KEY
POINTS
ชีวิตของเราเกือบทุกคน อยู่กับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เช่น โทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต สายชาร์จ พาวเวอร์แบงก์ หูฟัง แต่เมื่อเสื่อมสภาพ หรือมีรุ่นใหม่ออกมา หลายคนไม่สามารถนำไปกำจัดได้อย่างถูกวิธี นี่คือ จุดเริ่มต้นการสร้างขยะอิเล็กทรอนิกส์
เเละด้วยเทคโนโลยีเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ทำให้ขยะอิเล็กทรอนิกส์ทั่วโลกในแต่ละปีเพิ่มสูงขึ้น ก่อนหน้านี้มีการคาดการณ์จาก World Economic Forum ว่า ในแต่ละปีมีซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ 50 ล้านตัน และอาจเพิ่มขึ้นเป็น 120 ล้านตัน ในปี 2593
สำหรับขยะอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศไทย ก็น่าเป็นห่วงมีแนวโน้มสูงขึ้นทุกปี ถ้าไม่กำจัดอย่างถูกวิธี ภายใน 5-10 ปี ประเทศไทยอาจเดินทางเข้าสู่ "วิกฤติขยะอิเล็กทรอนิกส์" ล้นเมือง
เฉพาะเมื่อ 2 ปีที่แล้ว มีขยะอิเล็กทรอนิกส์เกิดขึ้น ถึง 439,500 ตัน แม้ว่าตามกฎกระทรวงการจัดการมูลฝอยที่เป็นพิษหรืออันตรายจากชุมชน กำหนดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรับผิดชอบเก็บหรือกำจัดขยะเหล่านี้
แต่ขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่มีมูลค่า ไม่ว่าจะเป็น ตู้เย็น โทรทัศน์ และเครื่องปรับอากาศ ก็ยังถูกขายให้กับรถเร่ หรือร้านรับซื้อของเก่า เข้าสู่กระบวนการถอดแยกซากผลิตภัณฑ์ฯ ไม่ถูกต้อง ซ่อมขายเป็นสินค้ามือสองบ้าง หรือแยกวัสดุมีค่า อย่างพลาสติก โลหะไปขายให้โรงงานรีไซเคิลทั้งในและต่างประเทศ
การถอดแยกที่ไม่ถูกต้องมีโอกาสทำให้สารอันตรายเข้าสู่ร่างกายของผู้คัดแยก ประชาชนโดยรอบพื้นที่ โดยเฉพาะ "เด็กเล็ก"
องค์การอนามัยโลก (WHO) เคยออกรายงานเกี่ยวกับผลกระทบของขยะอิเล็กทรอนิกส์ต่อสุขภาพเด็ก "Children and Digital Dumpsites" และเรียกร้องให้มีการดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพและมีข้อผูกมัดมากขึ้น เพื่อปกป้องดูแลเด็ก วัยรุ่น และสตรีมีครรภ์หลายล้านคนทั่วโลกจากภัยคุมคามด้านสุขภาพที่เกิดขึ้นเนื่องจากกระบวนการจัดการขยะอุปกรณ์ไฟฟ้าหรืออิเล็กทรอนิกส์ที่ไม่ได้มาตรฐาน
ส่วนเศษซากที่เหลือจากการถอดแยก ก็ถูกนำไปเทกองหรือฝังง่าย ๆ ในที่พื้นที่เอกชน พื้นที่สาธารณะหรือบ่อขยะท้องถิ่น ต้องจัดสรรงบประมาณจัดการของเสียอันตรายเหล่านี้ มีค่าใช้จ่ายประมาณตันละ 10,000 – 15,000 บาท
มีการประเมินว่าในปี 2565 เศษซากที่เหลือจากการถอดแยก ประมาณ 43,950 ตัน ใช้งบประมาณกว่า 400-600 ล้านบาท เพื่อจัดการให้ถูกต้องด้วยการฝังกลบอย่างปลอดภัยอย่างการฝังกลบ หรือเตาเผา และเนื่องจากโรงงานกําจัดของเสียอันตราย ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ภาคกลางและภาคตะวันออก ทำให้การขนส่งมีค่าใช้จ่ายสูง ท้องถิ่นต้องแบกรับค่าใช้จ่ายโดยไม่มีงบประมาณสนับสนุน
องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแต่ละแห่งอาจมีความพร้อมและศักยภาพแตกต่างกัน รวมทั้งขาดการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ในพื้นที่ ทําให้ประชาชนยังไม่ตระหนัก หรือไม่รู้ว่ามีจุดทิ้งของเสียอันตรายในพื้นที่ รวมทั้งไม่มีการเก็บของเสียอันตรายชุมชนตามจุดทิ้งที่ครอบคลุมทุกพื้นที่
นอกจากนี้ยังไม่มีกฎหมายเฉพาะสําหรับการจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่จะกำหนดวิธีการจัดการซากผลิตภัณฑ์ของผู้บริโภคว่าต้องดำเนินการอย่างไร ผู้บริโภคคุ้นชินกับความสะดวกและการได้รับผลประโยชน์จากการขายซากให้กับซาเล้ง รถเร่ หรือร้านรับซื้อของเก่า เช่น โทรทัศน์ ประมาณ 50 – 100 บาท ตู้เย็นประมาณ 500 บาท เครื่องปรับอากาศ ประมาณ 1,000 บาท จึงไม่ได้นำซากผลิตภัณฑ์ฯ ไปทิ้งที่จุดรับขยะอิเล็กทรอนิกส์ หรือจุดทิ้งที่ถูกต้อง
ผู้ถอดแยกซากผลิตภัณฑ์ฯ หลีกเลี่ยงขออนุญาตประกอบกิจการ การถอดแยกซากเครื่องใช้ไฟฟ้าฯ ตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และเลี่ยงการจ่ายจัดการของเสียอันตรายที่เหลือจากการคัดแยกวัสดุมีค่าไปขายอีกด้วย
การแก้ปัญหา "ขยะอิเล็กทรอนิกส์" ในไทย
สำรวจแนวทางแก้ปัญหา "ขยะอิเล็กทรอนิกส์" ในต่างประเทศ
เเน่นอนว่า การจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าฯ ต้องมีระบบการจัดการที่ครบวงจร ตั้งแต่การเก็บรวบรวม การขนส่ง การถอดแยก การรีไซเคิล และการกำจัดเศษซากที่เหลือ ซึ่งในต่างประเทศได้ใช้หลักการที่เรียกว่า การขยายความรับผิดชอบที่เพิ่มขึ้นของผู้ผลิต (Extended Producer Responsibility : EPR) ซึ่งระบุให้ผู้ผลิต และผู้บริโภค ต้องรับผิดชอบ เมื่อผลิตภัณฑ์กลายเป็นซากผลิตภัณฑ์ที่ผู้ใช้ไม่ต้องการ แทนที่จะปล่อยให้เป็นหน้าที่ของรัฐบาลท้องถิ่นเช่นที่เคยเป็นมา
สวิสเซอร์แลนด์ เบลเยี่ยม อินเดีย ออสเตรเลีย เยอรมัน มีการจัดตั้งองค์กรกลาง (Producer Responsibility Organization: PRO) ให้มีหน้าที่บริหารจัดการเงินกองทุน และการจัดการซากฯโดยผู้ผลิตและผู้นำเข้ารวมตัวกันเพื่อสนับสนุนเงินกองทุนโดยประชาชนมีหน้าที่นำซากฯ ไปคืนตามจุดที่กำหนด เทศบาลและผู้ผลิตเป็นผู้เก็บรวบรวมซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าฯ
จีน ไต้หวัน มีระบบที่รัฐบาลเป็นผู้บริหารจัดการเงินกองทุน ผู้ผลิตมีหน้าที่จ่ายเงินเข้ากองทุน ประชาชนมีหน้าที่นำซากฯ ไปคืนตามจุดที่กำหนดโดยมีเทศบาลและบริษัทรีไซเคิลเป็นผู้เก็บรวบรวมซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าฯ
ญี่ปุ่น จัดการซากฯ ขนาดใหญ่ ได้แก่ เครื่องปรับอากาศ โทรทัศน์ ตู้เย็น เครื่องซักผ้า เครื่องอบผ้า โดยผู้ผลิตกำหนดจุดรับคืนซากฯ ที่ผู้บริโภคสามารถนำซากไปคืนได้ง่าย และผู้ผลิตเป็นผู้นำซากฯ ไปรีไซเคิล
ขณะที่ซากคอมพิวเตอร์ จอภาพ และแบตเตอรี่ โดยผู้บริโภคส่งกลับซาก เหล่านั้นทางไปรษณีย์ โดยผู้ผลิตเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย เเละซากฯ ขนาดเล็ก ดำเนินการโดยรัฐบาลท้องถิ่น
ทำไมรัฐควรเเทรกเเซง ?
