“ศุภชัย”จี้รัฐสร้างมาตรฐานคาร์บอนเครดิต-ราคาพลังงานสีเขียว

13 ธ.ค. 2566 | 06:38 น.
อัปเดตล่าสุด :13 ธ.ค. 2566 | 07:00 น.

ประธานคณะผู้บริหารซีพี ชี้รัฐต้องชัดเจนนโยบายยั่งยืน ระบุพลังงานสีเขียวไทยแพงกว่าต่างประเทศ ต้องหามาตรฐานที่เหมาะสม

นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด  กล่าวตอนหนึ่งในสัมมนา SUSTAINABILITY FORUM 2024 จัดโดยกรุงเทพธุรกิจ ภายใต้หัวข้อ Lesson and Learns Ways to Ward  Sustainability   ว่าหากรัฐบาลต้องการที่จะเดินหน้าเรื่องของความยั่งยืนให้สำเร็จได้จริง จำเป็นต้องมีนโยบายที่ชัดเจนและอิสระในการทำงานมากขึ้น เช่น เรื่องพลังงานต้องให้ EGAT มีมาตรการด้านคาร์บอนที่ชัดเจนร่วมกับรัฐและเอกชน หรือ เรื่องของพลังงานสีเขียวของไทยยังแพงกว่าต่างประเทศ หากอยากแข่งขันได้ก็ต้องหามาตรฐานราคาที่เหมาะสม

“ศุภชัย”จี้รัฐสร้างมาตรฐานคาร์บอนเครดิต-ราคาพลังงานสีเขียว

โดยขณะนี้ทุกบริษัทในตลาดหลักทรัพย์มีแผนงานและเดินหน้าเรื่อง ESG กันมากขึ้น รัฐก็ต้องมีนโยบายที่เอื้อประโยชน์ ดึงดูดให้ทุกระดับของธุรกิจมาทำเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน

นายศุภชัย   กล่าวต่อไปอีกว่า อุณหภูมิของโลกปัจจุบันสูงขึ้นถึง 1.4 องศาเซลเซียส ส่งผลให้น้ำแข็งขั้วโลกละลายจนน้ำทะเลสูงขึ้นราว 65 เมตร ตอนนี้ขั้วโลกเหนือและกรีนแลนด์น้ำแข็งละลาย ทำให้มีปริมาณของน้ำสูงขึ้น 7 เมตร ถ้าขั้วโลกใต้น้ำแข็งละลายทำให้ปริมาณน้ำจะสูงขึ้น 58 เมตร สิ่งที่เราทำได้คือความพยายามในการรักษาปริมาณน้ำแข็งและผืนดินไม่ให้สัดส่วนแตกต่างกันมากเกินไป

และจะเกิดอะไรขึ้นหากอุณหภูมิโลกยังคงสูงขึ้น นั่นหมายถึงภัยที่จะกระทบประชากรโลกที่มีกว่า 400-500 คน ส่วนจะทำอย่างไรให้ประชาชนตระหนักรู้เกี่ยวกับภัยธรรมชาติและใส่ใจในเรื่องลดการใช้พลังงาน ต้องไม่ใช่แค่การให้ข้อมูลแต่ต้องเป็นในเรื่องของการลงมือทำให้เกิดผลจริง

นอกจากนี้ กว่า 65 ประเทศทั่วโลก มีเป้าหมายเรื่องการทำ Net Zero ให้สำเร็จภายในปี 2050 เพื่อให้อุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้น 2.4 องศาเซลเซียส และถ้าจะทำให้บรรลุเป้าหมายต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือปล่อยได้เพียง 33,000 ล้านตันคาร์บอนในปี 2030

นายศุภชัย   กล่าวต่อไปอีกว่า ปัญหาการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งโลก 59,000 ล้านคาร์บอน/ปี มาจาก  ภาคพลังงาน 34%  , ภาคอุตสาหกรรม 24% , ภาคเกษตร/ป่าไม้/การใช้ที่ดิน 22%    ,  ภาคขนส่ง 15%  และภาคอาคาร 6%    โดยประเทศที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุด ได้แก่ จีนและสหรัฐอเมริกา ส่วนไทยอยู่อันดับที่ 19 และการที่ภาคเอกชนเดินหน้าจะต้องมีแผนงานและการสนับสนุนที่ชัดเจน

ยกตัวอย่างเรื่องของบริษัทในเครือเจริญโภคภัณฑ์ บริษัททั้งเครือของเรามีพนักงานกว่า 4.5 แสนคนทั้งในไทยและต่างประเทศ การที่เราจะกระตุ้นให้โครงการใดๆ ประสบความสำเร็จ เรามีการให้รางวัล เช่น สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ อาจารย์ของเราเวลาจะคิดกิจกรรมให้เด็กๆ ทำร่วมกันและมีการจัดประกวดผลงานและให้รางวัล จะทำให้พวกเขาอยากเดินหน้าทำสิ่งต่างๆ อย่างต่อเนื่อง

ดังนั้น เป้าหมายใหญ่ของกลุ่มเครือเจริญโภคภัณฑ์  ในการทำเรื่องของรักษ์โลก คือ  Circular Economy : Zero Waste to Landfill ภายในปี 2030   , Circular Resilience : Carbon Neutral 2030 & Net Zero 2050  , Education & Inequality Reduction : สร้างการรับรู้ตลอดชีวิตให้แก่ประชาชน 50 ล้านคน

โดยในปี 2565 เครือเจริญโภคภัณฑ์มีปริมาณของเสียไปฝังกลบเพียง 10% และพยายามลดตัวเลขนี้ให้น้อยลงไปอีก แม้จะสวนทางกับธุรกิจที่มีการเติบโต ด้วยการลดการใช้พลังงานในการขนส่ง บรรจุภัณฑ์ เช่น   ลดพลาสติกด้วยการนำกลับมาใช้ซ้ำ/ใช้พลาสติกที่ย่อยสลายได้ 94% ,การนำฟิล์มพลาสติกห่อหุ้มกลับมาผลิตเป็นถุงพลาสติก 300 ล้านถุง   และ   นำขวดพลาสติก PET กลับมาแปรรูปเป็นเสื้อพนักงาน 7-11 ไปแล้วกว่า 755,790 ตัว 

นอกจากนี้ เครือเจริญโภคภัณฑ์มีการปลูกต้นไม้เพื่อสนับสนุนเป้าหมาย Carbon Neutral ปี 2563-2565 ไปแล้วกว่า 8.2 ล้านต้น และเป้าหมายของปี 2030 ในแผนที่ 1-2 คือ  ใข้พลังงานหมุนเวียนให้ได้ 50+50% , เพิ่มประสิทธิภาพพลังงาน 20% , ลดขยะของเสียเป็นศูนย์

ส่วนแผนที่ 3 เป็นแผนต่อเนื่องที่ทำให้สำเร็จตามกำหนดการได้ยาก แต่จะพยายามไปให้ถึงได้ นั่นคือ  ลดคาร์บอนร่วมกับคู่ค้า 25%,  ลดการปล่อยก๊าซจากเกษตรกรรม 30%   และลดคาร์บอนจากการขนส่ง 25%