thansettakij
แผนพีดีพีใหม่ ดันพลังงานลม 10,000 เมกะวัตต์ หนุน Net Zero
zero-carbon

แผนพีดีพีใหม่ ดันพลังงานลม 10,000 เมกะวัตต์ หนุน Net Zero

    สมาคมพลังงานลม ลุ้นแผนพีดีพีใหม่ 2024 บรรจุสัดส่วนผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลม 10,000 เมกะวัตต์ หวังช่วยเพิ่มไฟฟ้าสีเขียว Zero ดึงนักลงทุนเพิ่มขีดการแข่งขัน สนับสนุนประเทศบรรลุเป้าหมาย Net Zero พร้อมจี้รัฐเริ่มศึกษาศักยภาพพลังงานลมในทะเล

การจัดทำร่างแผนพลังงานชาติ หรือ National Energy Plan (NEP) ที่จะกำหนดแนวนโยบายและทิศทางภาคพลังงานของประเทศ ที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เห็นชอบกรอบไปเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2564 กำลังใกล้จะแล้วเสร็จ โดยจะมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนภายในไตรมาสแรกของปี 2567 ซึ่งหนึ่งในแผนที่มีการจับตาในการกำหนดสัดส่วนการจัดหาพลังงานหรือไฟฟ้า คงหนีไม่พ้นการจัดทำแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ หรือ PDP 2024-2037 ที่จะกำหนดสัดส่วนและปริมาณการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่เป็นพลังงานสะอาดออกมา โดยเฉพาะการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลม ที่ประเทศยังมีศักยภาพในการพัฒนาอีกมาก

แผนพีดีพีใหม่ ดันพลังงานลม 10,000 เมกะวัตต์ หนุน Net Zero

นายวัชรพงศ์ เข็มแก้ว รองประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียนด้านพลังงานลม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในฐานะนายกสมาคมพลังงานลม เปิดเผยว่า ขณะนี้ทางสมาคมฯอยู่ระหว่างการติดตามร่างแผนพีดีพีฉบับใหม่ว่าจะมีการกำหนดสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมบรรจุอยู่ในแผนพีดีพีในปริมาณที่เท่าใด หลังจากที่ผ่านมาทราบว่าบรรจุอยู่ในปริมาณ 10,000 เมกะวัตต์ หากเป็นไปตามนี้เท่ากับว่าตลอดแผนพีดีพีประเทศจะมีการผลิตไฟฟ้ารวมอยู่ที่ราว 13,000 เมกะวัตต์ โดยกำลังผลิต 1,500 เมกะวัตต์ ได้มีการติดตั้งและจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบแล้ว ส่วนอีก 1,500 เมกะวัตต์ อยู่ขั้นตอนการพิจารณาของศาลปกครองกลาง หลังมีคำสั่งระงับการรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) จำนวน 22 ราย ในกลุ่มพลังงานลมเป็นการชั่วคราว

ทั้งนี้ ในการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลม เป็นพลังงานสะอาดที่ไม่มีต้นทุนค่าเชื้อเพลิง ซึ่งจะมีส่วนช่วยสนับสนุนประเทศบรรลุปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี ค.ศ.2065 และยังช่วยรับมือกับมาตรการกีดกันทางการค้าของโลก ที่แต่ละประเทศจะทยอยออกมาตรการให้สินค้าประเภทต่างๆ ต้องลดการปล่อยคาร์บอนฯตั้งแต่ต้นทางการผลิต และช่วยเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ ในการดึงดูดนักลงทุนที่ต้องการไฟฟ้าสีเขียว

ขณะที่ไทยเองมีศักยภาพพลังงานลมถึงประมาณ 13,000-17,000 เมกะวัตต์ กระจายอยู่ตามภูมิภาคต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นภาคกลาง พลังงานลมสูง เพราะภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นที่ราบสลับกับภูเขา มีศักยภาพถึง ประมาณ 5,000 เมกะวัตต์ ปัจจุบันได้มีการติดตั้งแล้ว 1,400 เมกะวัตต์ อีกทั้ง ภาคตะวันตกเฉียงเหนือ มีศักยภาพพลังงานลมสูง แต่ส่วนใหญ่อยู่บนพื้นที่ภูเขาผลิตไฟฟ้าได้ราว 1,000 เมกะวัตต์

ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีศักยภาพพลังงานลมปานกลางไปจนถึงสูง ลักษณะภูมิประเทศเป็นที่ราบสูงมีศักยภาพผลิตไฟฟ้าได้ราว 5,000 เมกะวัตต์ ภาคกลางตอนล่าง พลังงานลมปานกลางไปจนถึงสูง ลักษณะภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นที่ราบลุ่มมีค่อนข้างจำกัดมีศักยภาพผลิตไฟฟ้าได้ราว 3,000 เมกะวัตต์ และภาคใต้ พลังงานลมตํ่าไปจนถึงสูงแต่ส่วนใหญ่อยู่บนภูเขาสูง มีศักยภาพผลิตไฟฟ้าได้ราว 2,000 เมกะวัตต์ ปัจจุบันได้มีการติดตั้งต่ายไฟฟ้าเข้าระบบแล้ว 146 เมกะวัตต์

อีกทั้ง ปัจจุบันต้นทุนการผลิตสามารถแข่งขันกับเชื้อเพลิงฟอสซิลได้ในระดับ 3 บาทต่อหน่วย ซึ่งราคาไฟฟ้าจากพลังงานลมผันแปรกับปริมาณการรับซื้อ หากปริมาณการรับซื้อมากขึ้น จะทำให้ราคาไฟฟ้าลดตํ่าลงได้อีกด้วย โดยต้นทุนโครงการจะอยู่ระหว่าง 43-53 ล้านบาทต่อเมกะวัตต์ ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขและปัจจัยต่าง ๆ ของแต่ละโครงการ ขณะที่ค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการและการซ่อมบำรุงกังหันลมปีที่ 1-10 จะมีค่าใช้จ่ายประมาณ 0.65 ล้านบาทต่อต้นต่อปี และ 1 ล้านบาทต่อต้นต่อปี จากปีที่ 11 เป็นต้นไป

ทั้งนี้ จากการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมที่เกิดขึ้น จะช่วยสร้างประโยชน์ต่อเศรษฐกิจของประเทศ โดยพลังงานลมที่จะพัฒนาขึ้นอีก 1,500 เมกะวัตต์ จะก่อให้เกิดการลงทุนราว 65,000-80,000 ล้านบาท และเป็นโอกาสที่จะสร้างอุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วนและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับกังหันลมในประเทศไทย (Local Content)

ขณะเดียวกันจะทำให้เกิดการจ้างงานหลายพันตำแหน่ง ทั้งการจ้างงานทั้งทางตรงและทางอ้อม และยังก่อให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่นอย่างยั่งยืน อาทิ โครงการกําลังผลิตติดตั้ง 90 เมกะวัตต์ อาจมีเม็ดเงินลงไปที่ชุมชนของโครงการประมาณ 26 ล้านบาทต่อปี รวมเกษตรกรที่ได้รับประโยชน์เงินสนับสนุนจากโครงการประมาณ 350 ครัวเรือน เป็นต้น

อย่างไรก็ตามการสร้างอุตสาหกรรมพลังงานลมต้องได้รับการสนับสนุนทางด้านนโยบายจากภาครัฐ ในการเพิ่มโควต้าการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานลม เพื่อให้ผู้ลงทุนสามารถเริ่มดำเนินธุรกิจได้ เห็นได้จากการเสนอขายไฟฟ้าจากพลังงานลม 1,500 เมกะวัตต์ รอบล่าสุดที่ผ่านมา มีผู้สนใจเป็นจำนวนมากที่จะลงทุนถึง 5,000 เมกะวัตต์ เกินกว่าที่รัฐจะรับซื้อได้ถึง 3,500 เมกะวัตต์

นายวัชรพงศ์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ พลังงานลมของประเทศยังมีศักยภาพอีกมาก โดยเฉพาะพลังงานลมในทะเล ซึ่งภาครัฐควรจะเร่งศึกษาหรือเตรียมการไว้สำหรับการเพิ่มศักยภาพพลังงานลมในอนาคตเอาไว้สำหรับเป็นทางเลือก เนื่องจากปัจจุบันมีเทคโนโลยีและหลายประเทศได้มีการติดตั้งจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบแล้ว ขณะที่ผ่านมาของไทยยังไม่มีการศึกษาเรื่องนี้ ดังนั้น จำเป็นต้องเริ่มศึกษา เพราะมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องต้องแก้ไขถึง 12 ฉบับ ในการเข้าไปใช้พื้นที่ศึกษาศัยภาพลมในทะเล