รับมือภัยแล้งเอลนีโญ เดินหน้า “ธนาคารน้ำใต้ดิน-ฝายแกนซอยซิเมนต์”

29 ก.ย. 2566 | 09:47 น.
อัปเดตล่าสุด :29 ก.ย. 2566 | 09:47 น.

“ภูมิธรรม-สมศักดิ์-ปลอดประสพ-วรวัจน์” ถกรับมือภัยแล้งเอลนีโญ หวั่นขาดน้ำยาว 3 ปี ชี้ นายกฯให้ความสำคัญ ชงตั้งศูนย์สั่งการ หยุดโครงการใหญ่ เดินหน้าเล็ก” ธนาคารน้ำใต้ดิน-ฝายแกนซอยซิเมนต์” ให้กระจายทั่ว ขีดเส้น 100 วัน มีแผนชัดเจน เสนอตั้ง 10 คณะอนุกรรมการขับเคลื่อน

วันที่ 29 กันยายน 2566 นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการเพื่อรองรับสถานการณ์เอลนีโญ และลานีญา ของประเทศไทย ครั้งที่ 1/2566 โดยมีนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะรองประธานกรรมการฯ นายปลอดประสพ สุรัสวดี รองประธานกรรมการ นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล สส.แพร่ พรรคเพื่อไทย นางนลินี ทวีสิน ผู้แทนการค้าไทย และคณะกรรมการเพื่อรองรับสถานการณ์เอลนีโญ และลานีญาฯ เข้าร่วม ที่สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์

รับมือภัยแล้งเอลนีโญ เดินหน้า “ธนาคารน้ำใต้ดิน-ฝายแกนซอยซิเมนต์”

นายภูมิธรรม กล่าวว่า การประชุมคณะกรรมการเพื่อรองรับสถานการณ์เอลนีโญ และลานีญาฯ วันนี้ เพราะนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้ให้ความสำคัญเรื่องนี้เป็นอย่างมาก จึงเกิดคณะกรรมการชุดนี้ เพื่อร่วมกันแก้ปัญหาภัยแล้งที่กำลังจะเกิดขึ้น ซึ่งถือว่าเป็นปัญหาใหญ่ เพราะจะส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง

หากมีการเตรียมการรองรับที่ดี ปัญหาที่จะเกิดขึ้นก็จะเบาบางลง และประชาชนก็จะได้รับความทุกข์น้อยลง โดยอีก 3 ปี อาจจะเผชิญปัญหา หากไม่เกิดก็เป็นสิ่งที่ดี แต่ถ้าเกิดก็มีการเตรียมไว้ทั้งหมดแล้ว โดยนายกฯ ประกาศชัดเจนในวันแถลงนโยบายว่า ให้ความสำคัญกับเรื่องสภาพอากาศ เพราะอาจส่งผลกระทบไปถึงเรื่องเศรษฐกิจด้วย

 

นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์

“หวังว่าจากนี้ จะขับเคลื่อนงานร่วมกันไปข้างหน้า ภัยแล้งที่จะเกิดขึ้นเป็นการคาดการณ์ แต่มั่นใจว่า มีโอกาสเกิดขึ้น ดังนั้น แนวทางการทำงานต้องมีการปรับให้เข้ากัน เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะน้ำคือชีวิต ถ้าเจอภัยแล้ง 3 ปี จะเหนื่อยมาก จึงต้องเข้าใจว่าเป็นภารกิจสำคัญ โดยจากนี้จะหลีกเลี่ยงโครงการขนาดใหญ่ที่ใช้งบประมาณมาก และมุ่งไปขับเคลื่อนโครงการขนาดเล็ก เพื่อให้กระจายไปทั่วประเทศ และเมื่อเข้าสู่สถานการณ์ปกติ ก็จะกลับมาเดินหน้าโครงการใหญ่ต่อ ซึ่งอะไรทำได้ ท่านนายกฯให้ทำทันที แต่ถ้าติดขัดอะไรก็ให้รีบแก้ไข โดยอยากเห็นความคืบหน้า 100 วันแรก เพื่อให้ประชาชนมีความมั่นใจ” นายภูมิธรรม กล่าว