ปัญหาที่เกิดขึ้นทำให้มีการเรียกร้องให้รัฐเข้ามาแทรกแซงเรื่องนี้ เพื่อการออกกฎหมายใหม่สำหรับจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิต และการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน
โดยให้ผู้ผลิตหรือผู้นำเข้าแต่ละราย หรือรวมกลุ่มรวบรวมซากผลิตภัณฑ์ฯ คืนจากผู้บริโภค เพื่อนำไปถอดแยกชิ้นส่วน และนำเศษวัสดุมีค่ากลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ตามหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน และกำจัดของเสียที่เหลืออย่างถูกต้อง จะช่วยส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพของประชาชน และประโยชน์สาธารณะ
ล่าสุด กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เสนอกฎหมายใหม่ ร่างพระราชบัญญัติจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูปประเทศ โดยผ่านการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้องเเละนำผลการรับฟังความคิดเห็นมาประกอบการวิเคราะห์ผลกระทบแล้ว
ภาพรวมผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมาย
ผลกระทบต่อเศรษฐกิจ
ในเชิงบวกเมื่อเริ่มระบบการจัดการซากผลิตภัณฑ์ จะทำให้วงจรการหมุนเวียนการใช้ทรัพยากร สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น การใช้งานทรัพยากรมีการใช้อย่างคุ้มค่าลดผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ และส่งผลต่อการจัดการซากผลิตภัณฑ์อื่นทุกประเภทให้ตระหนักถึงรูปแบบการจัดการซากผลิตภัณฑ์เมื่อสิ้นสุดอายุการใช้งาน
สนับสนุนและเร่งให้เกิด "อุตสาหกรรมรีไซเคิล" โลหะมีค่าและโลหะพื้นฐานอื่น โดยใช้ทรัพยากรที่คุ้มค่า เหมาะสม กระตุ้นให้ผู้ผลิตค้นคว้าวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ หรือผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
พัฒนาธุรกิจการเก็บรวบรวมรักษา การจัดเก็บหรือการขนส่ง โดยสร้างงานที่เชื่อมต่อวงจรธุรกิจระหว่างผู้ผลิต องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และผู้ประกอบการรายย่อยให้เป็นส่วนหนึ่งของศูนย์รับคืนซาก ผลิตภัณฑ์ซึ่งส่งผลดีต่อการพัฒนาประเทศ
ส่วนเชิงลบ ผู้ผลิตหรือผู้นำเข้าต้องจ่ายเงินค่าจัดการซากผลิตภัณฑ์อาจทำให้ราคาของผลิตภัณฑ์สูงขึ้น ซึ่งอาจมีการขึ้นราคาสินค้าได้ และทำให้มีการซื้อลดลง แต่ถ้าผู้ผลิตหรือผู้นำเข้าทุกรายขึ้นราคาใกล้เคียงกันและมีเหตุผลที่ยอมรับได้ว่าเกิดขึ้นจากการรับผิดชอบจัดการซากผลิตภัณฑ์นั้น ๆ น่าจะเป็นภาพลักษณ์ที่ดีในสินค้าต่อสายตาของผู้บริโภคและไม่กระบต่อยอดขาย
ซึ่งถ้าพิจารณาประโยชน์ที่ประชาชนและสังคมจะได้รับ ไม่ว่าจะเป็น "คุณภาพชีวิต" หรือ "สภาพแวดล้อมที่สะอาดปลอดภัย" ก็คุ้มค่าเมื่อเทียบกับ จำนวนเงินลงทุนที่จะต้องจ่าย
ผลกระทบต่อสังคม
เกิดผลเชิงบวกเเต่ไม่มีผลเชิงลบ เนื่องจากเมื่อระบบการจัดการซากผลิตภัณฑ์ฯ ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ ย่อมลดการทิ้งซากผลิตภัณฑ์หรือการ ปฏิบัติต่อซากผลิตภัณฑ์ที่ไม่ถูกต้อง หรือการแพร่กระจายของมลพิษสู่สาธารณะและระบบนิเวศ
ลดผลกระทบต่อสุขภาพของผู้เกี่ยวข้องด้านการจัดเก็บและการรวบรวมซากผลิตภัณฑ์ เมื่อปฏิบัติต่อซากผลิตภัณฑ์อย่างไม่ถูกวิธี
หน่วยงานภาครัฐหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีเครื่องมือในการบริหารจัดการอุตสาหกรรมเป้าหมายได้ ครบวงจรตั้งแต่การผลิต การใช้ และการกำจัด โดยให้ผู้สร้างผู้คิดเป็นผู้กำหนดวิธีจัดการได้อย่างเหมาะสมและคุ้มค่า ต่อผลิตภัณฑ์ -
ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมหรือสุขภาวะ
ป้องกันผลกระทบจากสารอันตรายจากการถอดแยก การรีไซเคิลซากเครื่องใช้ไฟฟ้าฯ และการกำจัด เศษซากที่เหลืออย่างไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ต่อสุขภาพอนามัยของประชาชนและสิ่งแวดล้อม
ประชาชนจะได้อาศัยอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี ส่งเสริมให้สังคมปรับเปลี่ยนวิธีคิด วิถีการดำรงชีวิต และวิธีการผลิต รวมทั้งการดำเนินการต่าง ๆ นำไปสู่การไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม หรือทำลายให้น้อยที่สุด เเละรู้จักคุณค่าของทรัพยากร