สภาธุรกิจโลกเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (World Business Council on Sustainable Development – WBCSD) องค์กรระดับโลกที่ขับเคลื่อนด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนโดย CEO ของธุรกิจชั้นนำมีสมาชิกทั่วโลกมากกว่า 250 องค์กร ได้เผยแพร่รายงาน Reporting Matters ประจำปี 2023 วิเคราะห์และประเมินผลการจัดทำรายงานความยั่งยืนของบริษัทเอกชนจากทั่วโลกที่เป็นสมาชิก WBCSD โดยในปีนี้ได้เปิดรายชื่อ 11 บริษัทชั้นนำที่จัดรายงานความยั่งยืนดีเด่น
โดยมี เครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือ ซีพี จากประเทศไทย ติด 1 ใน 11 บริษัทที่ได้รับคะแนนสูงสุดเนื่องจากมีความโดดเด่นในการจัดทำประเด็นสำคัญและมียุทธศาสตร์ด้านความยั่งยืนที่ชัดเจนครอบคลุมทุกมิติ รวมถึงมีการสร้างการมีส่วนร่วมกับผู้มีส่วนได้เสีย โดยซีพีได้รับการประเมินในระดับ Top Performer ต่อเนื่องเป็นปีที่ 2
นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ กล่าวว่ารายงานความยั่งยืนถือเป็นเสาหลักสำคัญของการเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริง อันเป็นผลมาจากการสร้างความตระหนักรู้วางเป้าหมายกำหนดตัวชี้วัด การสื่อสารขององค์กรและการจัดเก็บข้อมูลอย่างเป็นเนื้อเดียวกับการดำเนินธุรกิจ นับเป็นการส่งเสริมความโปร่งใสของการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนนอกจากนั้นการเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะจะนำไปสู่การเปรียบเทียบผมการดำเนินการปีต่อปี ทั้งของตัวเองและกับผู้อื่นเกิดกระบวนการเรียนรู้ เกิดการตรวจสอบติดตามผล ลดความเสี่ยงของ Green Washing หรือการสร้างภาพลักษณ์ด้านความยั่งยืนเพื่อกลบเกลื่อนการประกอบธุรกิจที่ส่งผลในเชิงลบ ขาดความรับผิดชอบ และสุดท้ายกลไกของความโปร่งใสจะก่อให้เกิดการแข่งขันการทำความดีหรือ Race to the Top
ด้าน นายสมเจตนา ภาสกานนท์ ผู้อำนวยการด้านพัฒนาความยั่งยืน สำนักบริหารความยั่งยืน ธรรมาภิบาลและสื่อสารองค์กร บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด (ซีพี) เปิดเผยว่า เครือซีพีมีความภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่ WBCSD ยกย่องให้เครือฯ เป็นแบบอย่างที่ดีติดท็อปองค์กรธุรกิจชั้นนำระดับโลกในการจัดรายงานความยั่งยืนต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 โดยการคัดเลือกรายงานด้านความยั่งยืนทาง WBCSD ได้กำหนดเกณฑ์การประเมิน 3 ด้านหลักคือ Principles Content และ Effectiveness โดยเครือซีพีได้รับการประเมินว่ามีการปรับปรุงและพัฒนาการจัดทำรายงานด้านความยั่งยืนอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อให้สอดคล้องกับเกณฑ์มาตรฐานระดับสากลมาอย่างต่อเนื่อง มีการกำหนดขอบเขตของรายงานที่ครอบคลุมทุกมิติด้านความยั่งยืนทั้งเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม และได้มีการระบุรายละเอียดของมาตรฐานที่ใช้อ้างอิงในการจัดทำรายงาน
ในปีนี้เครือฯ ได้รับการประเมินผลภาพรวมรายงานความยั่งยืนของเครือฯ ประจำปี 2022 ที่เป็นแบบอย่างที่ดีมีความโดดเด่นใน 3 ด้านสำคัญคือ
1. มีกระบวนการประเมินประเด็นสำคัญด้านความยั่งยืน (Materiality Assessment) ในรูปแบบใหม่ที่เรียกว่า Double และ Dynamic มาประยุกต์ใช้เป็นครั้งแรก ซึ่งช่วยให้เครือฯ มีความเข้าใจมากขึ้นเกี่ยวกับประเด็นด้านความยั่งยืนและเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้นตามสถานการณ์และช่วงเวลา
