คนกรุงฯจมฝุ่น PM2.5 พบ 21 จุดเกินค่ามาตรฐาน มีผลต่อสุขภาพ

21 พ.ย. 2566 | 08:31 น.
อัปเดตล่าสุด :21 พ.ย. 2566 | 08:39 น.

ค่าฝุ่น PM2.5 กทม.บ่ายวันนี้ แนวโน้มพุ่ง เช็คเลย 21 จุดเกินค่ามาตรฐาน มีผลต่อสุขภาพ พร้อมตรวจสอบแนวทางแก้ไขปัญหา PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพฯที่นี่

สถานการณ์ฝุ่นละออง PM 2.5 ในพื้นที่กรุงเทพมหานครในช่วงบ่ายวันนี้ (วันที่ 21 พ.ย.2566 )ศูนย์ข้อมูลคุณภาพอากาศกรุงเทพมหานคร ได้สรุปผลการตรวจวัด PM2.5 เวลา 12.00-14.00 น. พบว่าตรวจวัดได้ 20.9-48.6 มคก./ลบ.ม. หรือคิดเป็นค่าเฉลี่ยของกรุงเทพมหานคร 33.8 มคก./ลบ.ม โดยค่า PM2.5 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เกินมาตรฐานจำนวน 21 พื้นที่ และเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ จำนวน 21 พื้นที่

สำหรับพื้นที่ 21 จุดที่ค่า PM2.5 พุ่งประกอบไปด้วย

  1. เขตราชเทวี 
  2. เขตสัมพันธวงศ์ 
  3. เขตวังทองหลาง 
  4. เขตปทุมวัน 
  5. เขตยานนาวา 
  6. เขตลาดกระบัง 
  7. เขตธนบุรี 
  8. เขตบางกอกน้อย 
  9. เขตภาษีเจริญ 
  10. เขตบางเขน 
  11. เขตบางพลัด 
  12. เขตบางขุนเทียน 
  13. เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย 
  14. เขตบางกอกใหญ่ 
  15. เขตทวีวัฒนา 
  16. เขตหนองแขม 
  17. เขตบางบอน 
  18. เขตหนองจอก 
  19. เขตคลองสามวา 
  20. สวนธนบุรีรมย์ เขตทุ่งครุ 
  21. สวนทวีวนารมย์ เขตทวีวัฒนา 

ค่าฝุ่น PM2.5 กทม.บ่ายวันนี้ แนวโน้มพุ่ง

ทั้งนี้กรุงเทพมหานคร ได้แนะนำด้านสุขภาพ เนื่องจากระดับฝุ่น PM2.5 เกินค่ามาตรฐานที่วางไว้ โดยอยู่ในระดับสีส้ม ที่เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ โดยประชาชนสามารถตรวจสอบข้อมูลได้ดังนี้ 

สำหรับบุคคลทั่วไป

  • ควรลดระยะเวลาการทำกิจกรรมกลางแจ้ง หรือใช้อุปกรณ์ป้องกันตนเองหากมีความจำเป็น 

ผู้ที่ต้องดูแลสุขภาพเป็นพิเศษ 

  • ควรลดระยะเวลาการทำกิจกรรมกลางแจ้ง หรือใช้อุปกรณ์ป้องกันตนเอง หากมีความจำเป็น ถ้ามีอาการทางสุขภาพ เช่น ไอ หายใจลำบาก ตาอักเสบ แน่นหน้าอก ปวดศีรษะ หัวใจเต้นไม่เป็นปกติ คลื่นไส้ อ่อนเพลียควรปรึกษาแพทย์

อนึ่ง กทม.ได้ประกาศแนวทางการแก้ไขปัญหา PM2.5 โดยจับมือกับหลายภาคส่วนดำเนินการตามแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ปี 2567 ภายใต้แผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” ตลอด 365 วัน ทั้งการเฝ้าระวัง การแจ้งเตือน


 
โดยในปีนี้ กทม. ได้ทำ Risk map นำข้อมูลจุดเสี่ยงที่อาจก่อให้เกิด PM2.5 ลงในแผนที่ทั้งหมด เช่น โรงงาน แพลนท์ปูน สถานที่ก่อสร้าง อู่พ่นสีรถ เพื่อระบุพิกัดสถานที่ตั้ง รวมถึงเพื่อให้สามารถตรวจสอบผลการดำเนินการ ประกอบกิจการ ทำให้ กทม. หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สามารถควบคุมแหล่งกำเนิดได้อย่างละเอียดแบบ realtime มากขึ้น 

 

อีกทั้ง กทม. ได้การปรับปรุงแอปพลิเคชัน AIR BKK ให้สามารถพยากรณ์ได้แม่นยำขึ้น และพยากรณ์ล่วงหน้าได้ 3 วัน เพื่อให้ประชาชนได้ติดตามสถานการ์สามารถวางแผนการทำงานและการใช้ชีวิตประจำวัน หรือหลีกเลี่ยงพื้นที่เสี่ยง เนื่องจากในบางมิติจะมีปัจจัยที่ก่อให้เกิด PM2.5 ที่ควบคุมได้ยาก

 

สำหรับกรณีเผาชีวมวล ในกรุงเทพฯ จะมีเขตหนองจอก มีนบุรี คลองสามวาที่มีการทำเกษตรกรอยู่แล้ว จะเฝ้าระวังโดยดูจากภาพถ่ายดาวเทียมตลอด ถ้ามีจุด Hot Spot เกิดขึ้นจะให้เจ้าหน้าที่เทศกิจเข้าไปดำเนินการที่ต้นตอ

 

ในส่วนของการดูแลและป้องกันสุขภาพประชาชน มีการทำห้องเรียนปลอดฝุ่น ติดตั้งเครื่องฟอกอากาศ 300 เครื่องให้กับศูนย์เด็กเล็ก 1,734 เครื่อง ให้กับโรงเรียนอนุบาล ปรับรูปแบบการเรียนของโรงเรียน แจกหน้ากากอนามัย และจัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ 50 เขต ซึ่งหากค่าฝุ่นสูงเกิน 75.1 มคก./ลบ.ม. จะยกระดับการดำเนินการ โดยควบคุมและดูแลการก่อสร้าง/สถานที่ก่อสร้าง ลดค่าโดยสารบีทีเอสส่วนต่อขยาย และขอความร่วมมือเครือข่ายทั้งภาครัฐ เอกชน Work From Home 

 

ปัจจุบันมีเครือข่ายลงทะเบียนพร้อมร่วม Work From Home หากค่าฝุ่นสูงแล้ว 121 แห่ง และสนใจเข้าร่วม 102 แห่ง รวมจำนวนพนักงาน 47,677 คน

กทม. ปรับปรุงแอปพลิเคชัน AIR BKK