จากสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง การเพิ่มของอุณหภูมิ 2 องศาเซลเซียส จะสร้างผลกระทบรุนแรงต่อโลก คน 2.4 ล้านคน อาจต้องสูญเสียอาชีพและที่อยู่อาศัย ความยั่งยืนจึงเป็นวิสัยทัศน์ที่ไมโครซอฟท์ ให้ความสำคัญ พร้อมทั้งดูแลการปล่อยคาร์บอนฟุตพริ้นและการปล่อยคาร์บอนในอากาศ และยังมีการลงทุนใหม่ ๆ ในการแก้ไขปัญหา รวมถึงการใช้นวัตกรรมในการลดก๊าซคาร์บอนอย่างมีประสิทธิภาพ
ไมโครซอฟท์จัดตั้งงบประมาณ Climate Innovation Fund เพื่อสนับสนุนนวัตกรรมเพื่อการแก้ปัญหาสภาพภูมิอากาศมูลค่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเวลานี้ยังเหลืออีก 400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 1.4 หมื่นล้านบาท( อัตราแลกเปลี่ยน 35 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ) ที่พร้อมสนับสนุนกับบุคคลหรือบริษัทที่สนใจ
นายธนวัฒน์ สุธรรมพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า สิ่งที่ทุกคนต้องทำเวลานี้ คือ “Disrupt” การนำเทคโนโลยีมาปรับเปลี่ยนตัวเอง เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ในการทำธุรกิจจะต้องคำนึงถึงการปล่อยก๊าซคาร์บอน เพื่อช่วยขับเคลื่อนให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์
ไมโครซอฟท์ได้ดำเนินการด้วยการทดลองทำโครงการ Northern Lights ร่วมกับของรัฐบาลนอร์เวย์ และบริษัทพลังงาน Equinor, Shell และ Total เพื่อสร้างมาตรฐานและปรับขนาดการดักจับและจัดเก็บคาร์บอนหรือ Carbon capture and storage (CCS) ทั่วยุโรป และจะใช้พลังงานสะอาดเพื่อเป็นแหล่งพลังงานใน Data centerในปี ค.ศ.2025
ทั้งนี้ ไมโครซอฟท์ได้เดินหน้าเป้าหมายด้านความยั่งยืน (Sustaina bility) ใน 4 เรื่องหลัก ล้อไปกับเป้าหมาย SDGs 17 ประการ (Sustainable Development Goals : SDGs) ของสหประชาชาติ ซึ่งประกอบด้วย
1.Carbon โดยในปี ค.ศ.2025 ทุก Data Center ของไมโครซอฟท์กว่า 200 Data Center จะทำงานด้วยพลังงานทดแทน(Renewable Energy) 100% และในปี ค.ศ.2030 ไมโครซอฟท์จะต้องเป็น Negative Carbon Company และในปี ค.ศ. 2050 จะจัดการเรื่องชดเชยคาร์บอนไดออกไซด์ทั้งหมด ที่ไมโครซอฟท์ปล่อยออกมาตั้งแต่เริ่มต้นบริษัทเมื่อปี ค.ศ.1975 ให้แล้วเสร็จและกลายเป็นศูนย์
2.Waterจะมุ่งสู่สถานะ “Water Positive” หรือคืนนํ้าสะอาดสู่สิ่งแวดล้อมมากกว่าที่นำมาใช้ภายในปี ค.ศ.2030 3. Waste Management ไตั้งเป้าภายในปี ค.ศ.2030 จะมุ่งสู่ Positive ในเรื่องของ Waste และ 4.นำสิ่งที่ทำมาแล้ว ทั้งเรื่องของคาร์บอน นํ้า และขยะ ไปสร้างเป็น Ecosystem
ดังนั้น ในการทำธุรกิจกับไมโครซอฟท์ในวันนี้ หากใครที่ไม่ตอบโจทย์ด้านความยั่งยืนใน 4 เรื่องหลักนี้ ไมโครซอฟท์ก็จะไม่เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการจัดซื้อจัดจ้าง (Procurement List) ด้วย
อีกทั้ง ในการดำเนินธุรกิจ ไมโครซอฟท์ ยังให้ความสำคัญกับการทำ “5R” ได้แก่ Record, Report, Redue, Remove และ Replace และนำ 5R นี้มาสร้าง Productivity ให้กับผลิตภัณฑ์และบริการของไมโครซอฟท์ มาตรการเหล่านี้ ถือเป็นบรรทัดฐานที่จะทำให้สามารถรู้สถานะคาร์บอนฟุตพริ้นต์ (Carbon Footprint) ขององค์กร และจะทำให้องค์กรสามารถปรับเปลี่ยนวิธีการดำเนินธุรกิจ เพื่อนำไปสู่ความยั่งยืนได้ตามเป้าหมายที่วางไว้
นายธนวัฒน์ กล่าวอีกว่า การทำงานด้านความยั่งยืน ไม่สามารถดำเนินการเเพียงคนเดียวได้ จำเป็นต้องทำงานร่วมกันตลอดห่วงโซ่ ไม่ว่าจะเป็นซัพพลายเออร์ พาร์ทเนอร์ หรือเวนเดอร์ รวมไปถึงลูกค้า เนื่องจากไมโครซอฟท์เคยมีประสบการณ์เมื่อปี ค.ศ.2022 บริษัท สามารถลดการปล่อยคาร์บอนจากการดำเนินงาน รวมไปถึงพลังงานที่ใช้ (Scope 1 และ Scope 2) ได้มากถึง 22.7% แต่ทั้งหมดนี้คิดเป็นเพียง 4% ของการปล่อยก๊าซตลอดห่วงโซ่การดำเนินธุรกิจของไมโครซอฟท์เท่านั้น
ทั้งนี้ ไมโครซอฟท์ได้กำหนด 2 แนวทาง สำหรับการร่วมมือกับพาร์ทเนอร์ คือ 1.การ Reinforcement หรือการวางกรอบนโยบายต่างๆ กับผู้มีส่วนร่วมตลอดห่วงโซ่ธุรกิจ เช่น การจะมาเป็นซัพพลายเออร์ ให้กับไมโครซอฟท์จะต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงให้ได้ 55% ในปี 2030 ซึ่งหลังมีนโยบายนี้ส่งผลให้ Supplier 12 บริษัทเปลี่ยนไปใช้พลังงานหมุนเวียนทันที และ 6 จาก 12 บริษัทในเวลานี้ก็ใช้พลังงานหมุนเวียน 100% เป็นทีเรียบร้อยแล้ว นั่นคือพลังของการ Reinforcement ที่จะกลายเป็นห่วงโซ่ต่อไปแบบไม่รู้จบได้
2.Encouragement ไมโครซอฟท์นำเสนอเรื่องนี้ในฐานะบริการที่มีชื่อว่า Cloud for Sustainability ที่สามารถช่วยให้บริษัททั้งขนาดเล็ก กลางหรือใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐหรือเอกชนสามารถ “บันทึก” และ “รายงาน” การดำเนินการสู่ความยั่งยืนใน Scope 1 และ Scope 2 ได้
ปัจจุบัน ประเทศไทยยังคงเป็นตลาดกลยุทธ์ของไมโครซอฟท์ในระดับอาเซียน แนวทางการลงทุนจากนี้จะเน้นไปที่การยกระดับศักยภาพธุรกิจ เพิ่มการเข้าถึงเทคโนโลยี โดยเกณฑ์ในการพิจารณาตัดสินใจจะขึ้นอยู่กับนโยบายรัฐบาลไทยที่ต้องสอดคล้องไปกับนโยบายของไมโครซอฟท์ด้วย