นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อํานวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.)กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า สนค.ได้ทำการศึกษาความเหลื่อมล้ำที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ที่มีผลต่อเศรษฐกิจไทย โดยพบว่า การเปลี่ยนแปลงในระดับโลกที่แม้จะเกิดขึ้นอย่างช้า ๆ
แต่ส่งผลกระทบในวงกว้าง เพราะการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ส่งผลให้โลกมีอุณหภูมิเฉลี่ยและระดับน้ำทะเลสูงขึ้น เกิดภัยพิบัติ น้ำท่วม และภัยแล้งบ่อยครั้ง มีแนวโน้มจะส่งผลให้ความเหลื่อมล้ำของไทยเพิ่มขึ้น เนื่องจากประชาชนกลุ่มผู้มีรายได้น้อย ยังต้องพึ่งพาภาคการเกษตรเพื่อหาเลี้ยงชีพ ภัยพิบัติที่เกิดขึ้นกับพื้นที่เกษตรกรรมจึงส่งผลกระทบต่อรายได้ของคนกลุ่มนี้โดยตรง
สำหรับรายละเอียดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกที่ส่งผลกระทบต่อไทย รายได้ของเกษตรกรลดลง โดยเกษตรกรส่วนใหญ่ขาดทุนจากผลผลิตที่เสียหาย ปริมาณผลผลิตไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ อันมีสาเหตุมาจากภัยธรรมชาติและสภาพอากาศแปรปรวน และหากการเพาะปลูกในปีดังกล่าวต้องประสบกับภัยธรรมชาติซ้ำซ้อน เกษตรกรบางส่วนอาจต้องกู้ยืมเงินทุนมาเพาะปลูกในฤดูกาลใหม่ โดยหวังว่าจะนำกำไร
จากการขายผลผลิตมาชำระหนี้เงินกู้ยืม หรือจำเป็นต้องขายทรัพย์สินที่มีอยู่ ทำให้ความมั่งคั่งลดลง ส่งผลให้เกษตรกรประสบภาวะยากจน มีภาระหนี้สินจำนวนมาก เกษตรกรไม่สามารถออกจากกับดักหนี้ได้ เกิดเป็นปัญหาความเหลื่อมล้ำที่จำเป็นต้องพึ่งพาความช่วยเหลือจากภาครัฐในการเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้น
ทั้งนี้ ยังกระทบต่อการตัดสินใจของนักลงทุนต่างชาติ อย่างในปี 2554 ที่ไทยเผชิญอุทกภัยครั้งใหญ่ ส่งผลให้ภาคการผลิตอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบ โดยสาขาการผลิตอุตสาหกรรมในไตรมาสที่ 4 ปี 2554 หดตัวถึงร้อยละ 21.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า เนื่องจากอุปสรรคในการผลิตสินค้า และปัญหาด้านโลจิสติกส์ ยิ่งไปกว่านั้น อุตสาหกรรมที่มีความอ่อนไหวต่อภัยธรรมชาติ เช่น การผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ส่วนหนึ่งตัดสินใจย้ายหรือขยายฐานการผลิตจากไทยไปยังประเทศใกล้เคียงเพื่อป้องกันความเสี่ยง ขณะที่ปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้นในไทยบ่อยครั้ง ยังเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์ไม่พิจารณาไทยเป็นฐานการผลิต เนื่องจากเป็นอุตสาหกรรมที่ต้องใช้น้ำในปริมาณมาก แนวคิดเรื่องการกระจายความเสี่ยงของนักลงทุนต่างชาติ
ในขณะนั้น ส่งผลให้ความต้องการแรงงานในไทยลดลง และประเทศสูญเสียโอกาสจากการลงทุน แรงงานที่สูญเสียงานจะขาดรายได้ ซ้ำเติมปัญหาความเหลื่อมล้ำให้รุนแรงยิ่งขึ้นขณะเดียวกัน มีปัญหาเงินเฟ้อจากราคาสินค้าเกษตรสูงขึ้น โดยผลกระทบของอุทกภัยในปี 2554 ที่ทำให้เกิดการขาดแคลนสินค้าเกษตร ผลักดันให้ราคาเพิ่มสูงขึ้น สินค้าที่ได้รับผลกระทบในขณะนั้น ได้แก่ ข้าว น้ำตาลทราย ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง เนื้อไก่ และกุ้งแช่แข็ง ซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นสินค้าพื้นฐานที่คนไทยมีการบริโภคเป็นปกติแทบทั้งสิ้น
