ทุก ๆ 1 นาทีจะมีรถขยะมาทิ้งขยะลงทะเล ไม่ได้เกินจริงนักเพราะ "ขยะพลาสติก" ลงสู่มหาสมุทรทุกปีมากถึง 12 ล้านตัน เเละ 80 เปอร์เซ็นต์ เป็นขยะที่เกิดจากกิจกรรมบนบกและรั่วไหลลงสู่ท้องทะเล จากการจัดการอย่างไม่ถูกต้อง และอีก 20 เปอร์เซ็นต์ เป็นขยะที่มาจากกิจกรรมทางทะเล โดยเฉพาะ "เศษอวน" ฟังดูอาจเป็นเรื่องเล็กๆ จิ๋ว ๆ ตามคำเรียกว่า "เศษ" แต่กลับสร้างปัญหาให้กับสิ่งมีชีวิตในทะเลมาโดยตลอด
กรีนพีซ ระบุว่า ทุกปี มีขยะทะเลที่เป็นเศษอวนใช้แล้ว ถูกทิ้งลงมหาสมุทรมากถึง 640,000 ตัน หรือคิดเป็น 10% ของปริมาณขยะทะเลทั้งหมด นี่ยังไม่นับรวมเครื่องมือประมงอื่นๆ คาดว่ามาจากปัจจัยด้านกระแสน้ำที่รุนแรง พื้นที่เต็มไปด้วยหิน ซากปะการัง ทำให้อวนเกี่ยวขาด หรืออวนไม่อยู่ในสภาพที่พร้อมใช้งาน รวมถึงเรือประมงอาจตั้งใจหรือไม่ตั้งใจทิ้งอวนลงมหาสมุทร
ในแต่ละปีมีสัตว์ทะเลเสียชีวิตเพราะติดเศษอวนมากกว่า 100,000 ตัว ยกตัวอย่าง เมื่อต้นปี 2019 ซากวาฬบรูด้าเพศเมียอายุราว 2 ปี เสียชีวิตในทะเลอ่าวไทย ผลการชันสูตรเบื้องต้นของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง(ทช.) ระบุ เหตุเสียชีวิตมาจากการติดอวนและจมน้ำ ไม่พบพลาสติกในท้อง
หากลองจินตนาการภาพตาม นี่ไม่ใช่เรื่องไกลตัวเราอีกต่อไป
ที่ผ่านมามีหลายหน่วยงานทั้งรัฐ เอกชน ประชาสังคม ตื่นตัวเรื่องนี้มาก ล่าสุด กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จับมือกับพันธมิตรเปิดตัว โครงการ "Nets UP" (เนทซ์ อัป) โมเดลการสร้างมูลค่าเพิ่มด้วยหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อทะเลยั่งยืน ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เอสซีจีซี เคมิคอลส์ กลุ่มประมงเรือเล็กพื้นบ้าน จังหวัดระยอง พันธมิตรธุรกิจ และเครือข่ายพิทักษ์สิ่งแวดล้อมทางทะเล เพื่อเปลี่ยนอวนประมงที่ไม่ใช้แล้ว สู่ Marine Materials วัสดุทางเลือกใหม่จากนวัตกรรมรีไซเคิล ต่อยอดสู่การสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับภาคอุตสาหกรรมในห่วงโซ่ และช่วยให้กลุ่มประมงพื้นบ้านมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการนำเศษอวนมาคัดแยกเพื่อส่งเข้าโครงการฯ จะป้องกันไม่ให้เศษอวนไม่ใช้แล้วหลุดรอดลงในทะเล
ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในการรักษา บริหารจัดการทรัพยากรชายฝั่งทะเล ให้เกิดความสมดุลและยั่งยืน ยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดี ซึ่งสอดคล้องกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ BCG (Bio-Circular-Green Economy) และเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs)
หากมองให้กว้างออกไปที่ผ่านมาจะพบว่าหลายประเทศมีมาตรการและนโยบาย เพื่อแก้ไขปัญหาเศษอวนและอุปกรณ์ประมงที่ถูกทิ้ง หรือสูญหายในทะเล ในระดับภูมิภาค และระดับโลก เพราะเศษอวนจำนวนมากในมหาสมุทรสามารถล่องลอยไปได้ไกลหลายพันกิโลเมตร
จนเกิดเป็น "สนธิสัญญาทะเลหลวง" หรือชื่อทางการคือ "สนธิสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพนอกเหนือเขตอำนาจแห่งชาติ" หรือบีบีเอ็นเจ (BBNJ) เสนอให้องค์การสหประชาชาติประกาศรับรองการกำหนดเขตปกป้องมหาสมุทรให้ได้อย่างน้อย 30% จากพื้นที่มหาสมุทรทั้งหมด โดยตั้งเป้าหมายทำให้ได้ภายในปี 2573 เพื่อหยุดยั้งและปกป้องระบบนิเวศใต้ท้องทะเล และสัตว์ทะเล ซึ่งมีความหวังให้มีการผลักดันสู่การให้สัตยาบันของทุกประเทศสมาชิกในการประชุมมหาสมุทรแห่งสหประชาชาติครั้งต่อไปที่เมืองนีซ ประเทศฝรั่งเศส ในเดือนมิถุนายน 2568
ข้อมูล
GHOST GEAR: THE ABANDONED FISHING NETS HAUNTING OUR OCEANS