วัน Earth Overshoot Day ในวันที่ 2 สิงหาคม 2566 เป็นวันที่จริงจังสำหรับทุกคนบนโลกที่จะต้องพิจารณาวิถีชีวิตและการใช้ทรัพยากรธรรมชาติเสียใหม่ โลกของเราสามารถสร้างทรัพยากรขึ้นใหม่ได้ในอัตราที่จำกัดเท่านั้น แต่เราใช้มากกว่าอัตรานี้ทุกปี
สำหรับปีนี้ ง่ายๆ ก็คือ มนุษยชาติเผาผลาญทรัพยากรของโลกภายในเวลาไม่ถึง 8 เดือน หรือเหลือเเค่ 4 เดือนก่อนที่จะหมดปี เท่ากับว่าในอัตราการใช้ทรัพยากรปัจจุบัน มนุษย์ต้องใช้โลกถึง 1.7 ใบ เพื่อรองรับความต้องการของประชากรโลกอย่างยั่งยืนในหนึ่งปี
Earth Overshoot Day คืออะไร
วันในรอบปีที่มนุษยชาติใช้ทรัพยากรไปมากกว่าที่โลกของเราสามารถจัดหา สร้างและทดแทนอย่างยั่งยืนได้ภายในหนึ่งปีนั่นเอง
และนี่คือ Earth Overshoot Day ที่ผ่านมา
Earth Overshoot Day เกิดขึ้นเพื่อสร้างความตระหนักเกี่ยวกับการขาดแคลนทรัพยากรที่เรากำลังสร้างขึ้นด้วยวิถีชีวิตสมัยใหม่ เมื่อการสร้างทรัพยากรใหม่ถึงขีดจำกัด
รายงานจากโกลบอล ฟุตพรินต์ เน็ตเวิร์ค (GFN) หรือ "เครือข่ายรอยเท้านิเวศโลก" ระบุว่า วันที่ปีนี้เร็วกว่าวันครั้งแรกในวันที่ 25 ธันวาคม 1971 หลายเดือน โดยในปี 1971 Earth Overshoot Day อยู่ในช่วงเดือนธันวาคม แต่ 10 ปีที่ผ่านมานี้ วันดังกล่าวอยู่ในช่วงเดือน กรกฎาคม - สิงหาคม อย่างปีที่แล้ว Over Shoot Day ตกวันที่ 28 ก.ค. 2565
แต่มีข่าวดีเมื่อมนุษย์ใช้ทรัพยากรประจำปีช้ากว่าปี 2565 ประมาณ 5 วัน แต่ก็ยังมีอีกหลายอย่างที่ต้องเปลี่ยนแปลง เพื่อหยุดมนุษยชาติไม่ให้เผาผลาญทรัพยากรมูลค่าเกือบโลกสองดวงทุกๆ 12 เดือน
วัน Earth Overshoot Day คำนวณอย่างไร
Overshoot Day คำนวณโดยใช้ข้อมูลของ UN เพื่อคำนวณ "รอยเท้าทางนิเวศ" ของแต่ละประเทศและความจุทางชีวภาพของโลก ความสามารถทางชีวภาพคือความสามารถของโลกในการผลิตทรัพยากรหมุนเวียนและดูดซับของเสียในขณะที่รอยเท้าทางนิเวศวิทยาวัดความต้องการในธรรมชาติ รวมถึงการใช้ทรัพยากรและการปล่อยมลพิษ
(ความจุทางชีวภาพของโลก / รอยเท้าทางนิเวศน์ของมนุษยชาติ) x 365 = Earth Overshoot Day
ภาวะโลกร้อนที่เกิดจากก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จำนวนมหาศาลจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลกำลังทำให้เกิดการขาดดุล โดยความต้องการพลังงานทั่วโลกเพิ่มขึ้นร้อยละ 1 ในปีที่แล้ว รายงานการทบทวนสถิติของพลังงานโลกเปิดเผยเมื่อวันจันทร์ และร้อยละ 82 ของอุปทานทั้งหมดมาจากการผลิตน้ำมันและก๊าซ
