“ภัยแล้ง”ส่อรุนแรงและลากยาว เอกชนคาดสร้างความเสียหาย5.3หมื่นล้าน

02 ส.ค. 2566 | 06:02 น.
อัพเดตล่าสุด :02 ส.ค. 2566 | 06:38 น.

กกร.ถก สทนช.รับมือภัยแล้งลามกระทบ EEC หลังปริมาณน้ำฝนสะสมในช่วง ม.ค.-ก.ค. 66 ต่ำกว่าระดับปกติในทุกพื้นที่หวั่นแล้งรุนแรงและลากยาวข้ามปีคาดสร้างความเสียหาย5.3หมื่นล้านบาท

นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย ในฐานะประธาน คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน  (กกร.) เปิดเผยถึงสถานการณ์"ปัญหาภัยแล้ง"ในปีนี้ต่อเนื่องปีหน้าว่า มีแนวโน้มรุนแรงขึ้นมากกว่าคาด ปริมาณน้ำฝนสะสมในช่วง ม.ค.-ก.ค. 66 ต่ำกว่าระดับปกติในทุกพื้นที่ โดยเฉพาะภาคกลาง มีปริมาณน้ำฝนต่ำกว่าปกติถึง 40% เมื่อพิจารณาปริมาณน้ำในเขื่อนใช้การได้ ณ เดือนกรกฎาคม 2566

นายผยง ศรีวณิช ประธาน คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน  (กกร.)

พบว่า ปริมาณน้ำในเขื่อนในอยู่ในระดับวิกฤตใน ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันตก ภาคตะวันออก โดยเฉพาะภาคกลางและภาคตะวันตกมีปริมาณน้ำใช้การได้ใกล้เคียงกับปี 2558 ซึ่งเป็นปีที่ไทยเผชิญภัยแล้งรุนแรง ประเมินว่า"ภัยแล้ง"อาจสร้างมูลค่าความเสียหายสูงถึง 5.3 หมื่นล้านบาท จึงต้องให้ความสำคัญต่อการแก้ไขปัญหาภัยแล้งและผลกระทบต่อภาคการเกษตรในช่วงปลายปี 66 ถึงครึ่งแรกของปี 67

“ภัยแล้ง”ส่อรุนแรงและลากยาว เอกชนคาดสร้างความเสียหาย5.3หมื่นล้าน

ดังนั้นกกร. ได้มีการหารือร่วมกับสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการน้ำ ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) โดยภาครัฐรับจัดทำ Water Balance ของแต่ละอ่างเก็บน้ำใหม่ และทบทวนแผนบริหารจัดการน้ำล่วงหน้า โดยเฉพาะอ่างฯ บางพระ อ่างฯ หนองปลาไหล และอ่างฯ ประแสร์ เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือผลกระทบจาก "เอลนีโญ"ที่มี cycle ยาวนานและผันผวนมากขึ้น

 

 

 

“ภัยแล้ง”ส่อรุนแรงและลากยาว เอกชนคาดสร้างความเสียหาย5.3หมื่นล้าน

นอกจากนี้ กกร. ได้นำเสนอให้เร่งรัดโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด จ.จันทบุรี ซึ่งเป็นมาตรการสร้างความมั่นคงระยะยาวที่ต้องดำเนินการเร่งด่วน และขอให้ทบทวนแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี โดยเฉพาะการพัฒนาแหล่งน้ำสำรองในพื้นที่ EEC และพื้นที่อื่นๆ ทั้งนี้ การดำเนินการในพื้นที่ EEC (EEC sandbox) ที่มีกฎหมายเฉพาะพื้นที่ ต้องทำให้เป็นรูปธรรม สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในพื้นที่อื่นๆของประเทศได้ต่อไป ซึ่งการแก้ปัญหาเรื่องนี้ จะนำไปสู่การลดความเหลื่อมล้ำและความรุนแรงของปัญหาหนี้บนโครงสร้างพื้นฐานของประเทศที่ยังพึ่งพาภาคเกษตร