นายเอกสิทธิ์ ลัคนานิธิพันธุ์ ผู้อำนวยการฝ่ายธุรกิจและพัฒนาธุรกิจคาร์บอนต่ำ กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย (Dow) เปิดเผยว่า บริษัทได้นำเสนอนวัตกรรมเม็ดพลาสติกโพลิเอทิลีนที่ผลิตจากขยะพลาสติกโดยกระบวนการรีไซเคิลขั้นสูง
โดยมีจุดเด่นด้วยการนำขยะพลาสติกที่มีข้อจำกัดในการนำกลับมาใช้ใหม่มาผลิตเป็นน้ำมันไพโรไลซิส (Pyrolysis Oil) และผ่านกระบวนการทำเป็นสารตั้งต้นเพื่อผลิตเม็ดพลาสติกต่อไป ตั้งเป้าขับเคลื่อนความร่วมมือด้านรีไซเคิลขั้นสูงในไทยและภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก สร้างทางเลือกให้ลูกค้าเพื่อบรรลุเป้าหมายความยั่งยืน
สำหรับเม็ดพลาสติกจากขยะผ่านกระบวนการรีไซเคิลขั้นสูง หรือที่เรียกว่า Circular PE ของ Dow มีคุณสมบัติ และประสิทธิภาพเทียบเท่าเม็ดพลาสติกที่ผลิตใหม่จากน้ำมันปิโตรเลียม สามารถนำไปใช้แทนพลาสติกใหม่ทั้งหมด หรือผสมกับพลาสติกใหม่เพื่อให้ได้ส่วนประกอบจากวัสดุรีไซเคิลตามต้องการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสามารถใช้ได้ในผลิตภัณฑ์ที่สัมผัสอาหารโดยตรง
นวัตกรรมเม็ดพลาสติก Circular PE นี้ ผ่านมาตรฐานด้านคุณภาพและความคงที่ในการใช้งานที่เข้มงวดและต้องการความสะอาดสูง เช่น อาหาร ยา และ ผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ โดยนำไปผลิตเป็นบรรจุภัณฑ์ต่างๆ เช่น ถุงรีฟิล ถุงใส่อาหารและของเหลว ถุงข้าวสาร และ บรรจุภัณฑ์อื่นๆ อีกมากมาย
กระบวนการรีไซเคิลขั้นสูง หรือ Advanced Recycling สามารถเปลี่ยนขยะพลาสติกที่มีข้อจำกัดในการนำกลับมาใช้ใหม่ หรือ รีไซเคิลยาก ให้กลายเป็นวัตถุดิบสำหรับการผลิตเม็ดพลาสติกโพลิเอทิลีนเกรดบริสุทธิ์ ทดแทนการใช้วัตถุดิบจากน้ำมันฟอสซิล ช่วยลดขยะ และ ส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียนของพลาสติกใช้แล้ว
อย่างไรก็ดี จากความร่วมมือตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำเพื่อใช้ประโยชน์จากวัตถุดิบหมุนเวียน ทำให้บริษัทฯ ไปถึงเป้าหมายที่สำคัญ โดยเป็นโรงงานผลิตแห่งแรกของ Dow ในภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิก ที่ได้รับการรับรองด้านความยั่งยืน International Sustainability and Carbon Certification (ISCC) ในระดับ ISCC PLUS
การนำเสนอนวัตกรรมเม็ดพลาสติก Circular PE ของ Dow และการพัฒนาขีดความสามารถด้านรีไซเคิลขั้นสูงในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก สอดคล้องกับการประกาศความร่วมมือกับบริษัท มูรา เทคโนโลยี (Mura Technology) ในการสร้างโรงงานรีไซเคิลขั้นสูงที่ใหญ่ที่สุดในยุโรปที่เมืองโบเลิน ประเทศเยอรมนี
"การดำเนินการดังกล่าวเป็นไปตามเป้าหมายด้านความยั่งยืนของ Dow ที่มุ่งจะเปลี่ยนขยะพลาสติก และวัตถุดิบทางเลือกรูปแบบอื่นมาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถนำกลับมาหมุนเวียนใช้ใหม่ ให้ได้ 3 ล้านตันต่อปีภายในปี 2573"
นายบัมบัง จันดรา รองประธานฝ่ายธุรกิจภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ธุรกิจบรรจุภัณฑ์และพลาสติกชนิดพิเศษของ Dow กล่าวว่า พลาสติกที่รีไซเคิลยากมักถูกทิ้งลงหลุมฝังกลบอย่างไร้ค่า ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วยังสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ โดยนวัตกรรมดังกล่าวไม่เพียงช่วยให้พันธมิตรของเราบรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืน แต่ยังช่วยแก้ปัญหาขยะพลาสติกได้ในปริมาณมาก
"หลังจากทดลองผลิต และจำหน่ายเชิงพาณิชย์ในปี 2566 Dow กำลังพิจารณาขยายกำลังการผลิตด้วยกระบวนการรีไซเคิลขั้นสูง เพื่อรองรับลูกค้าทั้งในประเทศไทย และทั่วโลก"