ตามข้อมูลของ Global Footprint Network กล่าวว่าการลดการปล่อยมลพิษทั่วโลกให้ได้ร้อยละ 43 ภายในสิ้นทศวรรษนี้จะต้องเลื่อนวัน Overshoot Day ออกไป 19 วันทุกปีระหว่างนี้ถึงปี 2573/2030
รอยเท้าทางนิเวศ คืออะไร
การวัดผลกระทบจากกิจกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์ที่ส่งผลต่อระบบนิเวศน์ โดยคำนวณจากปริมาณการบริโภคและปริมาณขยะที่เกิดขึ้น แล้วเทียบกับอัตราการฟื้นฟูระบบนิเวศน์ คำว่ารอยเท้านิเวศน์ถูกใช้ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2539 โดยนักวางแผนชุมชนมหาวิทยาลัยบริทิชโคลัมเบีย ประเทศแคนาดา ซึ่งอยู่บนพื้นฐานของแนวคิดที่ว่าสิ่งมีชีวิตทุกชนิดจำเป็นต้องบริโภคทรัพยากรจากระบบนิเวศน์เพื่อการดำรงชีวิต โดยรอยเท้าขนาดใหญ่หมายถึงการบริโภคทรัพยากรมากกว่ารอยเท้าขนาดเล็ก
ประเทศใดใช้ทรัพยากรมากที่สุด
บางประเทศใช้ทรัพยากรเร็วกว่าประเทศอื่นๆ จากภาพจะเห็นว่าคนในอเมริกา Overshoot Day จะตรงกับวันที่ 13 มีนาคม ส่วนเบลเยียม จะเป็นวันที่ 26 มีนาคม ฝรั่งเศส 5 พฤษภาคม และสเปน 12 พฤษภาคม ขณะที่กาตาร์วันที่ 10 กุมภาพันธ์และลักเซมเบิร์กในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ส่วนเปรูเเละไทย วันที่ 3 กันยายน
Global Footprint Network ระบุว่าการเพิ่มสัดส่วนของแหล่งพลังงานคาร์บอนต่ำทั่วโลกจาก 39 เปอร์เซ็นต์ เป็น 75 เปอร์เซ็นต์จะทำให้วันเวลาถอยหลังไป 26 วัน
การลดขยะจากอาหารลงครึ่งหนึ่งจะทำให้มีเวลา 13 วัน และการปลูกป่าในพื้นที่ 350 ล้านเฮกตาร์จะทำให้มีเวลา 8 วัน
นโยบายระดับประเทศ เช่น การสร้างเมือง 15 นาที (15-minute city) หรือ "La ville du quart d’heure" แนวคิดของ รองศาสตราจารย์ คาร์ลอส โมเรโน (Carlos Moreno) แห่งมหาวิทยาลัยซอร์บอนน์ กรุงปารีส ที่จะทำให้คนสามารถเข้าถึงความจำเป็นทุกสิ่งอย่างในชีวิตประจำวันในระยะเวลา 15 นาที ไม่ว่าจะเดินหรือปั่นจักรยาน เช่นเดียวกับการแนะนำสัปดาห์ทำงาน 4 วัน อาจเลื่อนวันออกไป 11 วัน
การส่งเสริมการใช้การขนส่งที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมสามารถช่วยเลื่อนวันออกไปในปีหน้า หาก 1 ใน 3 ของระยะที่เดินทาง โดยรถยนต์ถูกแทนที่ด้วยระบบขนส่งสาธารณะ เดินหรือขี่จักรยาน วันที่นั้นจะลดลงในอีก 13 วันต่อมา
ข้อมูล
Estimating the Date of Earth Overshoot Day 2023
'Wrong direction': Fossil fuels still dominate despite growth in renewables, report reveals