ทำให้หลายฝ่ายมีความกังวลว่าปริมาณไฟฟ้าที่มีอยู่จะเพียงพอต่อความต้องการใช้หรือไม่ และมีโอกาสจะเกิดไฟฟ้าดับเป็นวงกว้างเหมือนที่เคยเกิดขึ้นที่ประเทศเวียดนามเมื่อหน้าร้อนปีที่แล้ว หรือมีโอกาสเกิดไฟฟ้าตก ไฟฟ้าดับได้มากน้อยแค่ไหน จากการใช้เครื่องปรับอากาศ พัดลม ตู้เย็น ที่เพิ่มขึ้น หรือให้เข้าใจง่าย ๆ ความมั่นคงของระบบไฟฟ้าของประเทศไทยมีมากน้อยแค่ไหนในช่วงหน้าร้อนนี้
ทั้งนี้ หากมาดูตัวเลขกำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศที่ปัจจุบันอยู่ที่ 53,852 เมกะวัตต์ ซึ่งถือว่าปริมาณมากพอที่จะรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าของประชาชนและภาคอุตสาหกรรม แม้ปีนี้ได้เกิดความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (พีค) ครั้งแรกเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2567 ไปแล้วช่วงเวลา 19.29 น.อยู่ที่ 30,989.3 เมกะวัตต์ แต่ก็ถือว่ายังเหลือปริมาณสำรองไฟฟ้าที่ทำให้ทุกคนสบายใจได้
ส่วนเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2566 ได้เกิดไฟฟ้าพีคทำสถิติสูงสุดเอาไว้ที่ 34,826.5 เมกะวัตต์ ในช่วงเวลา 21.41 น. ซึ่งเป็นช่วงที่มีการใช้ปริมาณไฟฟ้าเป็นจำนวนมาก แต่ระบบไฟฟ้าของประเทศไทยยังมีเสถียรภาพไม่เกิดไฟตก ไฟดับแต่อย่างใด เพราะมีปริมาณสำรองไฟฟ้าอยู่กว่า 30% ถือเป็นจุดเด่นของไทยและความได้เปรียบด้านความมั่นคงไฟฟ้า
หากเปรียบเทียบความมั่นคงไฟฟ้าระหว่างไทยกับเวียดนาม ที่ไฟฟ้ามีราคาถูกแต่ไทยจะได้เปรียบจากปริมาณสำรองไฟฟ้าที่มีมากกว่า เนื่องจากเวียดนามพึ่งพาเชื้อเพลิงจากถ่านหินและพลังนํ้าขนาดใหญ่มาผลิตไฟฟ้าคิดเป็น 38% และ 30% ของปริมาณการผลิตรวม ตามลำดับ แต่การก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินมีความล่าช้า ส่วนพลังงานหมุนเวียนจากนํ้าก็มีนํ้าไม่พอในช่วงหน้าแล้ง ทำให้มีปัญหาขาดแคลนพลังงานไฟฟ้าในช่วงหน้าร้อน ที่ปริมาณการใช้ไฟฟ้าพุ่งสูงสวนทางกับขีดความสามารถของระบบไฟฟ้าในช่วงเวลานั้น
ส่วนของไทย การที่มีปริมาณสำรองไฟฟ้าที่เพียงพอ เกิดจากการกระจายความเสี่ยงในการจัดหาเชื้อเพลิงมาผลิตไฟฟ้า โดยได้บริหารจัดการนำเชื้อเพลิงหลักมาผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติในประเทศมีสัดส่วนประมาณ 58% นำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ประมาณ 15% ถ่านหินและลิกไนต์ประมาณ 14% พลังงานหมุนเวียน ประมาณ 10% และพลังนํ้าจาก สปป. ลาว ประมาณ 3% บางช่วงมีการนำปาล์มนํ้ามัน และนํ้ามันเตา นํ้ามันดีเซลเข้ามาเสริมเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้ามากขึ้นในช่วงเชื้อเพลิงในตลาดโลกมีราคาแพง ทำให้ระบบไฟฟ้าของประเทศมีความมั่นคงมากยิ่งขึ้น
ที่สำคัญการมีสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนเพื่อผลิตไฟฟ้าอยู่ที่ 10% แบ่งเป็นการผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์มากที่สุด รองลงมาจะเป็นพลังงานลม ไบโอแก๊ส และไบโอแมส ถือเป็นการหันมาใส่ใจดูแลสิ่งแวดล้อมของภาคการผลิตไฟฟ้าและเพิ่มสัดส่วนการพึ่งพาตนเองด้านพลังงาน ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นในการมุ่งสู่การผลิตไฟฟ้าสีเขียว ซึ่งตามแผนพลังงานชาติจะเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนมากกว่า 50% ในปี 2580
การมุ่งสู่ไฟฟ้าสีเขียวของไทยโดยให้ความสำคัญกับการรักษาความมั่นคงทางพลังงานนี้ ถือว่าเป็นข้อได้เปรียบในการดึงดูดนักลงทุนเมื่อเทียบประเทศในกลุ่มอาเซียนด้วยกัน โดยเฉพาะเวียดนามที่มีการพึ่งพาเชื้อเพลิงจากถ่านหินมาผลิตไฟฟ้ามากเกินไปจะทำให้การเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาดมีต้นทุนที่สูงและทำได้ยากกว่าประเทศไทย
ในปี 2568 ไทยจะเป็นประเทศแรกในกลุ่มประเทศอาเซียนที่มีไฟฟ้าสีเขียวใหม่จำหน่ายสนับสนุนภาคอุตสาหกรรม โดยจะมีไฟฟ้าสีเขียวจำนวน 4,800 เมกะวัตต์ จากการรับซื้อไฟฟ้าพลังสะอาดภายใต้โครงการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) ปี 2565-2573
แบ่งเป็นไฟฟ้าสีเขียวมาจากพลังงานแสงอาทิตย์ประมาณ 2,300 เมกะวัตต์ ,พลังงานแสงอาทิตย์บวกกับแบตเตอร์รี่ประมาณ 1,100 เมกะวัตต์ และพลังงานลม 1,400 เมกะวัตต์ ซึ่งจะช่วยลดอุปสรรคทางการค้าและการลงทุนจากมาตรการปรับคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน (Carbon Border Adjustment Mechanism : CBAM) ของสหภาพยุโรปในอนาคต
ท้ายที่สุดเป็นการตอบโจทย์การขับเคลื่อนประเทศมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี ค.ศ. 2050 หรือ พ.ศ. 2593 และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ในปี ค.ศ. 2065 หรือ พ.ศ. 2608 เพื่อลดภาวะโลกร้อนนั่นเอง