กลุ่มธุรกิจ TCP จัดงานประชุมด้านความยั่งยืนเพื่อส่งเสริมความร่วมมือในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม ภายใต้แนวคิด "Net Zero Transition...From Commitment to Action" หรือ "การเปลี่ยนผ่านสู่ Net Zero จากพันธสัญญาสู่การปฏิบัติ" ร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนแนวทางการปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อรับมือวิกฤติการณ์เปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เร่งลงมือหนุนประเทศไทยเปลี่ยนผ่านสู่ การปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์
แนวคิดหลักของการประชุมด้านความยั่งยืนในครั้งนี้เน้นความสำคัญของการลงมือปฏิบัติในแต่ละภาคส่วน ทั้งนักธุรกิจ นักคิด และนักปฏิบัติ ที่มาร่วมระดมสมองและแบ่งปันข้อมูลและแนวทางปฏิบัติที่เป็นประโยชน์กับการพัฒนานวัตกรรม กลยุทธ์ ตลอดจนแผนงานการดำเนินธุรกิจเพื่อการเปลี่ยนผ่านนำประเทศไทยจะเปลี่ยนผ่านสู่ Net Zero และรับมือกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในอนาคต
นายสราวุฒิ อยู่วิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ TCP ได้แลกเปลี่ยนมุมมองในภาคธุรกิจว่าด้วยเรื่องแนวคิดและทิศทางของเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และแนวทางการปรับตัวขององค์กร เพื่อการเปลี่ยนผ่านสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ และการสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสิ่งแวดล้อม (Climate Positive) กล่าวว่า "สำหรับกลุ่มธุรกิจ TCP โจทย์ของเราไม่ได้มองการเปลี่ยนผ่านไปสู่ Net Zero เท่านั้น แต่ต้องการรวมพลังภาคส่วนต่างๆ เปลี่ยนพันธสัญญาไปให้ถึงการ "ลงมือปฏิบัติ" เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้จริง มากกว่านั้นคือการสร้าง "อัตราเร่ง" โดยจากนี้ต้องมีความชัดเจนในการเดินทางไปสู่การปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์รวมถึงประเทศไทยที่ประกาศเป้าหมาย Net Zero ในปีพ.ศ. 2608"
"กลุ่มธุรกิจ TCP มีวิสัยทัศน์ในการเปลี่ยนผ่านสู่ Net Zero สำหรับธุรกิจ คือ การเปลี่ยน Mindset เปลี่ยนวิธีทำธุรกิจ "เป็นตัวเราที่ดีกว่าเดิม" เราไม่ได้แข่งกับคนอื่นแต่เป็นการแข่งกับตัวเอง เราพยายามมองหาจุดร่วมระหว่างสิ่งที่จะต้องเปลี่ยนและตัวเราว่าจะพาตัวเองไปในทิศทางไหน โจทย์คือทำอย่างไรให้ธุรกิจเติบโตไปได้ควบคู่กับการลดผลกระทบเชิงลบและเพิ่มผลกระทบเชิงบวกให้กับสิ่งแวดล้อมและสังคม ภายใต้เป้าหมายใหญ่ "ปลุกพลัง เพื่อวันที่ดีกว่า" โดยมีเป้าหมายย่อยและแผนงานรองรับ รวมถึงประเมินผลการทำงานและปรับทิศการทำงานอย่างต่อเนื่องเพื่อการเปลี่ยนผ่าน"
โดยกลุ่มธุรกิจ TCP เดินหน้าให้ความสำคัญกับการปลุกพลังห่วงใยสิ่งแวดล้อม (Caring) ซึ่งเป็นหนึ่งในกลยุทธ์หลัก โดยได้กำหนดเป้าหมายที่ชัดเจน ได้แก่ เศรษฐกิจหมุนเวียน ภายในปี 2567 ตั้งเป้าพัฒนาบรรจุภัณฑ์ให้สามารถรีไซเคิลได้ 100% และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งการลดความหนาของกระป๋องอะลูมิเนียม
การลดน้ำหนักบรรจุภัณฑ์ขวดแก้วและขวดพลาสติกเพื่อลดการใช้ทรัพยากร และตั้งเป้าบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปีพ.ศ. 2593 จากทุกกระบวนการทำงานในธุรกิจทั้งในไทยและต่างประเทศ การจัดการน้ำอย่างยั่งยืน ซึ่งตั้งเป้าลดการใช้ทรัพยากรน้ำ และคืนน้ำกลับสู่ธรรมชาติและชุมชนให้มากกว่าน้ำที่ใช้ในกระบวนการผลิต (Net Water Positive) ภายในปีพ.ศ. 2573
นอกจากนี้ภายในการประชุมครั้งนี้ยังมีการอภิปรายถึงผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change Impact) ความท้าทายในการขับเคลื่อนให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) การปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ และการสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสิ่งแวดล้อม (Climate Positive) ในประเทศไทย
ผศ. ดร.สิตางศุ์ พิลัยหล้า ได้กล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกับสถานการณ์น้ำในประเทศไทย มองอนาคตของสถานการณ์น้ำ เอลนีโญและผลกระทบจากวิกฤตการณ์เปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พร้อมรับฟังแนวการบริหารจัดการน้ำและแนวทางการ ปรับตัวรับมือความเสี่ยงสำหรับภาคเอกชน
ทั้งนี้นายสราวุฒิได้กล่าวทิ้งท้ายว่า "เชื่อว่างาน TCP Sustainabilty Forum 2023 จะปลุกพลังและเป็นแรงบันดาลใจในการลงมือทำ เพื่อให้เป้าหมายความยั่งยืนที่เรามีร่วมกันนั้นเป็นไปได้ และทันต่อการรับมือความท้าทายด้านสภาพภูมิอากาศที่เป็นปัญหาใหญ่ระดับโลก มาเริ่มกันตั้งแต่วันนี้ เพื่อวันที่ดีกว่าไปด้วยกัน"