นายหม่า ตาว ผู้อำนวยการสำนักงานภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) กล่าวในงานสัมมนา “Road to Net Zero โอกาสและความท้าทายทางธุรกิจ” จัดโดยฐานเศรษฐกิจ มัลติมีเดีย และเนชั่นกรุ๊ป ที่สยามพารากอน วันนี้ (5 ก.ย.) ว่า อุตสาหกรรมการบินโลกนั้นมีความมุ่งมั่นที่จะร่วม ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็น ก๊าซเรือนกระจก ที่เป็นตัวการก่อภาวะโลกร้อนและสร้างปัญหาสภาพอากาศโลกแปรปรวน โดยทาง ICAO ซึ่งเป็นหน่วยงานกลางระหว่างประเทศภาคีสมาชิกจำนวนกว่า 190 ประเทศ ในการออกกฎระเบียบและมาตรฐานข้อปฏิบัติด้านการบินพลเรือนระหว่างประเทศ ได้แสดงเจตนารมณ์ชัดเจนที่จะมุ่งสู่เป้าหมายลดการปล่อยก๊าซโลกร้อนเป็นศูนย์ (net zero goal) ในอุตสาหกรรมการบินพลเรือนภายในปีค.ศ. 2050 เพื่อให้สอดคล้องกับบริบทโลก
“การทำงานร่วมกันคือหัวใจสำคัญ” ผู้อำนวยการ ICAO กล่าวพร้อมยกตัวอย่างแผนยุทธศาสตร์ที่เรียกว่า ICAO Global Coalition for Sustainable Aviation ซึ่งเป็นเวทีหารือของภาคีสมาชิก 190 กว่าประเทศมาร่วมกันแลกเปลี่ยนและพัฒนาความคิดใหม่ๆ และเร่งกระบวนการนำนวัตกรรมต่างๆมาใช้ เพื่อลดการปล่อยก๊าซโลกร้อนในอุตสาหกรรมการบินไม่ว่าจะเป็นในส่วนของภาคพื้นดินหรือบนอากาศ ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจะทำงานร่วมกัน
“ผมมองว่าในการจะมุ่งสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้ เราต้องประสานงานกันอย่างใกล้ชิดระหว่างภาคีสมาชิกซึ่งประเทศไทยก็เป็นส่วนหนึ่งในนั้น แน่นอนว่าในระหว่างทางมีทั้งความท้าทายแต่ขณะเดียวกันก็เปิดโอกาสใหม่ทางธุรกิจด้วยเช่นกัน”
ผู้อำนวยการ ICAO ยังได้ยกตัวอย่างความริเริ่มใหม่ที่เรียกว่า ACT-SAF program ที่ ICAO ริเริ่มขึ้นเพื่อสนับสนุนประเทศที่เป็นภาคีสมาชิกในการพัฒนาและนำแหล่งพลังงานใหม่ที่เป็นพลังงานสะอาดมาใช้ในอุตสาหกรรมการบิน โดยความสนับสนุนที่ว่านี้ครอบคลุมถึงการให้ความช่วยเหลือตามความต้องการของภาคีสมาชิก เช่นช่วยทำรายงานศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ การพัฒนานโยบายและกฎเกณฑ์ต่างๆ รวมทั้งการให้คำแนะนำปรึกษาในภาคปฏิบัติเพื่อให้สามารถหาแหล่งสนับสนุนทางการเงินสำหรับโครงการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (green funding) เป็นโครงการระหว่างรัฐบาลของประเทศภาคีสมาชิกกับภาคส่วนต่างๆที่เกี่ยวข้อง
ยกตัวอย่างประเทศไทย ซึ่งเป็น 1 ใน 130 ประเทศที่เข้าร่วม ACT-SAF program ของ ICAO มีโครงการพัฒนาพลังงานทางเลือกใหม่โดยบริษัทพลังงานชั้นแนวหน้าอย่าง "บางจาก" เข้ามาร่วมด้วย ซึ่งจะเริ่มเดินหน้าโครงการได้ภายในสิ้นปี 2024 นับเป็นข่าวดีอย่างยิ่งและนี่เป็นตัวอย่างอันหนึ่งภายใต้โครงการความริเริ่มของ ICAO
ก่อนหน้านี้ ICAO ยังมีกลไกที่เรียกว่า LTAG สำหรับสนับสนุนการสร้างสรรค์นวัตกรรมด้านพลังงานเชื้อเพลิงสำหรับอากาศยาน ที่มุ่งลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และดำเนินการมาเป็นเวลากว่าสองปีแล้ว