นายแพทย์สัญชัย ชาสมบัติ ผู้อำนวยการองค์การสุรา เปิดเผยถึงแนวทางการเพิ่มมูลค่าเอทานอล ด้วยการใช้เทคโนโลยีการผลิตเชื้อเพลิงที่ยั่งยืน Sustainable Aviation Fuel (SAF) และการใช้เทคโนโลยีการผลิตเอทานอลจากเซลลูโลส ว่า องค์การสุรา ได้มุ่งเน้นการสร้างความเข้มแข็งขององค์กรอย่างยั่งยืน
โดยเล็งเห็นถึงการเพิ่มมูลค่าสินค้าการเกษตร การสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียน ซึ่งเป็นเอทานอลที่ผลิตจากวัตถุดิบหลักประเภทไฟเบอร์และวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เช่น ฟางข้าว ซังข้าวโพด กากอ้อย ทลายปาล์ม เป็นต้น
ซึ่งได้ตั้งเป้าการเป็นผู้นำของอุตสาหกรรมด้านนี้ โดยเฉพาะการเป็นผู้นำเทคโนโลยี ที่ใช้ในการผลิตที่สามารถลดต้นทุน และเพิ่มมูลค่าให้แก่ภาคการเกษตร
แม้ว่าหลายคนเข้าใจว่า องค์การสุรา ยังเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายสุรา แต่ในความเป็นจริงแล้ว องค์การสุรา ได้ยุติบทบาทการผลิตและจำหน่ายสุรา ไปตั้งแต่ปี พ.ศ.2543 ภายหลังจากที่ มติคณะรัฐมนตรีเปิดให้ภาคเอกชนเข้ามาดำเนินการผลิตและจำหน่ายสุรา
ทำให้เหลือเพียงการผลิตเอทิลแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ หรือที่เรียกว่า "สุราสามทับ ทับ" ซึ่งเป็นสุราชนิดกลั่นประเภทหนึ่งที่มีความเข้มข้นของแอลกอฮอล์ ตั้งแต่ 80 ดีกรีขึ้นไป
และเป็นไปตามกฎหมาย ที่อนุญาตให้องค์การสุราเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ในประเทศได้เพียงรายเดียว
โดย "องค์การสุราได้ทำการพัฒนาและยกระดับไปอีกขั้น เพื่อสู่มาตรฐาน PIC/S หรือ Pharmaceutical Inspection Co-operation Scheme คนในวงการเรียกว่า GMP ยา เป็นมาตรฐานระดับโลก และใช้เป็นสารตั้งต้นสำหรับผลิตยา
ซึ่งขณะนี้องค์การสุราได้ยื่นเรื่องให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ไปแล้ว ขั้นตอนอยู่ระหว่างการตรวจแบบแปลนของโรงงาน ซึ่งมีทั้งห้อง Clean room โรงงานบรรจุใช้ AI" นายแพทย์สัญชัย กล่าว
ในปัจจุบัน องค์การสุรา กรมสรรพสามิต มีการดำเนินงานที่สอดคล้องตามภารกิจในการเป็นผู้นำอุตสาหกรรมเอทิลแอลกอฮอล์และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องที่มุ่งสู่การสร้างมูลค่าให้กับสังคมเพื่อความยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม