บางจากทุ่มหมื่นล้าน หนุนสายการบิน ผลิตไบโอเจ็ทลด CO2

01 ก.ค. 2566 | 07:55 น.
อัปเดตล่าสุด :01 ก.ค. 2566 | 08:07 น.

บางจากฯทุ่มหมื่นล้าน เดินหน้าผลิตนํ้ามันอากาศยานยั่งยืนรายแรกของไทย หนุนมาตรการอียู ลดปล่อยคาร์บอนฯ สายการบิน เดินทางเข้า 27 ประเทศ ต้องมี Bio-jet สัดส่วน 2% ในปี 2568

บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ได้กำหนดแผน BCP 316 NET ของกลุ่มครอบคลุม 4 แนวทางเพื่อตอบสนองต่อเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน “Carbon Neutrality” ในปี 2573 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ “Net Zero”ในปี 2593

หนึ่งในเป้าการขับเคลื่อนที่สำคัญ และถือเป็นการตอบโจทย์ BCG Model ที่มุ่งเน้นการพัฒนา 3 เศรษฐกิจไปพร้อมกัน ได้แก่ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) บางจากจึงได้ร่วมทุนกับบริษัท บีบีจีไอ จำกัด (มหาชน) บริษัท ธนโชค ออยล์ ไลท์ ในสัดส่วนการถือหุ้น 51 % 20 % และ 29% ตามลำดับ จัดตั้งบริษัท บีเอส จีเอฟ จำกัด (BSGF) ขึ้นมาเพื่อดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuel - SAF) หรือไบโอเจ็ท เป็นรายแรกของไทย ที่ใช้นํ้ามันพืชใช้แล้วเป็นวัตถุดิบ โดยโครงการมีมูลค่าลงทุนราว 8,000-10,000 ล้านบาท

ล่าสุดเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2566 ที่ผ่านมา ทางบริษัท บีเอสจีเอฟ จำกัด (BSGF) ได้ลงนามสัญญากับบริษัท ทีทีซีแอล จำกัด (มหาชน) และบริษัท Honeywell UOP เพื่อดำเนินการก่อสร้างหน่วยผลิตนํ้ามันเชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน ตั้งอยู่บริเวณพื้นที่โรงกลั่นนํ้ามันของบางจาก

รายงานจากจากบริษัท บีบีจีไอ จำกัด (มหาชน) แจ้งว่า การลงทุนครั้งนี้ จะแบ่งการดำเนินงานเป็น 2 ระยะ โดยระยะแรกจะใช้เงินลงทุนราว 4-5 พันล้านบาท ผลิตไบโอเจ็ทราว 5 แสนลิตรต่อวัน และหลังจากนั้นจะขยายสู่ระยะที่ 2 ด้วยกำลังผลิตอีกราว 5 แสนลิตรต่อวัน เงินลงทุนอีกราว 4-5 พันล้านบาท รวมกำลังผลิต 1 ล้านลิตรต่อวัน จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการเดินทางและขนส่งทางอากาศลงได้ราว 80,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี ซึ่งระยะแรกคาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จและพร้อมให้บริการอุตสาหกรรมการบินทั้งในและต่างประเทศในไตรมาส 4 ของปี 2567

บางจากทุ่มหมื่นล้าน หนุนสายการบิน  ผลิตไบโอเจ็ทลด CO2

สำหรับเชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน หรือ SAF จะผลิตจากนํ้ามันปรุงอาหารที่ใช้แล้ว นําไปผสมนํ้ามันเชื้อเพลิงฟอสซิล เป็นนํ้ามันเชื้อเพลิงชีวภาพอากาศยาน (Bio-jet) ซึ่งจะช่วยลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ลงได้กว่า 80% เทียบเท่าการบินด้วยเชื้อเพลิงการบินในปัจจุบัน โดยบริษัทได้เตรียมการรองรับการผลิตไบโอดีเซลที่ใช้นํ้ามันพืชใช้แล้วเป็นวัตถุดิบ (Used Cooking Oil MethylEster : UCOME) ได้รับการรับรองมาตรฐานระดับโลกด้านความยั่งยืนและการลดคาร์บอน “ISCC EU Certificate” จากองค์กร International Sustainability & Carbon Certification (ISCC) ตามข้อกําหนดด้านพลังงานทดแทนของสหภาพยุโรป ในการผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพประเภทไบโอดีเซลอย่างยั่งยืน สอดคล้องกับข้อบังคับของสหภาพยุโรป ในการส่งออกนํ้ามันพืชใช้แล้วประเภทเมทิลเอสเทอร์ (Used Cooking Oil Methyl Ester หรือ UCOME) เพื่อส่งออกไปจําหน่ายในทวีปยุโรป

ทั้งนี้ การผลิตเชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืนดังกล่าว สอดคล้องกับข้อกำหนดในสหภาพยุโรป( 27 ประเทศ) ที่กำหนดสัดส่วนการผสม SAF ในนํ้ามันอากาศยานที่จะบินเข้าสู่สนามบินในสหภาพยุโรปเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีเป้าหมายสัดส่วนไว้ที่ 2% ในปี 2568 และเพิ่มขึ้นเป็น 6% ในปี 2573 เพิ่มเป็น 37% ในปี 2583 และเป็น 85% ในปี 2593 และยังสอดคล้องกับมาตรการขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (International Civil Aviation Organization : ICAO) และสมาคมการบินระหว่างประเทศ (International Air Transport Association: IATA) ที่ให้การสนับสนุน เพื่อให้อุตสาหกรรมการบินทั่วโลกมุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero ในปี 2593