กฟผ.จับมือออสเตรเลีย เร่งพัฒนาระบบแบตเตอรี่ สร้างความมั่นคงไฟฟ้าไทย

10 ส.ค. 2566 | 07:02 น.
อัปเดตล่าสุด :10 ส.ค. 2566 | 11:08 น.

ปัจจุบันทั่วโลกกำลังมุ่งสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปีค.ศ 2050 และสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุดทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ในปีค.ศ.2065

ทั้งนี้การเปลี่ยนผ่านของภาคพลังงานจึงถือเป็นโอกาส และความท้าทายของทุกประเทศ ที่ต้องเร่งเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ควบคู่กับการรักษาระบบความมั่นคงของไฟฟ้า

ออสเตรเลียถือเป็นประเทศหนึ่งที่พยายามผลักดันนำพลังงานหมุนเวียนมาใช้มากขึ้น จากปัจจุบันการผลิตไฟฟ้าส่วนใหญ่มาจากเชื้อเพลิงฟอสซิล โดยเฉพาะถ่านหินที่มีสัดส่วนถึง 53% จากความต้องการใช้ไฟฟ้าราว 3.27 หมื่นเมกะวัตต์ มีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ที่มาจากพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม และพลังงานนํ้าอยู่ที่ราว 25.4%

รัฐวิคตอเรียเป็นตัวอย่าง 1 ใน 6 รัฐของออสเตรเลีย ที่มีนโยบายเร่งการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานที่ชัดเจน โดยตั้งเป้าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี ค.ศ. 2045 จากการเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนให้ได้ 95% ภายในปี 2035 โดยมีกำลังผลิตจากพลังงานลมนอกชายฝั่ง 9 พันเมกะวัตต์ ภายใน ปีค.ศ.2040 และมีระบบกักเก็บพลังงาน 6.3 พันเมกะวัตต์ ภายในปีค.ศ. 2035

นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ชี้ให้เห็นว่า เมื่อทั่วโลกมุ่งเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทน เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ระบบกักเก็บพลังงานหรือแบตเตอรี่จึงเข้ามามีส่วนสำคัญที่จะช่วยรักษาเสถียรภาพของระบบไฟฟ้าจากความไม่แน่นอนในการผลิตไฟฟ้า หรือช่วยสร้างความมั่นคงให้ระบบไฟฟ้า และลดภาระค่าไฟฟ้าให้กับผู้ใช้ไฟฟ้า

ในอนาคตประเทศไทยมีความจำเป็นต้องพึ่งระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่มากขึ้นถึง 6,500 เมกะวัตต์ จากการมีสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนที่เพิ่มมากขึ้นตามร่างแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าหรือพีดีพี ที่อยู่ระหว่างจัดทำ ที่คาดว่าจะมีพลังงานแสงอาทิตย์ไม่ตํ่ากว่า 12,139 เมกะวัตต์ พลังงานแสงอาทิตย์ลอยนํ้า 2,725 เมกะวัตต์ และพลังงานลม 2,989 เมกะวัตต์ ภายในปี 2580 เป็นต้น โดยกฟผ.ได้เสนอพลังงานแสงอาทิตย์ลอยนํ้าเข้าไปอยู่ในแผนพีดีพีราว 1 หมื่นเมกะวัตต์

กฟผ.จับมือออสเตรเลีย เร่งพัฒนาระบบแบตเตอรี่ สร้างความมั่นคงไฟฟ้าไทย

จากปัจจุบันกฟผ. ได้ดำเนินในการรักษาเสถียรภาพของพลังงานหมุนเวียนโครงการนำร่องแล้ว 2 แห่ง ได้แก่ สถานีไฟฟ้าแรงสูงบำเหน็จณรงค์ จ.ชัยภูมิ จำนวน 16 เมกะวัตต์ และสถานีไฟฟ้าแรงสูงชัยบาดาล จ.ลพบุรี จำนวน 21 เมกะวัตต์ ใช้เงินลงทุนไปราว 600 ล้านบาท

