SCGC รุกหนัก นวัตกรรมพลาสติกสีเขียว ดันสู่เป้า Net Zero

29 ก.ย. 2566 | 06:05 น.
อัปเดตล่าสุด :29 ก.ย. 2566 | 06:13 น.

SCGC ขับเคลื่อน NET ZERO ขยายการลงทุนลดคาร์บอนต่อเนื่อง ผนึกพันธมิตรต่างชาติ ลุยหนักนวัตกรรมเทคโนโลยีรีไซเคิล ป้อนตลาดกรีนพลาสติก พร้อมกักเก็บคาร์บอนฯ ดึงมาใช้ประโยชน์ ผลิตเป็นสารตั้งต้นผลิตพลาสติก

บริษัท เอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCGC ผู้นำตลาดเคมีภัณฑ์ในระดับภูมิภาค มุ่งสร้างการเติบโตแก่ธุรกิจ ควบคู่ไปกับการสร้างความยั่งยืน ด้วย 3 กลยุทธ์สำคัญ ได้แก่ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกระบวนการผลิต (Decarbonization) สรรหาวัตถุดิบที่มีคาร์บอนตํ่าตั้งแต่ต้นทาง (Low Carbon Supply Chain) สร้างสรรค์สินค้าคาร์บอนตํ่าตลอดวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์ (Product Portfolio Adjustment) และการพัฒนานวัตกรรมพลาสติกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Green Polymer) โดยมีเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 20% ภายในปี 2573 และมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน( Carbon Neutrality) ภายในปี 2593

นายธนวงษ์ อารีรัชชกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCGC กล่าวว่า ธุรกิจของ SCGC ที่มีทั้ง โอเลฟินส์ ไวนิล กรีนพอลีเมอร์ และยังมีเซอร์วิสโซลูชั่น การนำเทคโนโลยีมาใช้ในการ ลดคาร์บอนไดออกไซด์ เมื่อโรงงานปิโตรเคมี LSP ในประเทศเวียดนามเปิดดำเนินการปีนี้ จะส่งผลให้ SCGC มีกำลังการผลิตรวมเพิ่มขึ้น 40% เป็น 9.8 ล้านตันต่อปี โดยปี 2566 จะใช้เงินลงทุนดำเนินธุรกิจราว 4 หมื่นล้านบาท

สำหรับการขับเคลื่อนเพื่อไปสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนนั้น จะมุ่งการปรับปรุงหรือปรับเปลี่ยนกระบวนการและอุปกรณ์ให้มีประสิทธิภาพการใช้พลังงานสูงขึ้น การใช้พลังงานสะอาดทดแทนเชื้อเพลิงฟอสซิล โดยติดตั้งโซลาร์ลอยนํ้าผลิตไฟฟ้าได้กว่า 80 เมกะวัตต์ การพัฒนาและลงทุนในเทคโนโลยีที่ไม่ปลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศ และกิจกรรมชดเชยคาร์บอน (Carbon Offset) เช่น การปลูกป่าในพื้นที่ลักษณะต่าง ๆ รวมถึงป่าชายเลน

อีกทั้ง ยังมุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยตั้งเป้าพัฒนาผลิตภัณฑ์พอลิเมอร์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Green Polymer) 1 ล้านตันต่อปี ภายในปี 2573 ครอบคลุมโซลูชัน 4 ด้าน ได้แก่ 1. Reduce ลดการใช้ทรัพยากร ด้วยเทคโนโลยี SMX™ ที่สามารถลดการใช้พลาสติกได้ถึง 15-20% และทำให้เม็ดพลาสติกทนทานขึ้นถึง 20% ผลิตเป็นบรรจุภัณฑ์ขนาดเล็กหรือขนาดใหญ่ นอกจากจะลดการใช้ปริมาณพลาสติกลงได้แล้ว ยังสามารถลดใช้พลังงาน และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน ไดออกไซด์ไปได้ในเวลาเดียวกัน

