สิ้นสุดปี 2566 การดำเนินงานของหน่วยงานหรือองค์กรต่าง ๆ ในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อให้สอด คล้องกับเป้าหมายของประเทศที่จะบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี ค.ศ.2050 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปีค.ศ.2065 ยังเป็นไปต่อเนื่อง
องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) รายงานว่านับตั้งแต่ปีงบ ประมาณ 2557 จนถึงช่วงไตรมาสแรกปีงบประมาณ 2567 มีโครงการที่ได้รับการขึ้นทะเบียนขอรับรองคาร์บอนเครดิต ภายใต้โครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย” (Thailand Voluntary Emission Reduction Program : T-VER) แล้วราว 371 โครงการ คิดเป็นปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่คาดว่าจะลด/กักเก็บได้ 11,504,675 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี โดยส่วนใหญ่เป็นโครงการประเภทการเพิ่มประสิทธิภาพพลังงาน การพัฒนาพลังงานทดแทน และพลังงานทดแทนจากการจัดการของเสีย ตามลำดับ
ขณะที่มีโครงการที่ได้รับการรับรองปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลด/กักเก็บได้ หรือคาร์บอนเครดิต รวมทั้งหมด 157 โครงการ (จำนวน 310 ครั้ง) คิดเป็นมีปริมาณคาร์บอนเครดิตที่ได้รับการรับรอง 16,961,670 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า และยังอยู่ระหว่างการตรวจสอบหรือรอการรับรองคาร์บอนเครดิตอีก 214 โครงการ และสิ้นสุดโครงการการรับรองแล้ว 35 โครงการ
ทั้งนี้ ในจำนวนโครงการที่ได้รับการรับรองคาร์บอนเครดิตดังกล่าว มีปริมาณคาร์บอนเครดิตที่ถูกชดเชยแล้วราว 1.67 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ส่งผลให้มีปริมาณคาร์บอนเครดิตที่เหลืออยู่ในตลาดราว 15.29 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า
อบก.รายงานอีกว่า นับตั้งแต่ปีงบประมาณ 2559 จนถึงปัจจุบัน มีการซื้อขายคาร์บอนเครดิตแล้วราว 3.13 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า คิดเป็นมูลค่าราว 283.31 ล้านบาท โดยราคาเฉลี่ยซื้อขายคาร์บอนเครดิตในช่วงไตรมาสแรกปีงบประมาณ 2567 ได้ปรับตัวขึ้นมาอยู่ที่ 193.12 บาทต่อตัน ส่วนใหญ่ซื้อขายอยู่ในกลุ่มการพัฒนาพลังงานทดแทน เช่น การผลิตไฟฟ้าจากก๊าซชีวมวล ก๊าซชีวภาพ และป่าไม้ ซึ่งเป็นราคาเฉลี่ยเพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ 2566 จากที่เคยอยู่ที่ 79.71 บาทต่อตัน
นายเกียรติชาย ไมตรีวงษ์ ผู้อำนวยการ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. เปิดเผยว่า ตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิต หากประเมินการซื้อขายในช่วงปีงบประมาณ 2566 มีปริมาณซื้อขายอยู่ที่ 857,102 ตัน8าร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า มีมูลค่าราว 68.32 ล้านบาท
ขณะที่การซื้อขายช่วงไตรมาสแรกปีงบประมาณ 2567 มีปริมาณซื้อขายราว 336,433 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า คิดเป็นมูลค่าราว 64.89 ล้านบาท
ทั้งนี้ อาจจะมองว่าจะมีปริมาณและมูลค่าที่ต่ำเมื่อเทียบกับปีงบประมาณ 2565 มีปริมาณการซื้อขายราว 1.18 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า คิดเป็นมูลค่าราว 128.48 ล้านบาท แต่ในความเป็นจริงกลไกตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิตเริ่มทำงาน คาร์บอนเครดิตที่มีอยู่ในตลาดเริ่มเป็นของหายาก เพราะทุกองค์กรหรือหน่วยงานที่มาขอรับรองคาร์บอนเครดิต จะเก็บไว้เพื่อชดเชยการปล่อยคาร์บอนขององค์กรหรือหน่วยงานตัวเอง ขณะเดียวกันราคาซื้อขายมีมูลค่าต่อตันสูงขึ้นมาก เมื่อเทียบกับแต่ก่อน บางหน่วยงานไม่นำออกมาขาย เพื่อรอให้ราคาดีจนเป็นที่น่าพอใจ เหมือนกับการเล่นหุ้น ดังนั้น เมื่อกลไกตลาดคาร์บอนเครดิตทำงาน จะส่งผลให้ราคาซื้อขายคาร์บอนเครดิตจากนี้ไปมีแนวโน้มปรับตัวสูงมากยิ่งขึ้น เพราะเป็นที่ต้องการของตลาด
นายนที สิทธิประศาสตร์ กรรมการและเลขานุการ สถาบันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือ FTI CCI กล่าวว่า การซื้อขายคาร์บอนเครดิต ใน แพลตฟอร์ม FTIX ที่ดูแลโดยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) หรือ FTI CCI ว่า ยังมีเรื่องที่เป็นอุปสรรคทำให้การซื้อขายคาร์บอนเครดิตไม่คล่องตัว ระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย ในการจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่ม ที่ต้องจัดส่งใบกำกับภาษีในทุกครั้งที่มีการซื้อขาย
ขณะที่การซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ทางกระทรวงการคลังไม่มีการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มโดยพิจารณายกเว้นให้นับตั้งแต่ที่มีการเปิดให้มีการซื้อขายกันในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งทางสถาบันกำลังมีการยื่นเรื่องร้องขอให้การซื้อขายคาร์บอนเครดิตได้รับการยกเว้นภาษีเช่นเดียวกัน เพื่อส่งเสริมให้ธุรกิจมีแรงจูงใจในการปรับลดการปล่อยคาร์บอนและมีการซื้อขายคาร์บอนเครดิตกันมากขึ้น
นอกจากนี้สถาบันฯ จะขอให้กรมสรรพากรพิจารณาเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้กับฝั่งผู้ขายคาร์บอนเครดิตจากเดิมที่ไม่ต้องเสียภาษีในกำไรจากการขาย 3 รอบภาษีต่อเนื่อง ขยายเป็น 5 ปี โดยไม่ต้องนับต่อเนื่อง ที่อาจจะเป็นปีเว้นปีกในขณะที่ฝั่งของผู้ซื้อที่ยังไม่ได้รับสิทธิประโยชน์รัฐควรจะพิจารณาให้ได้รับการนำรายจ่ายมาลดหย่อนภาษีในลักษณะเดียวกับการทำบุญบริจาค เพื่อกระตุ้นการซื้อขายคาร์บอนเครดิต ทั้งฝั่งดีมานด์และซัพพลาย