ขณะที่ นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ต้องเตรียมการป้องกันภัยแล้งให้ถึงที่สุด โดยต้องมีศูนย์สั่งการ หรือ บูรณาการ ซึ่งตนขอเสนอที่ตั้งศูนย์สั่งการ ที่กระทรวงพาณิชย์ เพราะอาคารสถานที่มีความเหมาะสม ส่วนเรื่องการจัดทำงบประมาณนั้น รัฐบาลเพิ่งเข้ามาใหม่แล้วเจอภัยแล้ง จึงอาจไม่สอดคล้องกับเรื่องที่จะทำ จึงมองว่า รัฐบาลอาจขับเคลื่อนงานตามที่ต้องการไม่ได้ทั้งหมด เพราะด้วยสถานการณ์เอลนีโญต้องมุ่งเน้นไปทำโครงการขนาดเล็ก เพื่อให้ทั่วถึงทั้งประเทศ เช่น โครงการธนาคารน้ำใต้ดิน ฝายแกนซอยซิเมนต์ เพื่อเพิ่มพื้นที่เก็บน้ำ และความชุ่มชื้น ให้ปัญหาภัยแล้งเบาบางลง โดยต้องสามารถรองรับสถานการณ์ภัยแล้งได้ถึง 3 ปี

นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี

นอกจากนี้ ยังมองว่า ฝ่ายวิศวะควรสรุปรายละเอียดการก่อสร้างฝายให้ชัดเจนว่ามี สัดส่วนเท่าไหร่ เพื่อให้ประชาชนเกิดความเชื่อมั่นว่ามีความแข็งแรง และใช้ได้นานกว่าฝายปกติ ดังนั้น การแก้ปัญหามองว่า ควรเน้นไปทำโครงการขนาดเล็ก เพื่อรักษาความชุ่มชื้น

ด้าน นายปลอดประสพ กล่าวว่า ต้องยอมรับว่า ปัจจุบันโลกร้อนขึ้น ส่งผลให้เกิดความแปรปรวน รวมถึงประเทศเรา มีทะเลทั้ง 2 ด้าน จึงมีความแปรปรวนสูงมากขึ้น ส่งผลด้านชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ส่วนปัญหาเอลนีโญ ไม่มีใครเถียงว่าจะไม่เกิด เพียงแต่จะเกิดยาวหรือไม่ ซึ่งหากแย่สุด 3 ปีต่อเนื่อง น้ำก็จะลดลงจนขาดแคลน

นายปลอดประสพ สุรัสวดี

ดังนั้น ต้องยอมรับความจริง และต้องเร่งเก็บน้ำ โดยวันนี้ต้องบริหารความเสี่ยงให้ดี ขณะเดียวกันมั่นใจว่า เอลนีโญ เกิดขึ้นแต่จะยังไม่แรงจนกว่าจะเข้าหน้าแล้งจะทำให้เกิดปัญหาตามมาอีกจำนวนมาก ทั้ง ฝุ่น PM 2.5 จะรุนแรง เกิดไฟไหม้ง่าย นกจะเข้าอาศัยบ้านคนเพราะร้อน โรคระบาดต่างๆจะเกิดขึ้น ไม้ผลจะตาย พืชไร่ใช้น้ำมากจะเสียหาย ส่งผลให้ราคาสินค้าแพงขี้น ด้านน้ำกินน้ำใช้ ก็จะขาดแคลน ทั้งหมดนี้ คือ ผลกระทบที่จะเกิดขึ้น จึงขอเสนอ 3 มาตรการแก้ปัญหาคือ

1. ยุทธศาสตร์และเป้าหมาย โดยคณะกรรมการชุดนี้ จะเป็นเครื่องมือรัฐบาล ในการบรรเทาผลกระทบ ทั้งระยะสั้น-ยาว

2.ยุทธวิธีติดตามสถานการณ์เป็นรายวัน รายสัปดาห์ และรายเดือน พร้อมสร้างคลังข้อมูลให้ลึกมากขึ้น และ

3.ตั้งอนุกรรมการขึ้นมาขับเคลื่อน 10 คณะ จะทำให้รัฐบาล สามารถรับมือภัยแล้งได้เป็นระบบ