ขณะที่โครงการ Victorian Big Battery (VBB) ของรัฐวิคตอเรีย ถือเป็นระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่ที่ใหญ่ที่สุดในออสเตรเลีย ขนาด 300 เมกะวัตต์ ได้รับการพัฒนาโดยบริษัท Neoen สัญชาติฝรั่งเศส ร่วมกับ Tesla และ AusNet Services เป็นตัวอย่างสำคัญที่ช่วยสร้างความมั่นคงให้ระบบไฟฟ้า และลดภาระค่าไฟฟ้าให้กับผู้ใช้ไฟในรัฐวิคตอเรียได้ แม้ว่าโครงการดังกล่าวนี้จะใช้เงินลงทุนสูงราว 3.6 พันล้านบาทก็ตาม แต่สามารถเก็บพลังงานไฟฟ้าได้ 450 เมกะวัตต์-ชั่วโมง สามารถจ่ายไฟฟ้าได้นาน 1 ชั่วโมงครึ่ง หรือเท่ากับการจ่ายไฟฟ้าให้บ้านเรือนได้กว่า 5 แสนหลังคาเรือน

ระบบแบตเตอรี่ของ Victorian Big Battery เป็นเทคโนโลยี Tesla Megapack รุ่นแรก มีจุดเด่นคือติดตั้งได้ง่าย มีอายุใช้งานนาน 20 ปี มีจำนวน Megapack ที่มีลักษณะเป็นตู้คอนเทนเนอร์ ทั้งหมด 212 ตู้(1 Megapack จ่ายไฟฟ้าได้ 1.5 เมกะวัตต์ เก็บพลังงานไฟฟ้าได้สูงสุด 3 เมกะวัตต์-ชั่วโมง)

ในช่วงฤดูร้อนของทุกปี VBB จะมีสัญญาสำรองไฟฟ้า 250 เมกะวัตต์ กับหน่วยงานกำกับดูแลตลาดพลังงานของออสเตรเลีย หรือ Australian Energy Market Operator - AEMO เพื่อจ่ายไฟฟ้าเข้าสู่ระบบส่งเชื่อมระหว่างรัฐวิคตอเรีย-นิวเซาท์เวลส์ ในช่วงเวลาที่เกิดความขัดข้องของระบบส่งเชื่อมระหว่างรัฐวิคตอเรียและรัฐนิวเซาท์เวลส์ ภายใต้สัญญา Systems Integrity Protection Scheme (SIPS) VBB จึงช่วยลดโอกาสการเกิดไฟฟ้าดับในรัฐวิคตอเรียในช่วงหน้าร้อนที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูง ส่งผลให้ระบบไฟฟ้ามั่นคงขึ้น

ส่วนกำลังผลิตไฟฟ้าที่เหลือของ Victoria Big Battery จะถูกบริหารจัดการโดย Neoen เพื่อซื้อไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานหมุนเวียนมากักเก็บไว้ และขายเข้าระบบไฟฟ้าของออสเตรเลียเมื่อมีความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น

ดังนั้น VBB จึงมีส่วนช่วยเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนในรัฐวิคตอเรีย สนับสนุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมและแสงอาทิตย์ ช่วยกักเก็บพลังงานราคาถูกในช่วงที่มีแสงแดดและมีลมพัด เพื่อจ่ายพลังงานในช่วงที่มีความต้องการ ช่วยให้รัฐวิคตอเรียมีไฟฟ้าเพิ่มขึ้น ลดความเสี่ยงไฟฟ้าดับและค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากไฟฟ้าดับ ส่งผลให้ระบบไฟฟ้ามั่นคงขึ้น และสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดของรัฐวิคตอเรีย

ขณะที่กฟผ. มุ่งมั่นจะพัฒนาเทคโนโลยีที่เข้ามาช่วยผลักดันให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายในการลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยได้ร่วมมือกับองค์การวิจัยวิทยาศาสตร์และอุตสาหกรรมแห่งเครือจักรภพ (Commonwealth Scientific & Industrial Research Organisation : CSIRO) ซึ่งเป็นหน่วยงานวิจัยวิทยาศาสตร์แห่งชาติออสเตรเลีย เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีที่ช่วยลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ ผ่านบันทึกข้อตกลงความเป็นไปได้ทางธุรกิจด้านระบบกักเก็บพลังงานในประเทศไทย ที่จะร่วมกันศึกษาระบบกักเก็บพลังงาน ครอบคลุมการออกแบบและความปลอดภัยของระบบกักเก็บพลังงาน รวมถึงการศึกษาถึงห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ของระบบกักเก็บพลังงาน ช่วยสร้างเสถียรภาพให้กับพลังงานหมุนเวียนของไทยให้มากขึ้นต่อไป

หน้า 7 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3912 วันที่ 10 -12 สิงหาคม พ.ศ. 2566