ขณะที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีการคาดการณ์ในเดือนพฤษภาคม 2566 ว่า ภัยแล้งจากปรากฎการณ์เอลนีโญ จะเกิดขึ้นในไทยตั้งแต่ช่วงปลายปี 2566 เป็นต้นไป และอาจยืดเยื้อไปจนถึงปี 2568 ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อผลผลิตสินค้าเกษตร ซึ่งจะทำให้ประชาชนได้รับผลกระทบจากค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้น ซ้ำเติมสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อกลุ่มเปราะบาง
นอกจากนี้ ยังมีผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหาร แม้ว่าไทยอาจได้รับอานิสงส์จากความต้องการอาหารจากการขาดแคลนอาหารในพื้นที่อื่น ๆ ของโลก ส่งผลให้ราคาสินค้าเกษตรส่งออกของไทยมีราคาสูงขึ้น แต่หากไทยประสบภาวะผลผลิตทางการเกษตรขาดแคลน และราคาสูงขึ้น อาจส่งผลให้ไทยสูญเสียความสามารถในการแข่งขันด้านราคา ทำให้การส่งออกสินค้าเกษตรที่ได้รับผลกระทบลดน้อยลง
แนวทางการแก้ปัญหาเพื่อลดความเหลื่อมล้ำที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลง
ของสภาพภูมิอากาศ หน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน จำเป็นต้องเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลง โดยส่งเสริมให้เกษตรกรใช้เทคโนโลยีในภาคการเกษตร เช่น การทำการเกษตรแบบอัจฉริยะ (Smart Farming) และเกษตรแบบแม่นยำ (Precision Farming) นำเอาเทคโนโลยีเข้ามาปรับใช้กับภาคการเกษตร ทำให้เกษตรกรสามารถใช้น้ำได้อย่างตรงจุด เพียงพอต่อความต้องการ ซึ่งจะเป็นแนวทางในอนาคตสำหรับการลดการใช้น้ำในภาคการเกษตร โดยภาครัฐจะมีส่วนสำคัญในการช่วยเหลือให้เกษตรกรเข้าถึงเงินทุน และให้ความรู้เกี่ยวกับการปรับใช้เทคโนโลยีในการผลิต ซึ่งนอกจากเทคโนโลยีจะช่วยแก้ไขปัญหาแรงงานในภาคการเกษตรในปัจจุบันที่ลดลงแล้ว ก็คาดว่าจะช่วยให้เกษตรกรสามารถป้องกันความเสียหายได้ง่ายขึ้น และเพิ่มผลผลิตต่อพื้นที่เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นด้วยและต้องศึกษา วิจัย และพัฒนาพันธุ์พืชที่ทนต่อความแล้ง หรือน้ำท่วมขัง รวมทั้งให้ผลผลิตต่อไร่สูง รวมทั้งส่งเสริมให้เกษตรกรเพิ่มมูลค่าผลผลิตด้วยเกษตรอินทรีย์ เนื่องจากสินค้าเกษตรพื้นฐานในปัจจุบันมีคู่แข่งจำนวนมาก ซึ่งส่วนใหญ่มักแข่งขันกันในด้านราคาเป็นหลัก ส่งผลให้ผู้ส่งออกต้องกดราคารับซื้อผลผลิตเพื่อให้ได้ราคาที่สามารถแข่งขันได้ เกิดเป็นผลเสียต่อเกษตรกรในระยะยาว
ภาครัฐจึงควรสนับสนุนให้เกษตรกรผลิตสินค้าที่มีมูลค่าสูง เพื่อให้ส่วนต่างกำไรที่เกษตรกรได้รับเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสินค้าเกษตรอินทรีย์ที่มีตลาดต่างประเทศรองรับ และผู้บริโภคในกลุ่มดังกล่าวให้ความสนใจในคุณภาพและความปลอดภัยของสินค้ามากกว่าปัจจัยด้านราคา โดยภาครัฐสามารถสนับสนุนเกษตรกรผ่านการบ่มเพาะให้ความรู้ การหาตลาด การออกแบบระบบการตรวจสอบย้อนกลับ และการสร้างมาตรฐานรับรองสินค้าดังกล่าว เพื่อให้สินค้าที่ไปถึงมือผู้บริโภค