“สยามพิวรรธน์”เดินหน้าศูนย์การค้า พลังงานสีเขียว 100% ปี 2030

04 ต.ค. 2566 | 02:44 น.
อัปเดตล่าสุด :04 ต.ค. 2566 | 02:56 น.

ต้นปีพ.ศ.2562 “ชฎาทิพ จูตระกูล” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด ได้ประกาศงบการลงทุนใน 5 ปีข้างหน้า (ประมาณ ปี พ.ศ.2563-2568) รวม 70,000 ล้านบาท ส่วนใหญ่ 80-90% เป็นการพัฒนาโครงการใหญ่

โดยปลายปี 2562 ได้เปิด Siam Premium Outlet พื้นที่ 150 ไร่ ย่านลาดกระบัง และมีแผนขยายเพิ่มไปนอกกรุงเทพฯ อีก 2 แห่ง ทำให้ปัจจุบันสยามพิวรรธน์มี 5 โครงการในเครือ ได้แก่ สยามพารากอน, สยามดิสคัฟเวอรี่, สยามเซ็นเตอร์, ICONSIAM และ Siam Premium Outlet มีพื้นที่ค้าปลีกและไลฟ์สไตล์รวมกว่า 2 ล้านตารางเมตร

ซีอีโอ กลุ่มสยามพิวรรธน์ ยังได้ประกาศกลยุทธ์ต้นแบบ “การสร้างคุณค่า สมประโยชน์ร่วมกันสู่ความยั่งยืน” เป็นแผนการดำเนินธุรกิจที่ให้ความสำคัญใน 3 มิติ ได้แก่ ผู้คน ชุมชนสังคม และสิ่งแวดล้อม โดยได้มอบหมายให้ นางสาวนราทิพย์ รัตตประดิษฐ์ ประธานบริหารสายงานปฏิบัติการ (Chief Operating Officer) บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด เข้าทำหน้าที่บริหารงานด้านความยั่งยืนขององค์กร

สยามพิวรรธน์ได้จัดสรรงบประมาณส่วนความยั่งยืน ซึ่งรวมถึงการพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อมเข้าไปในแผนการดำเนินงานของธุรกิจ เช่น ต้นปีที่ผ่านมา กลุ่มสยามพิวรรธน์ ได้ประกาศ ยกระดับสยามพารากอน สู่การเป็นจุดหมายปลายทางสำคัญระดับโลก (Global Landmark Destination) ที่มีผู้คนจากทั่วทุกมุมโลกมาเยือนมากที่สุด โดยใช้งบประมาณลงทุน 3,000 ล้านบาท เริ่มต้นดำเนินการตั้งแต่ปลายปี 2565 ใช้เวลาภายใน 18 เดือนและมีกำหนดเสร็จสมบูรณ์ในช่วงกลางปีของปี 2567 ที่จะพัฒนาทั้งศูนย์การค้าและบริเวณโดยรอบ ให้กลายเป็นแลนด์มาร์คระดับโลก

  • ติดโซลาร์รูฟท็อปลดคาร์บอน

นางสาวนราทิพย์ ได้อธิบายถึงแนวทางด้านความยั่งยืนว่า สยามพิวรรธน์เป็นศูนย์การค้าแรก ๆ ที่ประกาศเดินหน้าสู่เป้าหมายด้าน Net Zero โดยต้องการเป็น First Net Zero Shopping Mall ซึ่งดำเนินการมาแล้วมากกว่า 10 ปี เราพัฒนาการทำพลังงานสะอาด ทำอีโคโปรเจ็กต์ ไม่ว่าจะเป็นการบริหารจัดการขยะ การบริหารทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ

นางสาวนราทิพย์ รัตตประดิษฐ์ ประธานบริหารสายงานปฏิบัติการ บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด

ขณะนี้สยามพิวรรธน์ได้ทำงานร่วมกับหลายพันธมิตร อาทิ บริษัท เอสซีจี คลีนเนอร์ยี่ จำกัด บริษัทในเครือ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) และ บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) เพื่อพัฒนาระบบการใช้พลังงานหมุนเวียน หรือ Renewable Energy (RE) ในทุกศูนย์การค้าภายในกลุ่มสยามพิวรรธน์ เพื่อลดการใช้พลังงานไฟฟ้าจากการผลิตที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล ในพื้นที่ศูนย์การค้าต่าง ๆ โดยมีเป้าหมายใช้พลังงานหมุนเวียน 30% ของปริมาณการใช้ไฟฟ้าในพื้นที่ที่สยามพิวรรธน์บริหารจัดการเอง ภายในปี พ.ศ.2569 และ 100% ภายในปี 2573

นอกจากนี้ ยังพยายามปรับเปลี่ยนสู่พลังงานสะอาด โดยร่วมมือกลุ่มบริษัท กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) ร่วมกันพัฒนาและติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป (Solar Rooftop) บนพื้นที่สยาม พรีเมี่ยม เอาท์เล็ต กรุงเทพ กว่า 20,000 ตารางเมตร มูลค่าโครงการประมาณ 70 ล้านบาท ผลิตกระแสไฟฟ้าได้กว่าปีละ 4,800,000 กิโลวัตต์-ชั่วโมงต่อปี ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มากถึง 4,300 ตันคาร์บอน ไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี

อีกส่วนคือที่โซลาร์รูฟท็อปที่ไอคอนสยาม สามารถผลิตไฟฟ้าได้มากกว่า 1 ล้านกิโลวัตต์-ชั่วโมงต่อปี ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 550 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี ที่ผ่านมา สยามพิวรรธน์ได้อนุรักษ์พลังงาน และเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน เช่น การเปลี่ยนหลอดไฟ LED ช่วยประหยัดพลังงาน และการใช้ระบบ AI ในการควบคุมการทำงานของระบบควบคุมสภาพแวดล้อมภายในอาคาร รวมทั้งติดตั้งสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า เพิ่มมากขึ้น จากปัจจุบัดำเนินการแล้ว 47 จุดชาร์จ

“สยามพิวรรธน์ดำเนินการลดปล่อยคาร์บอนฯในสโคป 1-2 แล้ว และจะดำเนินการต่อเนื่อง ส่วนสโคป 3 ซึ่งเป็นความร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจ ตั้งแต่ต้นปีนี้จะประกาศความร่วมมือชัดเจนกับแบรนด์ชั้นนำระดับโลก เพื่อร่วมกับขับเคลื่อนสู่เป้าหมายปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือ Net Zero ภายในปี 2050 ต่อไป”

“สยามพิวรรธน์”เดินหน้าศูนย์การค้า พลังงานสีเขียว 100% ปี 2030

  • จัดการขยะแบบ 360 องศา

นางสาวนราทิพย์ กล่าวว่า นอกจากนี้ สยามพิวรรธน์ทำเรื่องของการบริหารจัดการขยะมาตั้งแต่เริ่มต้น โดยเน้นการบริหารจัดการขยะแบบ 360 องศา ผ่านโครงการ Siam Piwat 360° Waste Journey to Zero Waste ติดตั้งจุดบริการรับขยะ (Recycle Collection Center ; RCC) ร่วมกับเครือข่ายพันธมิตร นำขยะที่ทำความสะอาด และคัดแยกแล้วส่งต่อเข้ากระบวนการรีไซเคิล (Recycle) หรือนำมาเข้าสู่กระบวนการอัพไซเคิล (Upcycle) เพื่อเพิ่มมูลค่า โดยส่วนหนึ่งยังกลับมาวางจำหน่ายบนพื้นที่สำหรับสินค้ารักษ์โลก ECOTOPIA ซึ่งสยามพิวรรธน์มีเป้าหมายลดปริมาณการฝังกลบของขยะจากการดำเนินงาน 50% ภายในปี พ.ศ.2573 และปีที่ผ่านมาเก็บปริมาณขยะได้กว่า 1 หมื่นกิโลกรัม ลดการปล่อยคาร์คอนไดออกไซด์ได้ราว 4,000 ตัน หรือเทียบกับการปลูกต้นไม้ 2,700 ต้น

ส่วนขยะอิเล็กทรอนิกส์ (E-waste) ได้ร่วมสนับสนุน Synnex ในโครงการ ทิ้งให้ถูกที่่กับ Trusted By Synnex E-Waste เปิดจุดรับทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์ บริเวณ NextTech สยามพารากอน

ขณะที่โครงการความร่วมมือพัฒนาย่านปทุมวันสู่ต้นแบบนิเวศอัจฉริยะ สยามพิวรรธน์จะร่วมกับพาร์ทเนอร์ออกแบบพื้นที่เพื่อเป้าหมายใน 3 มิติ คือ ผู้คน ชุมชนสังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะเริ่มเห็นแบบได้ประมาณต้นปี 2567 และเริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงประมาณปลายปี 2567