2. เครือฯ มียุทธศาสตร์ด้านความยั่งยืนที่ชัดเจน รวมถึงแผนการดำเนินงาน มีการแสดงผลกระทบด้านการเงินและหลักฐานการดำเนินงานสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของการประกาศเป้าหมายนำองค์กรสู่ Net Zero ในปี 2050 ที่ชัดเจน โดยได้มีการจัดทำแผนกำหนดขอบเขตการปล่อยก๊าซเรือนกระจกครอบคลุม 3 ขอบเขตสำคัญทั้งระยะสั้นและยาว ถือเป็นสิ่งแสดงความมุ่งมั่นขององค์กรพร้อมสะท้อนความโปร่งใสในการเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณชนในวงกว้าง
3. เครือฯ มีการกระบวนการสร้างความผูกพันกับผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วน โดยเครือฯ ดำเนินการสำรวจความผูกพันของผู้มีส่วนได้เสียเป็นประจำทุกปีเพื่อรวบรวมความคิดเห็นและข้อมูลเชิงลึกจากผู้มีส่วนได้เสียของเราโดยตรง อีกทั้งยังเป็นการแสดงถึงความมุ่งมั่นของเราในการสร้างการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสีย
สำหรับปีนี้เครือฯ ได้เปิดตัวรายงานความยั่งยืนประจำปี 2022 ภายใต้แนวคิด "ผู้นำด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนเพื่อพรุ่งนี้ที่ดีกว่า" เพื่อเปิดเผยผลการดำเนินงานที่มุ่งมั่นและตั้งใจในการขับเคลื่อนเป้าหมายยุทธศาสตร์ด้านความยั่งยืนสู่ปี 2030 ของเครือฯ รวมทั้งสิ้น 15 เป้าหมาย ภายใต้กรอบการทำงาน 3 เสาหลัก คือ Heart - Health - Home ที่ครอบคลุมทุกมิติของความยั่งยืนทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม และสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (SDGs) โดยนำเสนอผลการดำเนินงานที่เป็นรูปธรรมทั้งในแง่ของความสำเร็จ และในด้านของความท้าทายที่เครือฯ และบริษัทในเครือฯ ต้องเผชิญอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนแผนงานเพื่อสร้างความยั่งยืนในอนาคต โดยในรายงานฉบับนี้เน้นย้ำไปที่การพัฒนาใหม่ ๆ ของเครือซีพี และความก้าวหน้าในหัวข้อที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืนเป้าหมายยุทธศาสตร์ด้านความยั่งยืนของเครือเจริญโภคภัณฑ์
รายงานฉบับนี้ยังเปิดเผยผลการวิเคราะห์เชิงลึกเกี่ยวกับบริบทการดำเนินงาน และผลกระทบภายนอกที่อาจมีอิทธิพลต่อการดำเนินธุรกิจ รวมไปถึงจัดการความเสี่ยงขององค์กร โดยผลจากการวิเคราะห์ได้รวมเข้าไปในกระบวนการประเมินประเด็นสำคัญด้านความยั่งยืนแบบ Double และ Dynamic ซึ่งจะช่วยให้เครือฯ มีความเข้าใจอย่างลึกซึ้งในหัวข้อความยั่งยืนที่มีความสำคัญ ทำให้การสร้างการมีส่วนร่วมกับผู้มีส่วนได้เสียมีประสิทธิภาพดีขึ้น สามารถจัดการความเสี่ยง ระบุโอกาส ปรับปรุงการรายงาน และสร้างมูลค่าระยะยาวได้ดีขึ้น แนวทางนี้ทำให้บริษัทเป็นผู้นำในการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน ขับเคลื่อนผลกระทบเชิงบวกและลดผลกระทบเชิงลบทั้งต่อการดำเนินงานและสังคมในวงกว้าง
นอกจากนี้ เครือซีพี ได้จัดทำรายงานเฉพาะเรื่องเพิ่มเติมอีก 6 ฉบับ ได้แก่
1. Double and Dynamic Materiality Assessment Report 2022
2. Stakeholder Engagement Report 2022
3. Sustainability Performance Report 2022
4. Sustainable Development Goals (SDGs) Report 2022
5. Task Force on Climate-related Financial Disclosure (TCFD) Report 2022
6. Biodiversity (TNFD) Report 2022
โดยปีนี้ถือเป็นปีแรกที่เครือซีพีได้จัดทำ Biodiversity (TNFD) Report 2022 ซึ่งเป็นการสะท้อนถึงความมุ่งมั่นในการดำเนินงานของเครือซีพี