AWC เทงบแสนล้านลุยธุรกิจ พุ่งเป้าสู่ Carbon Neutrality 2030

21 ต.ค. 2566 | 10:49 น.
อัปเดตล่าสุด :21 ต.ค. 2566 | 11:01 น.

AWC วางงบลงทุนแสนล้านบาทใน 5 ปี ขยายธุรกิจ เร่งขับเคลื่อนสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี 2573 ยกระดับกลุ่มธุรกิจเป็นอาคารสีเขียวระดับสากล เพิ่มสัดส่วนพลังงานทดแทน พร้อมฟื้นฟูพื้นที่สีเขียว 5 พันไร่

บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) หรือ AWC ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำของไทยที่มีอสังหา ริมทรัพย์ในเครือกว่า 30 แห่งทั่วประเทศ ได้ประกาศแผนธุรกิจ 5 ปี (พ.ศ.2565-2569) พร้อมงบลงทุนราว 100,000 ล้านบาท ที่แบ่งเป็น การพัฒนาโครงการใหม่ 15 โครงการ รวมถึงโครงการอินเตอร์คอนติเนนตัล เชียงใหม่ แม่ปิง โฮเทล โรงแรม อินน์ไซด์ กรุงเทพ สุขุมวิท ซึ่งถือเป็นโครงการที่ก่อสร้างที่คำนึงถึงมาตรฐานอาคารสีเขียว และได้รับการรับรองมาตรฐาน EDGE

นอกจากนี้ ยังเข้าซื้อธุรกิจอื่น ๆ เพิ่มเติม ด้วยมูลค่าประมาณ 60,000 ล้านบาท เพื่อขับเคลื่อนธุรกิจเดินหน้าให้เติบโตต่อเนื่อง

ตามกรอบกลยุทธ์เพื่อมุ่งสู่ความยั่งยืนครอบคลุม 3 เสาหลัก ได้แก่ การสร้างคุณค่าด้านสิ่งแวดล้อม (Better Planet) การสร้างคุณค่าด้านสังคม (Better People) และการสร้างคุณค่าและการกำกับดูแลกิจการเพื่อความเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน (Better Prosperity) โดยตั้งเป้าหมายสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี ค.ศ. 2030

นางวัลลภา ไตรโสรัส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) หรือ AWC กล่าวว่า การขับเคลื่อนธุรกิจภายใต้ 3 เสาหลักดังกล่าว โดยเฉพาะการสร้างคุณค่าด้านสิ่งแวดล้อม ที่ให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

บริษัทได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องในการลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกผ่านการดำเนินงานต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบอาคารที่ลดการใช้พลังงาน การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน การเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียน และการอนุรักษ์เพิ่มพื้นที่สีเขียว ตลอดจนการสร้างความร่วมมืออย่างสร้างสรรค์กับคู่ค้า พันธมิตรธุรกิจ ในห่วงโซ่อุปทาน และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกกลุ่ม

“AWC ได้ลงนามสินเชื่อที่เชื่อมโยงกับการดำเนินงานด้านความยั่งยืน (Sustainability Linked Loan) รวมถึงสินเชื่อสีเขียว (Green Loan) จำนวน 20,000 ล้านบาท กับ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) เพื่อรองรับแผนการพัฒนาโครงการคุณภาพระดับเมกะโปรเจ็กต์ ที่มุ่งเน้นการลดการใช้ทรัพยากร และส่งเสริมการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพในทุกมิติ”

AWC เทงบแสนล้านลุยธุรกิจ พุ่งเป้าสู่ Carbon Neutrality 2030

  • เส้นทางสู่ Carbon Neutrality

ทั้งนี้ AWC ได้วางกลยุทธ์ เพื่อเดินหน้าสู่เป้าหมาย Carbon Neutrality ภายในปี ค.ศ.2030 โดยเริ่มเปลี่ยนผ่านการใช้พลังงานไปสู่พลังงานทดแทน ซึ่งปัจจุบันดำเนินการติดตั้งพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาหรือโซลาร์รูฟท็อปในกลุ่มแล้ว 6 แห่ง ลดการใช้ไฟฟ้าจากระบบได้ 5,027,100 กิโลวัตต์ชั่วโมงต่อปี หรือลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 2,508.53 ตันคาร์บอน ไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี และจะขยายการเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนเพิ่มมากขึ้น

อีกทั้ง ดำเนินธุรกิจตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)ไม่มีขยะไปสู่หลุมฝังกลบ ภายในปี ค.ศ.2030 โดยเพิ่มมูลค่าการจัดการวัสดุเหลือใช้มารีไซเคิลตามโครงการ reConcept ซึ่งปี 2565 ที่ผ่านมาช่วยลดขยะไปยังหลุมฝังกลบได้กว่า 335 ตัน รวมถึงการใช้ซํ้าและการรีไซเคิลนํ้า โดยตั้งเป้าลดการใช้นํ้าลง 20%

นอกจากนี้ มุ่งเดินหน้ายกระดับประสิทธ์ภาพด้านพลังงานด้วยโครงการอนุรักษ์พลังงาน (Energy Saving Initiatives : ESI) อย่างต่อเนื่อง โดยตั้งเป้าหมายไว้ว่าภายในปี 2569 จะสามารถลดการใช้พลังงานลงได้ 33 กิกะวัตต์ชั่วโมง หรือ 13 % ภายในปี 2569 เมื่อเทียบกับปี 2562 ซึ่งจากการดำเนินงานที่ปีผ่านมา ช่วยประหยัดพลังงานได้ 7,132,705 กิกะวัตต์ชั่วโมง ลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 3,565.64 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า

ขณะเดียวกันจะพัฒนาปรับปรุงอาคารของกลุ่มธุรกิจให้ได้การรับรองอาคารสีเขียวระดับสากล (LEED, WELL, EDGE) โดยตั้งเป้าขอรับรองมาตรฐาน LEED (Leadership in Energy and Environmental Design) จำนวน 15 โครงการ ภายในปี 2569

พร้อมกับการเพิ่มพื้นที่สีเขียว ที่มีร่วมมือกับมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ เพื่อรักษาผืนป่าในระยะยาว ผ่านโครงการ“AWC Stay to Sustain” ที่เปิดโอกาสให้แขกผู้เข้าพักโรงแรมในเครือ ได้มีส่วนร่วมในการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าชุมชน โดยทุกการเข้าพัก 1 คืน ภายในโรงแรมเครือ AWC จะร่วมดูแลต้นไม้ 1 ต้น ซึ่งจะช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ราว 5 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี

โดยตั้งเป้าอนุรักษ์และฟื้นฟูต้นไม้ปีละ 5 แสนต้น รวมกว่า 5,000 ไร่ สามารถดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ราว 2,500 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี ซึ่งในแต่ละปีจะใช้งบเพื่อสนับสนุนกิจกรรมนี้ราว 15-20 ล้านบาท เพื่อดูดกลับหรือการชดเชยคาร์บอนผ่านกิจกรรมการปลูกป่าเพิ่มพื้นที่สีเขียว