ปรากฏการณ์ "เอลนีโญ" ยังคงส่งผลกระทบอย่างต่อเนื่องกับธรรมชาติ ล่าสุดอุณหภูมิมหาสมุทรต่างๆ ของโลกมีอุณหภูมิสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในสัปดาห์นี้ ซึ่งทำให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบ ที่อาจเกิดขึ้นกับสภาพอากาศของโลก และสิ่งมีชีวิตในทะเล
ทั้งนี้จากข้อมูลสังเกตการณ์สภาพอากาศของสหภาพยุโรป (EU) บ่งชี้ว่า อุณหภูมิพื้นผิวมหาสมุทรเพิ่มขึ้นเป็น 20.96 องศาเซลเซียสเมื่อวันที่ 30 ก.ค. 66 ที่ผ่านมา
โฆษกของสำนักงานบริการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศโคเพอร์นิคัส ได้ออกมาระบุเมื่อวันศุกร์(4 ส.ค.) ที่ผ่านมาว่า อุณหภูมิพื้นผิวมหาสมุทรทำสถิติสูงสุดครั้งก่อนที่ 20.95 องศาเซลเซียสในเดือนมี.ค. 2559
สำนักงานด้านมหาสมุทรและบรรยากาศแห่งชาติของสหรัฐ ซึ่งใช้ฐานข้อมูลที่แตกต่างกันนั้น ก็ได้บันทึกแนวโน้มอุณหภูมิที่คล้ายกันในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา โดยระบุว่าอุณหภูมิพื้นผิวทะเลโดยเฉลี่ยแตะระดับสูงเป็นประวัติการณ์
ทั้งนี้เมื่อวันที่ 4 เม.ย. 66 ที่ 21.06 องศาเซลเซียส สูงกว่าสถิติเดิมที่ทำไว้ที่ 21.01 องศาเซลเซียสในเดือน มี.ค. 59 และเมื่อวันที่ 1 ส.ค. 66 ที่ผ่านมาอุณหภูมิเฉลี่ยอยู่ที่ 21.03 องศาเซลเซียส
ขณะที่ด้านนักวิทยาศาสตร์หลายแห่ง ต่างออกมาระบุว่า มหาสมุทรได้ดูดซับ 90% ของความร้อนส่วนเกินที่เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ นับตั้งแต่เริ่มต้นของยุคอุตสาหกรรม ซึ่งความร้อนส่วนเกินนี้ยังคงสะสมเป็นก๊าซเรือนกระจก
โดยส่วนใหญ่มาจากการเผาไหม้ของน้ำมัน ก๊าซ และถ่านหิน และยังคงก่อตัวเพิ่มขึ้นในชั้นบรรยากาศของโลก ทำให้อุณหภูมิเฉลี่ยของมหาสมุทรทั่วโลก ได้ทำลายสถิติความร้อนตามฤดูกาลนับตั้งแต่เดือน เม.ย. 66
อย่างไรก็ตามความร้อนที่สูงเกินไปของมหาสมุทร เชื่อว่าจะมีผลกระทบอื่นๆ ต่อพืช และสัตว์ทะเล รวมทั้งการอพยพของสิ่งมีชีวิตบางชนิด และการแพร่กระจายของสิ่งมีชีวิตที่เป็นภัยคุกคามต่อระบบนิเวศ รวมทั้งจากภาวะดังกล่าวอาจทำให้จำนวนปลาลดลง และทำลายความมั่นคงทางอาหารในพื้นที่บางส่วนของโลก
นอกจากนี้ประเด็นของมหาสมุทรที่มีอุณหภูมิร้อนขึ้นจะทำให้ความสามารถในการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทำได้น้อยลง ซึ่ง
ทั้งนี้ มีแนวโน้มว่าอุณหภูมิพื้นผิวมหาสมุทรอาจจะสูงขึ้นอีก เนื่องจากปรากฏการณ์ "เอลนีโญ" ซึ่งจะทำให้น้ำร้อนขึ้นนั้น เป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้นขึ้นเท่านั้น และจะเพิ่มความรุนแรงได้ในอนาคต