปี 2025

29 ก.ค. 2566 | 08:10 น.
อัปเดตล่าสุด :29 ก.ค. 2566 | 08:10 น.

The Day After Tomorrow ในชีวิตจริง เมื่อนักวิทยาศาสตร์เตือนว่า กระแสน้ำอุ่นกัลฟ์สตรีม Gulf Stream อาจจะพังทลายลงในปี 2025 หลายคนอาจสงสัยว่าจะจริงหรือไม่ และมีข้อพิสูจน์อย่างไร

 “The Day After Tomorrow” ภาพยนตร์ที่ได้รับความสนใจเป็นอย่างมากจากการถ่ายทอดเรื่องราวของโลกหลังล่มสลายด้วยภัยพิบัติทางธรรมชาติ  เนื้อเรื่องเล่าถึงเรื่องราวของนักวิทยาศาสตร์ที่มีชื่อว่า"แจ๊ค" และเพื่อนร่วมงาน เข้าไปหาตัวอย่างน้ำแข็งจากนั้นก็พบว่าชั้นน้ำแข็งเริ่มแยกออกไป

หลังจากเหตุการณ์นั้นจึงได้เข้าร่วมการประชุมของสหประชาชาติและได้พูดถึง "ภาวะโลกร้อน" ที่อาจทำให้เกิดยุคน้ำแข็งขึ้นมาอีกครั้ง แน่นอนว่าหลาย ๆ คนยังคงกังขากับสิ่งที่เขาพูดถึงเนื่องจากมันเป็นเรื่องที่แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่ยุคน้ำแข็งจะเกิดขึ้นอีกครั้ง

นั่นอาจเป็นนิยายวิทยาศาสตร์ แต่นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่า คำทำนายที่น่ากลัวอาจกลายเป็นความจริงในไม่ช้า เพราะงานวิจัยใหม่ เตือนว่ากระแสน้ำในมหาสมุทรแอตแลนติกซึ่งขับเคลื่อน กระแสน้ำอุ่นกัลฟ์สตรีม Gulf Stream อาจถล่มได้ทุกเมื่อตั้งแต่ปี 2025 เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

กระแสน้ำนี้เป็นที่รู้จักอย่างเป็นทางการในชื่อ Atlantic Meridional Overturning Circulation (AMOC) ซึ่งเป็นแรงผลักดันที่นำน้ำอุ่นจากอ่าวเม็กซิโกขึ้นสู่สหราชอาณาจักรและมีส่วนทำให้เกิดฤดูหนาวที่ไม่รุนแรงในยุโรปตะวันตก แต่ถ้ามันพังลง ผลกระทบจะร้ายแรงมาก อาจนำไปสู่หายนะต่อสภาพอากาศโลกและทุกคนบนโลก

กระแสน้ำในมหาสมุทรมีบทบาทสำคัญในสภาพอากาศปัจจุบันของโลก เพราะจะกระจายความร้อน ความเย็น และปริมาณน้ำฝนระหว่างเขตร้อนและส่วนเหนือสุดของภูมิภาคแอตแลนติก การล่มสลายจะทำให้เกิดผลกระทบร้ายแรง ไม่ว่าจะเป็นฤดูหนาวที่รุนแรงมากขึ้น ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบต่อพื้นที่บางส่วนของยุโรปและสหรัฐฯ รวมถึงเปลี่ยนการเคลื่อนตัวของลมมรสุมในเขตร้อน

ยุโรปจะจมดิ่งลงสู่น้ำแข็งลึก ขณะที่แอฟริกา แคริบเบียน และอเมริกาใต้ส่วนใหญ่ เช่น โคลอมเบีย เปรู และโบลิเวีย จะประสบกับอุณหภูมิที่พุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว   

นักวิทยาศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยโคเปนเฮเกน กล่าวว่า สถานการณ์ดังกล่าวแน่นอน 95 เปอร์เซ็นต์ ภายในสิ้นศตวรรษนี้ หากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปัจจุบันยังคงมีอยู่ ปีเตอร์ ดิตเลฟเซน ศาสตราจารย์ด้านฟิสิกส์ภูมิอากาศ มหาวิทยาลัยโคเปนเฮเกน หนึ่งในทีมวิจัย กล่าวว่า ทีมนักวิทยาศาสตร์ได้ทำการวิเคราะห์อุณหภูมิพื้นผิวน้ำทะเลในมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือ ในพื้นที่ทางตอนใต้ของกรีนแลนด์ในช่วง 150 ปี ระหว่างปี 1870-2020 ปกติแล้วอุณหภูมิพื้นผิวน้ำบริเวณนั้นจะอุ่นขึ้น จากน้ำที่กัลฟ์สตรีมลำเลียงมาจากเขตร้อน

