ในปี พ.ศ. 2566 บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF ได้ปรับปรุงกลยุทธ์ด้านความยั่งยืนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ให้ครอบคลุมความมุ่งมั่นระยะยาวที่จะลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขอบเขตที่ 1 และขอบเขตที่ 2 สุทธิเป็นศูนย์ ( Net Zero) ภายในปี พ.ศ. 2593
บริษัทฯ ได้กำหนดเป้าหมายระยะสั้นและระยะกลางเพื่อสนับสนุนกลยุทธ์ดังกล่าวที่มุ่งลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่อหน่วยผลิตในธุรกิจผลิตไฟฟ้า ซึ่งวัดจากปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าเป็นตันต่อหนึ่งเมกะวัตต์-ชั่วโมงของการผลิตไฟฟ้า (ICO,e/MWh) ผ่านการปรับปรุงประสิทธิภาพและการเพิ่มกำลังการผลิตติดตั้งรวมของโครงการพลังงานหมุนเวียน
นอกจากนี้ บริษัทฯ มุ่งขยายการประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ครอบคลุมธุรกิจและโครงการใหม่ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ
ทั้งนี้ GULF ตั้งเป้าหมายระยะสั้นและระยะกลางที่จะลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขอบเขตที่ 1 ต่อหน่วยผลิตลง 25% ภายในปี 2573 และเป้าหมายการเพิ่มกำลังการผลิตจากพลังงานหมุนเวียนให้เป็น 40 % ของกำลังการผลิตติดตั้งรวม ภายในปี 2578 เพื่อรองรับเป้าหมายในการเพิ่มสัดส่วนกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเรียนดังกล่าว GULF ได้จัดทำแผนการลงทุนระยะ 5 ปี (2567-257) ที่คาดว่าจะใช้เงินลงทุนราว 90,000 ล้านบาท โดยในส่วนนี้มีแผนจัดสรรประมาณ 79 % หรือราว 7.11 หมื่นล้านบาท เพื่อการลงทุนในพลังงานหมุนเวียน
สิ้นปี 2566 GULF ได้เข้าไปลงทุนใน 7 ประเทศ มีกำลังการผลิตไฟฟ้าอยู่ที่ราว 23,072 เมกะวัตต์ เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์แล้ว 12,420 เมกะวัตต์ และอยู่ระหว่างการพัฒนา 10,652 เมกะวัตต์ คาดว่าจะสามารถดำเนินการครบทั้งหมดภายในปี 2576 โดยในกำลังการผลิตทั้งหมดเป็นส่วนของพลังงานหมุนเวียนคิดเป็นสัดส่วนราว 36 % หรือราว 8,212 เมกะวัตต์ และเป็นพลังงานก๊าซธรรมชาติ 64% หรือราว 14,861 เมกะวัตต์
ล่าสุด GULF ได้ต่อยอดธุรกิจพลังงานหมุนเวียน โดยบริษัท กัลฟ์ เวสท์ทู เอ็นเนอร์จี โฮลดิ้งส์ จำกัด (GWTE) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ GULF ถือหุ้น 100% ได้เข้าถือหุ้นในบริษัท เอิร์ธ เท็ค เอนไวรอนเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ ETC สัดส่วน 50% เพื่อลงทุนในบริษัท เก็ท กรีน พาวเวอร์ จำกัด (GGP) ซึ่งเป็นผู้พัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรม 10 โครงการ รวมกำลังผลิต 80 เมกะวัตต์ และการเข้าถือหุ้นระหว่าง ETC กับ GWTE และบริษัท เวสท์เทค เอ็กซ์โพเนนเชียล จำกัด (WTX) เพื่อให้ ETC เข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นในโครงการโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรมจำนวน 2 โครงการ ภายใต้บริษัท ซันเทค อินโนเวชั่น พาวเวอร์ จำกัด (“SIP”) กำลังผลิตรวม 16 เมกะวัตต์
รวมถึง GWTE เข้าถือหุ้นอีก 50% ในบริษัท เซอร์คูลาร์ แคมป์ จำกัด (CC) ผู้พัฒนาโครงการโรงงานผลิตเชื้อเพลิงจากขยะอุตสาหกรรม(SRF) จำนวน 3 โครงการ ร่วมกับบริษัท เบตเตอร์ เวิลด์ กรีน จำกัด (มหาชน) หรือ BWG ในสัดส่วนถือหุ้น 50 % เช่นกัน เพื่อจำหน่ายเชื้อเพลิงจากขยะอุตสาหกรรม(SRF) ให้กับโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรมทั้ง 12 โครงการ
นางสาวยุพาพิน วังวิวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงิน บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF กล่าวว่า การร่วมทุนกับ BWG และ ETC จะร่วมกันพัฒนาโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรม และโรงงานแปรรูปขยะอุตสาหกรรมเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับการผลิตไฟฟ้า (SRF) แบบครบวงจร ซึ่งเป็นการต่อยอดทั้งในด้านพลังงาน อุตสาหกรรม สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจอย่างครบถ้วน
ทั้งนี้ โครงการโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรม 10 โครงการ เป็นโรงไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) กำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัญญาจำนวน 8 เมกะวัตต์ต่อโครงการ รวมกำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัญญาทั้งสิ้น 80 เมกะวัตต์ มีมูลค่าโครงการรวมราว 15,000 ล้านบาท กำหนดเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ในปี 2569 ซึ่งเป็นส่วนการลทุนของ GULF ราว 7,500 ล้านบาท
ขณะที่โรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรมทั้ง 2 โครงการ มีกำลังผลิตโครงการละ 8 เมกะวัตต์ รวมกำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัญญา 16 เมกะวัตต์ มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับ กฟภ. เป็นระยะเวลา 20 ปี โครงการมีมูลค่ารวม 3,200 ล้านบาท กำหนดเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ในปี 2569 โดย GULF จะลงทุนตามสัดส่วนราว 34% หรือประมาณ 1 พันล้านบาท
ส่วนโครงการโรงงานผลิตเชื้อเพลิงจากขยะอุตสาหกรรม (SRF) จำนวน 3 โครงการ ในสัดส่วนการถือหุ้น 50:50 เช่นกัน มูลค่าโครงการรวม 2,600 ล้านบาท เพื่อจำหน่ายเชื้อเพลิงจากขยะอุตสาหกรรม (SRF) ให้กับโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรมทั้ง 12 โครงการ ซึ่ง GULF จะลงทุนในโครงการนี้ราว 1,300 ล้านบาท
ทั้งนี้ การดำเนินธุรกิจด้านโรงงานผลิตเชื้อเพลิงจากขยะอุตสาหกรรม และโครงการโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรม ถือเป็นการสร้างโอกาสการเติบโตของเศรษฐกิจหมุนเวียนตามนโยบายภาครัฐ Bio-Circular-Green Economy (BCG) โดยการนำขยะอุตสาหกรรมมาแปรรูปเพื่อเป็นพลังงาน จะช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อลดปริมาณของเสียได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงสอดรับกับนโยบายของภาครัฐที่มุ่งหวังให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนในด้านพลังงานสีเขียว และลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมในระยะยาว