ประเทศไทย มุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี ค.ศ.2050 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero GHG Emission) ภายในปี ค.ศ.2065 โดยเพิ่มมาตรการสำคัญ เช่น การเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนในการผลิตไฟฟ้า อย่างน้อย 68 % ในปี ค.ศ. 2040 และเป็น 74 % ในปี ค.ศ. 2050 การใช้ยานยนต์ไฟฟ้าสัดส่วน 69 % ในปี ค.ศ. 2035
ยุติการใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง ในปี ค.ศ. 2050 ควบคู่กับการใช้เทคโนโลยีดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือ Carbon Capture and Storage หรือ CCS และการดักจับคาร์บอนและการนำมาใช้ประโยชน์ (Carbon Capture and Utilization หรือ CCU) การนำก๊าซไฮโรเจนมาใช้ในภาคพลังงาน ภาคขนส่งและอุตสาหกรรม ในปี ค.ศ. 2045
รวมถึงการดูดกลับก๊าซเรือนกระจก จากสาขาป่าไม้และการใช้ประโยชน์ที่ดิน มีเป้าหมายที่จะดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 120 ล้านตัน ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2037-2065
เท่ากับว่าไทยจะต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเหลือ 120 ล้านตัน จากที่ปล่อยกว่า 300 ล้านตัน จากปัจจุบันสามารถเก็บได้ 86 ล้านตัน ซึ่งในส่วนที่เหลือจะชดเชยด้วยการปลูกป่าดูดกลับ
นายเกียรติชาย ไมตรีวงษ์ ผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก หรืออบก.กล่าวในงานสัมมนา “Road to Net Zero โอกาสและความท้าทายทางธุรกิจ” จัดโดย “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า วันนี้ทั่วโลกต่างเห็นภัยอันตรายจากการปล่อยก๊าชเรือนกระจก ที่กลายมาเป็นศัตรูสำคัญ ซึ่งทุกภาคส่วนต้องเร่งดำเนินการลดการปล่อยคาร์บอนฯ เพื่อนำไปสู่ Net Zero ที่ทุกภาคส่วนจะต้องปรับตัวไปสู่ลดการปล่อยคาร์บอนฯ หรือเข้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน เพื่อรองรับกติกาทางการค้าของโลก ที่นำเรื่องการปกป้องโลกมาเป็นเงื่อนไขในการอยู่รอดของธุรกิจ
ดังนั้น สิ่งที่จะทำได้สำเร็จ ต้องขึ้นอยู่กับแต่ละองค์กรต้องปรับตัว และให้มองว่าเป็นโอกาสของธุรกิจมากกว่าการมองว่าเป็นค่าใช้จ่าย
ทั้งนี้ ไทยมีเป้าหมายในการลดปล่อยคาร์บอนฯ จากเดิมที่ประเทศวางแผนในการลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 20 % และปรับเพิ่มเป็น 30% ภายในปี 2030 แต่หากได้รับการสนับสนุนด้านการเงินและเทคโนโลยีจากต่างประเทศ จะสามารถลดการปล่อยเพิ่มเป็น 40% ได้ ซึ่งในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 28 (UNFCCC COP 28) ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 30 พฤศจิกายน - 12 ธันวาคม พ.ศ.2566 ณ เมืองดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ จะมีการตอกยํ้าให้ประเทศพัฒนาแล้ว เร่งระดมเงินสนับสนุนให้ได้ 100,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี เพื่อลดการสูญเสียและความเสียหายกับโลก
“แนวทางของไทย ในการดำเนินงานนั้น หน่วยงานต่าง ๆ จะมีการทบทวนแผน และรายงานให้รัฐบาลรับทราบ เพื่อนำสู่การรายงานผลการดำเนินงานในการประชุม COP 28 ทั้งแผนการเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียน การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน การใช้ยานยนต์ไฟฟ้าหรืออีวี การเลิกใช้ถ่านหิน การส่งเสริมใช้ไฮโดรเจนในภาคอุตสาหกรรม เทคโนโลยีดักจับคาร์บอนฯ และการเพิ่มพื้นที่สีเขียว เป็นต้น มาตรการต่าง ๆ นี้ มีแผนชัดเจน ที่จะเสนอรัฐบาลในการผลักดันต่อไป โดยเฉพาะภาคพลังงาน”
นายเกียรติชาย กล่าวอีกว่า ดังนั้นเมื่อทุกภาคส่วนปรับตัวลงทุนลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก ถือว่าเป็นโอกาสที่จะสร้างความเข้มแข็งให้กับประเทศ ที่จะนำไปสู่ตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิตของประเทศมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันมีปริมาณและมูลค่าเพิ่มมากขึ้นเป็นลำดับ เห็นได้จากช่วงที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันมีปริมาณซื้อขายแล้ว 2.79 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่าราว 217.62 ล้านบาท ปี พ.ศ. 2566 ราคาซื้อขายเฉลี่ยอยู่ที่ 79.99 บาทต่อตัน
ดังนั้น อบก.พยายามจะผลักดันเรื่องนี้กับรัฐบาล อะไรที่ยังติดปัญหาหรือเป็นอุปสรรค อย่างเช่น ข้อกฎหมาย ที่จะต้องผลักดันให้ร่างพระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. …. มีผลบังคับใช้โดยเร็ว ก็จะสร้างความชัดเจนในการซื้อขายคาร์บอนเครดิตเพิ่มมากขึ้น หรือความชัดเจนในการลงทุนโครงการต่าง ๆ เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เช่น การลงทุนในโครงการกักเก็บคาร์บอนฯ ที่จะมีมาตรการจูงใจด้านภาษี จากบีโอไอ เป็นต้น รวมถึงการจัดทำมาตรฐานต่าง ๆ ให้เป็นสากล ซึ่งจะช่วยให้ไทยเป็นศูนย์กลางในการซื้อขายคาร์บอนเครดิตของภูมิภาคนี้ได้
“เวลานี้ทั่วโลกให้ความสำคัญกับภัยคุกคามของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จะทำให้คาร์บอนเครดิต เป็นที่สนใจของนักลงทุน ที่จะซื้อไปชดเชยในการปล่อยคาร์บอนฯของตัวเอง ดังนั้น บริษัทต่าง ๆ ที่ลงทุนหรือดำเนินโครงการดี ๆ ในการลดก๊าซเรือนกระจก สามารถที่จะมาขึ้นทะเบียนกับ อบก.นำคาร์บอนที่ผ่านการรับรองแล้วไปขาย สร้างรายได้อีกทางหนึ่ง ส่วนผู้ที่ไม่สามารถลงทุนหรือลดการปล่อยคาร์บอนได้ก็สามารถจะซื้อคาร์บอนเครดิตไปชดเชยได้ ซึ่งอบก.จะผลักดันตลาดแลกเปลี่ยนนี้ขึ้นมา เพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลางการซื้อขายคาร์บอนเครดิตในอนาคตอันใกล้”