SCGC รุกหนัก นวัตกรรมพลาสติกสีเขียว ดันสู่เป้า Net Zero

2.Recyclable การออกแบบเพื่อให้รีไซเคิลได้ ด้วยโซลูชัน Mono-material สำหรับบรรจุภัณฑ์ 3. Recycle การนำกลับมาใช้ใหม่ พัฒนาเม็ดพลาสติกรีไซเคิลคุณภาพสูง ซึ่งได้ร่วมมือกับ 2 พันธมิตรในยุโรป คือ เนเธอร์แลนด์ และโปรตุเกส ซึ่งมีเทคโนโลยีทางด้านการบริหารจัดการขยะพลาสติก นำขยะพลาสติกมาผลิตบรรจุภัณฑ์ใหม่ ซึ่งจะเพิ่มกำลังการผลิตที่โปรตุเกสอีก 25% จากกำลังการลิต 3.6 หมื่นตันต่อปี 36,000 ตันต่อปี เพื่อรองรับความต้องการของตลาด ขณะที่โรงงานในเนเธอร์แลนด์ มีกำลังการผลิตอยู่ที่ 9 พันตันต่อปี

4.Renewable การพัฒนาเม็ดพลาสติกที่สามารถย่อยสลายได้ทางชีวภาพ (Bio-Compostable Compound Resin) จะร่วมมือกับพาร์ทเนอร์ Braskem โดยตั้งเป้าผลิตเอทิลีนชีวภาพ (Green-Ethylene) จากเอทานอลที่ใช้ผลิตผลจากภาคเกษตร และนำเอทิลีนชีวภาพไปผลิตเป็นพลาสติกชีวภาพ หรือ Green-PE (Green-Polyethylene) ซึ่งมีปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นลบ (Negative carbon footprint) สามารถรีไซเคิลได้เช่นเดียวกับพอลิเอทิลีนทั่วไป ซึ่งจะนำผลิตภัณฑ์ที่ได้ไปทำตลาดต่างประเทศ สามารถตอบโจทย์เรื่องมาตรการ CBAM ของยุโรปได้

นายธนวงษ์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ SCGC ยังได้จับมือกับพันธมิตรทั้งในและต่างประเทศขับเคลื่อนโครงการกักเก็บก๊าซคาร์บอนเพื่อนำกลับไปใช้ประโยชน์ (Carbon Capture, Utilization and Storage: CCUS) ในรูปแบบต่าง ๆ อาทิ โครงการ PYROCO2 ซึ่งเป็นความร่วมมือในการพัฒนาเทคโนโลยี และก่อตั้งโรงงานต้นแบบ เพื่อนำคาร์บอนไดออกไซด์กลับมาผลิตเป็นสารตั้งต้นในการผลิตพลาสติก

จับมือกับไอเอชไอ (IHI) ผู้ผลิตเครื่องจักรในอุตสาหกรรมโรงไฟฟ้าและก่อสร้างขนาดใหญ่จากประเทศญี่ปุ่น ศึกษาและสร้างโรงงานต้นแบบ (Pilot Plant) เพื่อทดสอบเทคโนโลยีดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากกระบวนการผลิต มาเป็นวัตถุดิบทางเลือกทดแทนการใช้แนฟทา เชื่อมต่อกับระบบของโรงงานผลิตโอเลฟินส์ในกลุ่มธุรกิจ SCGC

รวมถึงร่วมมือกับบริษัท Avantium N.V. ประเทศเนเธอร์แลนด์ ผู้เชี่ยวชาญเทคโนโลยีด้านเคมีทดแทน พัฒนาพอลิเมอร์ที่คาร์บอนฟุตพริ้นท์เป็นลบ หรือพอลิเมอร์ PLGA (Polylactic-co-glycolic Acid) ที่ใช้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มาใช้เป็นสารตั้งต้น และไม่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในกระบวนการผลิต สามารถรีไซเคิลและย่อยสลายได้ทั้งในสภาวะธรรมชาติ และในทะเล

อีกทั้งร่วมลงทุนกับบริษัท Denka Company Limited (Denka) ประเทศญี่ปุ่น ในธุรกิจผลิตและจัดจำหน่ายอะเซทิลีนแบล็ก (Acetylene black) ซึ่งเป็นส่วนประกอบในการผลิตแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า (EV) โดย Denka จะเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัทร่วมทุนในสัดส่วน 60% และ 40% จะถือหุ้นโดย SCGC ตั้งอยู่ในจังหวัดระยอง มีกำลังการผลิตประมาณ 11,000 ตันต่อปี และคาดว่าจะสามารถเริ่มกระบวนการผลิตได้ภายในต้นปี 2568