เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นและกรีนพีซ ประเทศไทย เปิดตัวรายงาน "เสียงแห่งจะนะ" ซึ่งรวบรวมข้อมูลคุณค่าทางเศรษฐกิจ สังคมของอำเภอจะนะ และความเสี่ยงด้านผลกระทบทางทรัพยากรธรรมชาติ อากาศ ทะเลและชายฝั่ง ไปจนถึงภัยคุกคามต่ออาชีพและสุขภาพของชุมชน หากมีโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะเกิดขึ้น
โครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ ผ่านมติคณะรัฐมนตรีในปี 2562 แต่หลังจากเสียงคัดค้านของชุมชน ทำให้ต้องมีการจัดทำการศึกษาการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA) โดยในช่วงสองปีที่ผ่านมา กรีนพีซ ประเทศไทย ชาวบ้านอำเภอจะนะ และนักวิชาการจึงได้รวบรวมข้อมูลทรัพยากร และรายได้ที่สัมพันธ์กับทรัพยากรธรรมชาติ และศึกษาผลกระทบของโครงการนิคมฯต่อวิถีชีวิตชุมชน จนออกมาเป็นรายงานฉบับนี้
รายงานพบว่า มลพิษที่สำคัญที่จะเกิดขี้นหากมีการตั้งนิคมอุตสาหกรรมตามแผนดังกล่าวมี 5 ชนิด ได้แก่ ฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5และPM10) ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2) ไนโตรเจนไดออกไซด์(NO2) และปรอท โดยมลพิษทั้ง 5 ชนิดจะส่งผลกระทบต่อทั้งสุขภาพของคนทางร่างกาย และจิตใจ มีผลกระทบต่ออาชีพประมงอาชีพ เลี้ยงนกและเกษตรกรรม
รุ่งเรือง ระหมันยะ ชาวประมงชุมชนสวนกง อำเภอจะนะ และเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น กล่าวว่า แผนนิคมอุตสาหกรรมจะนะอยู่ๆ ก็ได้รับการอนุมัติ โดยไม่ได้มีการศึกษาที่รอบคอบและไม่มีส่วนร่วมจากประชาชน อำเภอจะนะมีความอุมสมบูรณ์ทั้งปลาในทะเล ทรัพยากรในป่า การทำเกษตร และนกเขาที่โด่งดัง คนจะนะพึ่งพิงทรัพยากรเหล่านี้มารุ่นสู่รุ่น การต่อสู้ด้วยข้อมูลที่เรารวมรวมทำขึ้นจะทำให้เราสามารถยืนยันถึงความอุดมสมบูรณ์นี้ และผลักดันให้เกิดการพัฒนาที่ต่อยอดจากทรัพยากรที่เรามี ไม่ใช่ทดแทนพื้นที่ด้วยอุตสาหกรรมที่จะส่งผลกระทบต่อทั้งสิ่งแวดล้อม อาหาร อากาศ สุขภาพและวัฒนธรรม
วรรณิศา จันทร์หอม เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น และหนึ่งในทีมเก็บข้อมูลร่วมกับกรีนพีซ กล่าวว่า ช่วงกว่าสองปีที่ผ่านมา มีการเก็บข้อมูลศักยภาพพื้นที่ชุมชน และพบว่าทรัพยากร สิ่งแวดล้อมทั้งป่า เขา ทะเล เป็นทรัพยากรที่มีคุณค่าและสร้างรายได้ให้กับชุมชนมหาศาล แน่นอนว่าถ้าถูกแทนที่ด้วยอุตสาหกรรม ไม่เพียงแค่ทรัพยากรที่จะหายไป แต่จะกระทบถึงรายได้และวิถีชีวิตของชาวบ้านจะนะที่พึ่งพิงทรัพยากรเหล่านี้
วิภาวดี แอมสูงเนิน นักรณรงค์โครงการทะเลและมหาสมุทร กรีนพีซ ประเทศไทย กล่าวว่า ที่ผ่านมามีโครงการพัฒนาของรัฐที่ละเมิดสิทธิชุมชน สิทธิมนุษยชน และทำลายสิ่งแวลล้อมเกิดขึ้นจำนวนมาก จะนะเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่ต้องเผชิญกับปัญหานี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า รายงานฉบับนี้จะช่วยให้ได้เห็นประสบการณ์ เบื้องหลังความคิด และพัฒนาการว่าทำไมชาวจะนะถึงต้องส่งเสียงต่อสู้เพื่อปกป้องทรัพยากรธรรมชาติของตนเอง
ขณะที่ข้อมูลทั้งเชิงเศรษฐกิจ สังคม และผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมในรายงานเล่มนี้จะชี้ให้เห็นว่าการขับเคลื่อนของชาวบ้านนั้นไม่เพียงเพื่อตัวเอง แต่เพื่อทุกคนในสังคมที่ใช้และเป็นเจ้าของทรัพยากรร่วมกัน ข้อมูลเหล่านี้นำไปสู่การพูดคุยให้เกิดข้อเสนอแนวทางการพัฒนาของชาวบ้านที่ทำให้เห็นว่าชุมชนมีศักยภาพที่จะเป็นผู้กำหนดนโยบายและออกการพัฒนาที่ยั่งยืนสำหรับพื้นที่ของตัวเองได้
ข้อค้นพบด้านผลกระทบจากมลพิษที่อาจเกิดขึ้น
มลพิษทั้ง 5 ชนิดมีผลกระทบกับทั้งสุขภาพของคนทางร่างกาย และจิตใจ มีผลกระทบต่ออาชีพประมง อาชีพเลี้ยงนกและเกษตรกรรม ไม่ว่ามลพิษนั้นจะมีค่าต่ำ หรือสูงกว่าค่ามาตรฐานมลพิษอากาศในบรรยากาศของไทย
ผลกระทบด้านสุขภาพต่อคนโดยรวม (กรณีโรงงานปล่อยมลพิษ PM 2.5, PM 10, SO2, NO2 เพิ่มขึ้นเกิน 10 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร)
ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมกลุ่มผู้เลี้ยงนกเขา (กรณีโรงงานปล่อยมลพิษ SO2, NO2 เพิ่มขึ้นเกิน 10 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร)
ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมกลุ่มผู้ทำประมงพื้นบ้าน (กรณีโรงงานปล่อยมลพิษ SO2, NO2, ปรอท เพิ่มขึ้นเกิน 10 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร)
ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมกลุ่มเกษตรกร (กรณีโรงงานปล่อยมลพิษ SO2, NO2 เพิ่มขึ้นเกิน 10 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร)