เจาะลึก บอร์ดเอลนีโญ ประเมินโลกร้อน โลกรวน ไทยกระทบหนัก 7 ด้าน

29 ต.ค. 2566 | 23:00 น.
อัปเดตล่าสุด :30 ต.ค. 2566 | 02:30 น.

ประเทศไทยในยุคโลกเดือด ใต้เงารัฐบาล "เศรษฐา ทวีสิน" คณะกรรมการรับสถานการณ์เอลนีโญ ประเมินโลกร้อน โลกรวน กระทบชีวิตความเป็นอยู่และเศรษฐกิจ ในฤดูแล้งแรุนแรง 7 ด้าน

ทั่วโลกเข้าสู่ยุค "โลกเดือด" โดยเฉพาะ "ปรากฎการณ์เอลนีโญ" ที่คาดการณ์ว่าจะส่งผลกระทบรุนแรงตั้งแต่ปลายปีนี้ไปจนถึงปีหน้าหรืออาจยาวกว่านั้น รัฐบาลภายใต้การนำของ "เศรษฐา ทวีสิน" ชูธงนำด้านเศรษฐกิจในการขับเคลื่อนประเทศ มีเสียงวิพากวิจารณ์ว่า การแถลงนโยบายของรัฐบาล เมื่อวันที่ 11 – 12 ก.ย. 2566 ใน "มิติด้านสิ่งแวดล้อม" เป็น 1 ในนโยบายเร่งด่วน 100 วัน 

“ความแปรปรวนของสภาพอากาศและโรคอุบัติใหม่ นอกจากจะเป็นภัยพิบัติที่สร้างผลกระทบโดยตรงต่อมนุษยชาติแล้ว ยังส่งผลทางอ้อมให้เกิดกฎ ระเบียบ หรือข้อบังคับใหม่ ๆ ที่ส่งผลต่อรูปแบบการค้าและการท่องเที่ยวของโลก สภาวะอากาศสุดขั้ว (Extreme Weather) ที่ก่อให้เกิดปรากฏการณ์เอลนีโญ (El Nino) และได้สร้างความเสี่ยงให้กับพี่น้องเกษตรกรไทยจำนวนมากที่รัฐบาลจะต้องเตรียมความพร้อมรับมือเพื่อลดผลกระทบที่รุนแรงต่อเศรษฐกิจและวิถีชีวิตของประชาชน”  คำแถลงนโยบาย ของ คณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี แถลงต่อรัฐสภา วันจันทร์ที่ 11 กันยายน 2566

ขณะเดียวกัน  นายเศรษฐา กล่าวถ้อยแถลงในการประชุมระดับผู้นำว่าด้วยการดำเนินการสภาพภูมิอากาศ (Climate Ambition Summit) ในโอกาสเข้าร่วมการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญครั้งที่ 78 (UNGA78) สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา โดยจะผลักดันไทยยกเลิกใช้ถ่านหิน เพิ่มสัดส่วนพลังงานสะอาด พื้นที่สีเขียว ขับเคลื่อนกรีนไฟแนนซ์

การประชุมคณะกรรมการเพื่อรองรับสถานการณ์เอลนีโญ (El Nino) และ ลานีญา (La Nina) ของประเทศไทย ครั้งที่ 1/2566 แต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อรองรับสถานการณ์เอลนีโญและลาณีญาของประเทศไทย ประกอบคณะกรรมการจำนวน 21 ราย โดยมี รองนายกรัฐมนตรี นายภูมิธรรม เวชยชัย เป็นประธานกรรมการ และอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยาเป็นกรรมการและเลขานุการ นอกจากนี้ยังมีการพิจารณา ยุทธวิธี ยุทธศาสตร์ และเป้าหมายการทำงาน

ในการประชุม นายปลอดประสพ สุรัสวดี รองประธานกรรมการ ชี้แจงสภาวะอากาศของโลก ความเปลี่ยนแปลง และผลกระทบต่างๆ ระบุว่า โลกร้อนขึ้นแน่นอน โลกรวนมีความแปรปรวน ทั้งที่สามารถคาดการณ์ได้และไม่ได้ โดยเฉพาะประเทศไทยเป็นประเทศที่มีขนาดเล็ก มีมหาสมุทรอยู่ 2 ฝั่ง ฝั่งตะวันออก คือมหาสมุทรแปซิฟิก โดยทะเลจีนใต้ ฝั่งตะวันตก คือมหสุทรอินเดีย โดยทะเลอันดามัน

ดังนั้นประเทศไทยจะได้รับผลกระทบจาก 2 มหาสมุทรที่เกิดขึ้นต่อเนื่องกันได้ภายใน 10 นาที - 1 ชั่วโมง ความแปรปรวนจึงมีสูงมากจนบางครั้งไม่สามารถแก้ไขได้ทัน ผลกระทบที่สำคัญจะกระทบชีวิตความเป็นอยู่และเศรษฐกิจ

ประเทศไทยจึงต้องบริหารความเสี่ยง เตรียมความพร้อมเพื่อเผชิญเหตุความแห้งแล้งที่รุนแรงและยาวนาน เพราะปรากฎการณ์เอลนีโญจะเกิดขึ้นแน่นอน ซึ่งจะแสดงความรุนแรงชัดเจนในช่วงฤดูแล้งและจะแสดงความรุนแรงมากขึ้นในปีต่อๆไป โดยความเสียหายที่จะเกิดขึ้น กระทบ 7 ด้าน

