นายสุทธิเกตติ์ ทัดพิทักษ์กุล รักษาการที่ปรึกษาด้านการลงทุน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ (BOI) เปิดเผยว่า บีโอไอให้ความสำคัญกับการส่งเสริมกิจการในกลุ่มอุตสาหกรรมเกษตร อาหาร และเทคโนโลยีชีวภาพเป็นอย่างมาก ซึ่งถือเป็นส่วนสำคัญของกลุ่มอุตสาหกรรม BCG ด้วยจุดเด่นของประเทศไทยที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ ถือเป็นข้อได้เปรียบที่ทำให้ปีที่ผ่านมาอุตสาหกรรมกลุ่มนี้มีการเติบโตอย่างมีนัยยะสำคัญ
โดยช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา มีคำขอรับส่งเสริมการลงทุนกว่า 200 โครงการ มูลค่ากว่า 50,000 ล้านบาท จากโครงการที่ขอรับส่งเสริมการลงทุนทั้งหมดกว่า 1,500 โครงการ
“ความแข็งแกร่งในอุตสาหกรรมเกษตร อาหาร และเทคโนโลยีชีวภาพ ช่วยสร้างโอกาสในวิกฤตให้กับประเทศไทย โดยในช่วงที่ผ่านมา บีโอไอให้ความสำคัญกับกิจการกลุ่มนี้เป็นพิเศษ มีการเพิ่มกิจการใหม่ ๆ และให้สิทธิประโยชน์เพื่อยกระดับผู้ประกอบการในประเทศไทยให้มีการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมให้สอดคล้องกับกระแสความเปลี่ยนแปลงของโลก”
ทั้งนี้ ด้วยการมุ่งมั่นยกระดับให้ประเทศไทยก้าวสู่เป้าหมายการเป็น BCG Capital ของอาเซียน และการให้สิทธิประโยชน์ของบีโอไอ ทำให้ปีที่ผ่านมา มีการขยายการลงทุนจากบริษัทผู้ผลิตอาหารระดับโลกมายังประเทศไทย เช่น มันฝั่งพริงเกิลส์ คุกกี้โลตัส
รวมถึงผู้ประกอบการไทย อย่างวราภรณ์ซาลาเปา และคุณเก๋ ขนมหวาน ผู้ผลิตขนมไทย ที่เริ่มต้นจากธุรกิจครอบครัว ต่อยอดยกระดับการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์และแพคเกจจิ้งที่ทันสมัย จนก้าวสู่ผู้นำในอุตสาหกรรมอาหารของไทย ถือเป็นตัวอย่างของผู้ประกอบการที่ได้รับสิทธิประโยชน์จากบีโอไอจูงใจให้เกิดการพัฒนาและยกระดับกระบวนการผลิตให้ทันสมัยให้สอดรับกับความต้องการของผู้บริโภค
นอกจากนี้ บีโอไอยังมุ่งส่งเสริมการลงทุนในเชิงของพื้นที่ โดยมีโมเดลความสำเร็จของโครงการเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ต่อยอดสู่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ 4 ภาค ได้แก่ ภาคเหนือ กลาง ตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ โดยเฉพาะพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือ Northeastern Economic Corridor: NeEC – Bioeconomy ที่เน้นการลงทุนในอุตสาหกรรม BCG เพื่อพัฒนาเป็นฐานอุตสาหกรรมชีวภาพของประเทศด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ตลอดห่วงโซ่การผลิต หรือ ไบโอฮับ ซึ่งในปี 2567 บีโอไอจะออกแบบมาตรการใหม่ ๆ เพื่อจูงใจให้เกิดการลงทุนให้สอดคล้องกับความหลากหลายและจุดแข็งของแต่ละพื้นที่ของระเบียงเศรษฐกิจทั้ง 4 ภาค เพื่อกระจายการลงทุนไปสู่ภูมิภาคต่าง ๆ ของประเทศไทย
นอกจากนี้ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นถิ่นกำเนิดของงานศิลปวัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น และความคิดสร้างสรรค์ และมีสถาบันการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เช่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี รวมไปถึงหน่วยงานวิจัยอื่น ๆ อีกหลายแห่งสามารถต่อยอดงานวิจัยได้ ที่สำคัญ
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือยังเป็นประตูเศรษฐกิจสู่ภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงที่มีศักยภาพเติบโตสูง และสามารถขยายการลงทุนออกไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ถือเป็นฐานการลงทุนของอุตสาหกรรม BCG หรือเป็นศูนย์กลางการลงทุนอุตสาหกรรม BCG ในภูมิภาคอาเซียน
สำหรับสถิติคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนในกลุ่ม BCG ของบีโอไอช่วงเดือนมกราคม - กันยายน 2566 พบว่า มีคำขอรับส่งเสริมฯ จำนวน 254 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 73,353 ล้านบาท ขณะที่ตัวเลขการออกบัตรส่งเสริม ซึ่งเป็นการลงทุนจริง พบว่า มีจำนวน 416 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 55,778 ล้านบาท
"บีโอไอจึงมุ่งผลักดันให้ผู้ประกอบการ โดยเฉพาะ Startup หรือ SMEs รุ่นใหม่ ให้เห็นความสำคัญของอุตสาหกรรม BCG โดยนำเทคโนโลยีและองค์ความรู้ใหม่ ๆ เข้ามาช่วยยกระดับการพัฒนากระบวนการผลิตสินค้าและบริการที่เชื่อมโยงตั้งแต่ต้นน้ำสู่ปลายน้ำ กระจายการลงทุนในทุกพื้นที่ของประเทศไทย เพื่อช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยไปสู่เศรษฐกิจใหม่อย่างยั่งยืนในอนาคต"
โมเดลเศรษฐกิจ BCG ถือเป็น Game Changers ที่จะเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจไทยไปสู่เศรษฐกิจใหม่ใน 3 มิติ ได้แก่ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) มุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรชีวภาพสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง เชื่อมโยงกับเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) คำนึงถึงการนำวัสดุต่าง ๆ กลับมาใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด และอยู่ภายใต้เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ซึ่งเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการพัฒนาสังคมและการรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุล