กรมวิชาการเกษตรจับมือ กทม.แก้ PM 2.5 ใช้จุลินทรีย์ย่อยสลาย ลดเผาตอซังข้าว

06 ก.พ. 2567 | 06:28 น.
อัปเดตล่าสุด :06 ก.พ. 2567 | 06:54 น.

กรมวิชาการเกษตร เร่งขยายนโยบาย “ธรรมนัส” นำร่องจับมือ กทม. ลุยแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ภาคเกษตร ใช้หัวเชื้อจุลินทรีย์ย่อยสลายตอซังและฟางข้าว ช่วยเกษตรกรลดการเผา เพิ่มธาตุอาหารในดิน ลดค่าปุ๋ย

รายงานข่าวจากกรมวิชาการเกษตร (6 ก.พ. 2567) นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์  อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ได้เข้าร่วมงาน Kick off ขับเคลื่อน “กิจกรรมสาธิตการใช้หัวเชื้อจุลินทรีย์ย่อยสลายวัสดุอินทรีย์ของกรมวิชาการเกษตร เพื่อย่อยสลายตอซังฟางข้าว” ซึ่งการลดการเผาตอซัง เป็นนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยในปี 2567 ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้รณรงค์ให้เกษตรกร ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ตั้งเป้าลดการเผาในพื้นที่เกษตรลงร้อยละ 50 โดยกรมวิชาการเกษตรได้ขยายนโยบาย นำร่องร่วมกับกรุงเทพมหานคร ณ แปลงนาสาธิตของกรุงเทพมหานคร แขวงทรายกองดินใต้ เขตคลองสามวา กรุงเทพมหานคร

กรมวิชาการเกษตรจับมือ กทม.แก้ PM 2.5 ใช้จุลินทรีย์ย่อยสลาย ลดเผาตอซังข้าว

 

นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์  อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เผยว่า การเผาตอซังฟางข้าว ก่อให้เกิดปัญหาหมอกควัน ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ของประชาชนเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ยังส่งผลกระทบต่อคุณสมบัติของดิน ทำให้ดินแน่นทึบ อัตราการซาบซึมน้ำต่ำ การเผาตอซังทำให้ปริมาณไนโตรเจนที่ผิวดินลดลง ความหลากหลายของจำนวนและชนิดจุลินทรีย์ลดลง การเผาตอซัง เป็นการสูญเสียธาตุอาหารที่ควรจะหมุนเวียนลงดินในพื้นที่ปลูกข้าว 

รวมทั้งการเผาตอซังหลังการเก็บเกี่ยวเป็นการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่บรรยากาศ ก่อให้เกิดสภาวะโลกร้อน อีกทั้งการเผาทำให้เกิดสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ที่ทวีความรุนแรงในช่วงเดือนธันวาคม ถึงเดือนมีนาคมของทุกปี การไม่เผาตอซังฟางข้าวในเขตกรุงเทพมหานคร จะเป็นการลดผลกระทบจากปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 และเป็นการส่งคืนธาตุอาหาร และอินทรียวัตถุลงสู่ดิน เป็นการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

กรมวิชาการเกษตรจับมือ กทม.แก้ PM 2.5 ใช้จุลินทรีย์ย่อยสลาย ลดเผาตอซังข้าว

ดังนั้นการจัดการตอซังฟางข้าวอย่างเหมาะสม จึงเป็นสิ่งที่เกษตรกร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรตระหนัก และให้ความสำคัญ กรมวิชาการเกษตรจึงได้จัดทำโครงการวิจัยการขยายผลการใช้หัวเชื้อจุลินทรีย์ย่อยสลายวัสดุอินทรีย์ของกรมวิชาการเกษตร เพื่อย่อยสลายตอซังฟางข้าวสำหรับการเตรียมดินในแปลงนาเขตชลประทานในพื้นที่รอบกรุงเทพมหานคร และเขตชลประทานอื่นที่มีปัญหาฝุ่น PM 2.5

กรมวิชาการเกษตรจับมือ กทม.แก้ PM 2.5 ใช้จุลินทรีย์ย่อยสลาย ลดเผาตอซังข้าว

ทั้งนี้ ณ แปลงนาสาธิตของนายสุรชัย  โชติอ่ำ แขวงทรายกองดิน เขตคลองสามวา กรุงเทพมหานคร ได้มีการสาธิตวิธีการใช้หัวเชื้อจุลินทรีย์ย่อยสลายวัสดุอินทรีย์ ของกรมวิชาการเกษตร มีการหว่านหัวเชื้อจุลินทรีย์โดยการเดินพ่นหว่าน อัตราหัวเชื้อจุลินทรีย์ 1.5 กิโลกรัมต่อไร่ ร่วมกับปุ๋ยยูเรียอัตรา 5 กิโลกรัมต่อไร่  เพื่อย่อยสลายตอซังและฟางข้าวภายในระยะเวลา 7 วัน

สอดรับกับการทดสอบของกรมวิชาการเกษตร ที่ใช้โดรนในการพ่นหว่านเชื้อจุลินทรีย์ อัตรา 1.5 กิโลกรัมต่อไร่ในแปลงของเกษตรกร เขตมีนบุรี กรุงเทพมหานคร จากการทดสอบพบว่า สามารถย่อยสลายตอซังและฟางเข้าภายใน 7 วัน ซึ่งเกษตรกรสามารถเตรียมแปลงปลูกข้าวได้ตามปกติ ซึ่งการไม่เผาตอซัง ไม่กระทบการเจริญเติบโตของข้าว และทำให้ผลผลิตข้าวสูงกว่าการไม่ใช้หัวเชื้อจุลินทรีย์ย่อยสลายฯ หากมีการใช้ในระยะยาวจะก่อประโยชน์สูงสุดต่อเกษตรกร 

กรมวิชาการเกษตรจับมือ กทม.แก้ PM 2.5 ใช้จุลินทรีย์ย่อยสลาย ลดเผาตอซังข้าว

กรมวิชาการเกษตรได้จัดทำแผนสาธิตการใช้หัวเชื้อจุลินทรีย์ย่อยสลายวัสดุอินทรีย์ของกรมวิชาการเกษตรย่อยสลายตอซังฟางข้าวสำหรับเตรียมดินในแปลงนาเขตชลประทานในพื้นที่เขตหนองจอก คลองสามวา และลาดกระบังของกรุงเทพมหานคร และได้ผลิตขยายหัวเชื้อจุลินทรีย์ย่อยสลายวัสดุอินทรีย์ของกรมวิชาการเกษตรจำนวน 20 ตัน เพื่อจำหน่ายให้แก่เกษตรกร กลุ่มเกษตรกรปลูกข้าว รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเกษตรกรผู้ปลูกข้าวได้นำหัวเชื้อจุลินทรีย์ฯ ไปใช้เพื่อร่วมกันลดการเผาฟางซึ่งเป็นแนวทางในการแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 ภาคการเกษตร และยังสามารถเพิ่มอินทรียวัตถุในดิน ทำให้ดินมีความอุดมสมบูรณ์ ซึ่งเป็นการลดค่าปุ๋ยให้พี่น้องเกษตรกรได้อีกด้วย