ระบบนิเวศป่าไม้

  • ป่าดิบชื้นเปลี่ยนเป็นป่าดิบแห้ง
  • แอ่งซับน้ำตามไหล่เขาจะเหือดแห้ง
  • ต้นนำจะไม่มีน้ำซับและน้ำใต้ดิน
  • เศษใบไม้จะพอกพูนเป็นเชื้อไฟป่า
  • จะมีไฟป่าขนาดใหญ่
  • หญ้าและทุ่งหญ้าจะหมดไป สัตว์เท้ากีบจะอดยาก และต่อเนื่องไปถึงสัตว์กินเนื้อ
  • ช้างจะออกอาละวาดหนัก กว่า 2,500 ตัว
  • น้ำตกจะเหือดแห้ง

ระบบนิเวศทางน้ำ

  • อ่างเก็บน้ำจะเหลือน้ำแค่ท้องอ่างทำชลประทานไม่ได้และไม่สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้
  • คลอง หนอง บึง จะเหือดแห้ง
  • Wetland (พื้นที่ชุ่มน้ำ ) จะถูกทำลาย
  • ฝั่งคลองและแม่น้ำจะสไลด์ (ไม่มีน้ำกั้น)
  • น้ำทะเลจะสูงขึ้น
  • พืชน้ำจะตาย สัตว์ขนาดเล็กก็ตาย ปลาตามธรรมชาติจะขาดอาหาร
  • ปลาน้ำจืดและสัตว์น้ำจืดตาย
  • ปลาที่ขายตามตลาดสดจะเน่าเสียเร็วเพราะอากาศร้อน

ระบบนิเวศทางอากาศ

  • อากาศจะร้อนและแห้งจัด
  • ฝุ่นจะกระจายไปทั่วโดยเฉพาะตามถนน
  • P.M 2.5 จะรุนแรง
  • เกิดไฟไหม้ง่ายขึ้น
  • นกจะเข้ามาอาศัยตามวัด/บ้านเรือน

การประมง

  • ปลาตามธรรมชาติจะตาย
  • ปลาในกระชังเลี้ยงไม่ได้
  • ปลาตามบ่อเลี้ยงไม่ได้
  • ปลาน้ำจืดขาดแคลนมีราคาสูง
  • นกน้ำจะล้มตาย
  • พายุ ถ้ามีจะรุนแรงมาก
  • น้ำท่วมจะท่วมเฉพาะพื้นที่

ปศุสัตว์

  • การเลี้ยงสัตว์ในทุ่งทำไม่ได้อีกต่อไป
  • โรงเลี้ยงจะร้อนมาก สัตว์จะตาย
  • อาจจะมีโรคระบาดแปลกๆ เกิดขึ้น
  • ราคาเนื้อสัตว์จะแพง
  • เนื้อสดที่ขายตามตลาดจะเน่าเสียเร็ว เนื่องจากอากาศที่ร้อน

การเกษตร

  • ไม้ผลจะตายหรือไม่มีผลผลิต
  • พืชไร่ที่ใช้น้ำมากอย่าง เช่นข้าว จะเหลือที่ปลูกน้อย
  • ดินจะแข็งไถยากขึ้น
  • ผลผลิตพืชทุกชนิดจะลดลงราคาอาจสูงขึ้น
  • วัชพืชจะเกิดได้เร็ว
  • อาจมีโรคอุบัติใหม่
  • ผลไม้ที่เก็บแล้วจะสุกเร็วมาก
  • ระยะเวลาที่เกษตรกรอยู่ในไร่จะน้อยลง ทำให้ได้ผลผลิตน้อยลง

น้ำกินน้ำใช้

  • ขาดแคลนไม่พอใช้
  • ไม่มีเลย
  • คุณภาพน้ำไม่ดี

ทั้งนี้เพื่อบรรเทาผลกระทบต่อประชาชนและระบบเศรษฐกิจ หากเกิดขึ้นยาวนาน 3 ปีขึ้นไป ต้องปรับตัว (Adaptation) ด้วยการจัดทำยุทธวิธี ดังนี้

  • ติดตามประเมินสถานการณ์รายวัน และสรุปแบบรายสัปดาห์ รายเดือน และรายปีเพื่อให้ทราบและเข้าใจในภาพรวม
  • จัดทำแถลงการณ์ ประกาศสถานการณ์พื้นที่ภัยพิบัติ มีการประชาสัมพันธ์ให้ขาวที่แม่นยำ ชัดเจน เข้าใจง่าย โดยมีการเดินทางไปตรวจสอบยืนยันว่าอยู่ในสภาวะที่ต้องประกาศการเตือนภัย
  • เตรียมแผนเผชิญเหตุ เพื่อลดผลกระทบ
  • เตรียมทำแผนช่วยเหลือฟื้นฟูและเยียวยา
  • เตรียมทำแผนการปรับตัว (Adaptation) สำหรับระยะยาว
  • จัดสัมมนาทางวิชาการเพื่อระดมความคิดและจัดทำคลังข้อมูลแห่งชาติ
  • ประสานข้อมูลจากต่างประเทศ
  • ให้ใช้ระบบเทคโนโลยีสาระสนเทศให้เกิดประสิทธิภาพที่สุดและใช้ระบบเทคโนโลยีเพื่อการสื่อสารข้อมูล