หมายความว่า ถ้าอุณหภูมิเย็นลงก็อาจเป็นเพราะกลัฟ์สตรีมกำลังอ่อนกำลังลง จากนั้นผู้เขียนได้แยกผลกระทบของภาวะโลกร้อนที่เกิดจากมนุษย์ต่ออุณหภูมิของน้ำ เพื่อทำความเข้าใจว่า กระแสน้ำมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร พวกเขาพบสัญญาณเตือนของการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในกระแสน้ำอุ่นกัลฟ์สตรีม ซึ่งคาดการณ์ว่า มันอาจล่มสลายอย่างเร็วที่สุดในปี 2025 ไม่เกินปี 2090 แต่ช่วงเวลาที่น่าจะเกิดการล่มสลายมากที่สุดอยู่ระหว่างปี 2039-2070

งานวิจัยชิ้นใหม่ ได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Nature Communications 

หาก AMOC ล่มสลาย ความร้อนจะแผ่ไปถึงยุโรปตะวันตกได้น้อยกว่ามาก และภูมิภาคนี้ก็จะจมดิ่งสู่ฤดูหนาวที่รุนแรงมาก สถานการณ์แบบที่เห็นในภาพยนต์เรื่อง The Day After Tomorrow นั้นรุนแรงมาก

เหตุการณ์นี้เคยเกิดขึ้นมาก่อนเมื่อกว่า 12,000 ปีที่แล้ว เมื่อธารน้ำแข็งละลายอย่างรวดเร็วทำให้กัลฟ์สตรีมปิดตัวลง ส่งผลให้อุณหภูมิในซีกโลกเหนือแปรปรวนอย่างมากถึง 10-15 องศาเซลเซียสภายในหนึ่งทศวรรษ

เดิมทีปี 2019 โดยคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของสหประชาชาติเคยคาดการณ์ไว้ว่า กัลฟ์สตรีมจะอ่อนกำลังลงในศตวรรษนี้ แต่การล่มสลายทั้งหมดก่อนปี 2100 ไม่น่าเป็นไปได้ 

รายงานระบุว่า ในกรณีที่เกิดการล่มสลายอีกครั้ง ไม่เพียงแต่ฤดูหนาวในยุโรปจะเย็นลงมากเท่านั้น แต่ภัยแล้งในฤดูร้อน พายุ และคลื่นความร้อนก็มีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นบ่อยขึ้นด้วย ระดับน้ำทะเลอาจสูงขึ้นเกือบ 20 นิ้วรอบๆ แอ่งมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือ ซึ่งล้อมรอบชายฝั่งตะวันออกของสหรัฐฯ

ในที่สุดสิ่งนี้จะผลักดันให้ผู้คนที่อาศัยอยู่ตามแนวชายฝั่งหนีน้ำท่วม จะเกิดการล่มสลายของระบบนิเวศใต้ทะเลลึกเป็นวงกว้าง ในสหรัฐอเมริกา ฟลอริดาจะได้รับผลกระทบหนักเป็นพิเศษ เนื่องจากการไหลของน้ำไปทางเหนือจะหยุดชะงัก เนื่องจากไหลมารวมกันที่แนวชายฝั่งของรัฐ 

การศึกษาที่เผยแพร่เมื่อปีที่แล้วระบุว่าการยุติ AMOC อาจส่งผลกระทบต่อสหราชอาณาจักรโดยเฉพาะ นักวิจัยของมหาวิทยาลัย Exeter ได้สร้างแบบจำลองคอมพิวเตอร์และพบว่าภายในปี 2080 อากาศจะเย็นลงกว่าปีที่แล้ว 3.4 องศาเซลเซียส

คาดว่าปริมาณน้ำฝนในช่วงฤดูปลูกจะลดลง 123 มม. มันเพียงพอที่จะลดพื้นที่เพาะปลูกของสหราชอาณาจักรจากร้อยละ 32 เหลือเพียงร้อยละ 7 ซึ่งส่งผลกระทบต่อการผลิตอาหารอย่างมาก ผลกระทบจะไม่เกิดขึ้นในยุโรปและสหรัฐอเมริกา โดยการคาดการณ์ว่าการล่มสลายของ AMOC จะเพิ่มความแห้งแล้งใน เขตซาเฮล ในแอฟริกา

ข้อมูล : dailymailbbctheguardiancnn